การเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลปีใหม่ ด้วยรถโดยสารประจำทาง อย่างรถทัวร์ ยังคงเป็นทางเลือก ที่ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังพบว่าความเสี่ยงที่อาจจะเกิดอันตรายระหว่างเดินทาง ยังเห็นเหตุการณ์เหตุการณ์ ล่าสุด รถทัวร์มรณะ ที่เกิดอุบัติเหตุที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีผู้เสียชีวิตมากถึง 15 คน
ศ.ดร.เกษม ชูจารุกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการศูนย์ความเป็นเลิศ Thailand Road Assessment Programme หรือ ThaiRAP หน่วยงานที่ผลักดันมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทยสู่ระดับสากล จึงมีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลปีใหม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
รวมพิกัด! สถานที่เคาท์ดาวน์ทั่วกทม. - สวดมนต์ข้ามปี เสริมมงคลรับปีใหม่ 2567
สร้างวินัยให้ตัวเอง แทนการตั้ง 'เป้าหมายปีใหม่' ทุกปี: มุมมอง ‘เกตส์’ ต่อปณิธานปีใหม่
เช็กให้ชัวร์ 3 สิ่งก่อนขึ้นรถทัวร์โดยสารกลับบ้านปีใหม่
โดยมีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางด้วยรถทัวร์โดยสาร ดังนี้
ผู้โดยสารควรเลือกรถโดยสารจากผู้ประกอบการที่มีความน่าเชื่อถือ มีมาตรฐานในการให้บริการ ภายในตัวรถจะต้องมีอุปกรณ์ความปลอดภัยครบถ้วน จดจำประตูทางออกว่าอยู่ตรงไหน จากตำแหน่งที่นั่งของตนเอง ที่สำคัญควรตรวจสอบเข็มขัดนิรภัยว่าสามารถใช้งานได้หรือไม่ และควรต้องรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง เพราะถ้าหากเกิดอุบัติเหตุชนขึ้น เข็มขัดนิรภัยจะช่วยลดการกระแทก และการบาดเจ็บได้
โดยปัจจุบันประเทศไทยมีข้อกำหนดให้รถโดยสารทุกคันต้องติดตั้ง GPS เพื่อควบคุมความเร็วของผู้ขับขี่ นอกจากนี้ ในขณะเดินทางผู้โดยสารควรสังเกตพนักงานขับรถว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงหรือไม่ เช่น มีอาการมึนเมา หาวบ่อย หรือการขับรถเร็วเกินไป
"อุปกรณ์จำเป็นที่ผู้โดยสารทุกคนควรสังเกตว่ารถคันที่เราโดยสารมีสามสิ่งนี้ครบหรือไม่ ได้แก่ ถังดับเพลิง ประตูฉุกเฉิน และค้อนทุบกระจกในตำแหน่งที่เหมาะสม เพราะถ้าหากเกิดเหตุฉุกเฉิน อุปกรณ์ทั้งสามอย่างประจำรถจะเป็นเครื่องมือจำเป็นที่จะทำให้เรามีชีวิตรอดได้"
ที่สำคัญเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน หากยังรู้สึกตัวสิ่งสำคัญคือต้องมีสติ พิจารณาสำรวจสภาพร่างกายและอาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้น พยายามออกจากตัวรถโดยสารทันที พร้อมของจำเป็น ไม่ต้องห่วงสัมภาระหรือสิ่งของอื่นๆที่อยู่ในตัวรถ ช่วยเหลือผู้โดยสารอื่นเท่าที่พอจะช่วยได้ และโทรศัพท์แจ้ง 191 หรือ 1584 หรือ 1193
การเดินทางบนท้องถนนล้วนมีความเสี่ยง ความปลอดภัยทางถนนเกิดขึ้นจากระบบที่ปลอดภัย ที่จะต้องปลอดภัยทั้งตัวรถโดยสาร พนักงานขับรถ รวมไปถึงถนนที่จะต้องมีความปลอดภัยด้วย
ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการกำกับดูแลการขนส่งสาธารณะ และการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนประชาชนผู้เดินทางควรต้องรู้เท่าทัน เลือกการเดินทางที่ปลอดภัย และรู้จักการรับมือในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน