“ศุภมาส” เตรียมใช้งานวิจัยนวัตกรรมพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคอีสาน
“ศุภมาส อิศรภักดี” ลงพื้นที่ตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี ) ก่อนประชุม ครม.นอกสถานที่
เตรียมใช้งานวิจัยและนวัตกรรมต่อยอดพัฒนาศักยภาพระเบียงเศรษฐกิจภาคอีสาน รวมทั้งติดตามความคืบหน้าการลดความเหลื่อมล้ำ ขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา การยกเว้นค่าสมัคร TCAS รอบแอดมิชชั่น
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ลงพื้นที่ตรวจราชการก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 ณ พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี)
โดยได้ประชุมมอบนโยบายการทำงานด้าน อววน.พัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี ) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งด้านภูมิประเทศที่อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคอีสาน
ที่สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้ออำนวย และกระตุ้นให้เกิดการค้า การลงทุนในพื้นที่ตลอดจนมีทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี และศาสนา
ดังจะเห็นจากเป็นแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง จ.อุดรธานี แหล่งวัฒนธรรมและประเพณี เช่น เทศกาลผีตาโขน เทศกาลบั้งไฟพญานาค จ.หนองคาย งานนมัสการพระธาตุศรีสองรัก งานแสดงไม้ดอกเมืองหนาว จ. เลย เป็นต้น
จึงพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพให้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยือน เพื่อเป็นการนำรายได้เข้าสู่จังหวัด
กระทรวง อว.พร้อมให้การสนับสนุน ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการในพื้นที่ของหน่วยงานในสังกัด อว.มาบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อยอดและพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ให้โดดเด่นกว่าเดิม
“นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทยได้เน้นย้ำผลักดันให้กระทรวง อว. เป็น กระทรวงเศรษฐกิจ
ดังนั้น การมีส่วนร่วมกับพื้นที่และชุมชนจึงสำคัญเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาพร้อมกับยกระดับทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจสู่ประชาชน” รมว.กระทรวง อว.กล่าว
นอกจากนี้จะไปติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานโครงการของกระทรวง อว.เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ เช่น UDRU NEXTs และหลักสูตรการพัฒนาทักษะ upskill – reskill บัณฑิตพันธุ์ใหม่
รวมทั้งเรื่องเร่งด่วนคือ เรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ ขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งในระยะสั้นที่ต้องดำเนินการโดยทันที คือการยกเว้นค่าสมัคร TCAS รอบแอดมิชชั่นโดยเราจะเริ่มตั้งแต่ “TCAS 67” ในเดือน พ.ค.2567
นักเรียนแต่ละคนจะสามารถสมัครเลือกคณะ 1-10 อันดับได้ฟรี เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้สูงสุดคนละ 900 บาท
ซึ่งในเรื่องนี้ขอให้ให้สำนักงานปลัดกระทรวง อว.เร่งหารือแนวทางในการลดภาระค่าใช้จ่าย TCAS กับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. นางสาวศุภมาส ได้พบปะกับคณะตัวแทนนักเรียนกว่า 100 คน จากโรงเรียนใน จ.อุดรธานี โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนดังกล่าวได้เข้ามาขอบคุณนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำ ขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
โดยกระทรวง อว. ได้ยกเว้นค่าสมัคร TCAS รอบแอดมิชชั่น ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ “TCAS 67” ในเดือน พ.ค.2567 ซึ่งนักเรียนแต่ละคนจะสามารถสมัครเลือกคณะ 1-10 อันดับได้ฟรี เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้สูงสุดคนละ 900 บาท
นางสาวศุภมาสได้เปิดโอกาสให้คณะนักเรียนได้ซักถามถึงข้อสงสัยต่างๆ ด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง ซึ่งมีประเด็นคำถามสำคัญคือ กระทรวง อว.จะพิจารณาให้เปิดฟรีค่าสมัครสอบคัดเลือกในรอบอื่นๆ นอกจากรอบแอดมิชชั่นได้หรือไม่
โดยกล่าวว่า ขณะนี้กลไกที่กระทรวง อว.จะช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้เร็วที่สุดคือรอบแอดมิชชั่น เพราะ กระทรวง อว.สามารถสนับสนุนงบประมาณให้กับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการสอบ TCAS ได้โดยตรง ซึ่งก็ต้องใช้งบประมาณกว่าร้อยล้านบาท
ดังนั้น ในการสมัครอบรอบอื่นๆ ที่เป็นการจ่ายตรงกับทางมหาวิทยาลัยก็จะต้องหางบประมาณมาอุดหนุนเช่นกัน แต่ในส่วนนี้จะมีรายละเอียดหลายอย่างที่ซับซ้อนและต้องคิดให้รอบคอบ เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีความแตกต่างกัน ค่าใช้จ่ายที่ไม่เท่ากัน ซึ่งต้องขอเวลาในการพิจารณาในรายละเอียดก่อน
รมว.อว.กล่าวต่อว่า กระทรวง อว.ยังมีนโยบายเมื่อน้องๆ เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ต้องได้เรียนอย่างมีความสุขและมีรายได้ระหว่างเรียน ซึ่งเรื่องเหล่านี้กระทรวง อว.จะพยายามดูแลอย่างเต็มที่
ขณะที่ กำลังจะทำอีกเรื่องที่สำคัญ คือ การให้ทุนการศึกษา คือถ้าใครอยากเรียนต้องได้เรียน และปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัยก็มีทุนการศึกษาให้มากมาย ซึ่งในส่วนนี้ อว.ก็จะเข้าไปดูแลให้มากขึ้น เพราะอีกทางหนึ่งก็ยังเป็นการช่วยลดภาระของ กยศ. และภาระการกู้ยืมเรียนของนักศึกษาได้ด้วย
นอกจากนี้ ตัวแทนนักเรียนยังมีข้อเสนอต่างๆ ให้รมว.อว.นำไปพิจารณา อาทิ การเพิ่มจำนวนสนามสอบ TCAS ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น การแก้ปัญหาการสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่ยังมีข้อติดขัดในบางส่วน
รวมถึงอยากให้ปฏิรูประบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กได้ค้นพบความชอบหรือความถนัดของตัวเอง เป็นต้น โดยนางสาวศุภมาสจะรับไปหารือกับ ทปอ. เพื่อแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมต่อไป.