ครั้งแรกในไทย! จุฬาฯ เปิดหลักสูตรควบ2 ปริญญา ผลิต ‘ทันตแพทย์เก่งวิศวะ ’
จุฬา ฯ เปิดหลักสูตรควบ 2 ปริญญา ทันตแพทย์-วิศวะ จบภายใน 6 ปี เดินหน้าผลิตทันตแพทย์ยุคใหม่ มีความรู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี นำไปประยุกต์ต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์ ช่วยดูแลสุขภาพช่องปากของคนไทย
Keypoint :
- หลักสูตรควบข้ามระดับข้ามศาสตร์ ผู้เรียนจะได้รับ 2 ปริญญา ได้แก่ ปริญญาตรี ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และปริญญาโทวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช ภายในเวลา 6 ปี
- ประกอบอาชีพอะไรได้หลากหลาย ทั้งทันตแพทย์นักวิชาการ นักวิจัยชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญทั้งสาขาทันตแพทยศาสตร์และวิศวกรรม ชีวเวชที่สร้างสรรค์ผลงานวิชาการ องค์ความรู้ วิจัยและนวัตกรรม หรือศึกษาต่อสาขาทันตแพทย์เฉพาะทาง
- แพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบใหม่ที่เน้นการเสริมองค์ความรู้และทักษะเฉพาะทางวิชาการ ต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้
การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่มนุษย์ให้ความสำคัญมากในชีวิต ปัจจุบันรูปแบบการศึกษาต่อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการอันหลากหลายของนักศึกษาทั่วโลก อาทิ การเกิดขึ้นของ Branch campuses (มหาวิทยาลัยชั้นนำที่ไปตั้งสาขาเพิ่มในประเทศอื่น) และ Franchises (มหาวิทยาลัยหลักผู้เป็นเจ้าของหลักสูตรให้สิทธิบัตรกับมหาวิทยาลัยพันธมิตรในอีกประเทศเป็นผู้ดำเนินการสอนหลักสูตรนั้นๆ) ก็เป็นทางเลือกที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยระบบการศึกษา ควรเปลี่ยนระบบให้เหมาะกับตัวเด็กและคนที่เรียนได้พัฒนาตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะเด็กบางคนไม่ได้มีความถนัดเพียงด้านเดียว จึงควรมีหลักสูตรที่หลากหลาย ให้ผู้เรียนนั้นโชว์ศักยภาพทางด้านที่ถนัดเพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดจะได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
CBS โชว์ต้นแบบ Sustainable Business Model
เอกชนชี้แลนด์บริดจ์ไม่ตอบโจทย์สายเรือ และการค้าไทย เหตุทำต้นทุนเพิ่ม
หลักสูตรควบข้าม 2 ปริญญา ทันตแพทย์-วิศวกรรมชีวเวช
ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดทางการแพทย์ และสาธารณสุข มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดูแล รักษาทางการแพทย์จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น AI ปัญญาประดิษฐ์ , 3D Printing หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ ที่มักจะอยู่ในโครงการสาธารณสุขจำนวนมาก ซึ่งหลักสูตรควบข้ามระดับข้ามศาสตร์ เป็นตัวอย่างแพลตฟอร์มการศึกษารูปแบบใหม่ ในจุฬาฯ
ทั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์เริ่มดำเนินการหลักสูตรควบข้ามระดับข้ามศาสตร์ ครั้งแรกกับทางคณะแพทยศาสตร์ ในโครงการการผลิตบัณฑิตแพทย์ 2 ปริญญา ป.ตรี แพทย์-ป.โท วิศวกรรมชีวเวช เพื่อเป็นการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มการศึกษาขยายไปสู่นิสิตกลุ่มต่างๆ ที่มีความสนใจและเป็นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Growth from within) ต่อยอดเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความสำคัญ มีประโยชน์ต่อสังคม
"หลักสูตร 2 ปริญญา คือ ปริญญาตรี ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และปริญญาโทวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช ภายในเวลา 6 ปี นี้ จะเป็นหลักสูตรผลิตทันตแพทย์ที่มีพื้นฐานการใช้เทคโนโลยี รวมถึงเข้าใจกระบวนการการทำงาน และสามารถคิดค้น พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ได้"ศ.ดร.สุพจน์ กล่าว
ผลิตทันตแพทย์เชี่ยวเทคโนโลยีดูแลสุขภาพช่องปาก
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ สถาบันการศึกษาจึงต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดการจัดการศึกษาจากเดิม ที่เน้นการสร้างหลักสูตรหรือจัดการเรียนการสอนเฉพาะศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งเพียงอย่างเดียว เป็นการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบใหม่ที่นอกจากจะเสริมองค์ความรู้และทักษะเฉพาะทางวิชาการ ยังสนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถค้นพบความถนัดของตนเองและเสริมสร้าง พัฒนาศักยภาพอื่นเพิ่มเติมผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกัน เป็นองค์ความรู้ทั้งในทฤษฎีเชิงลึกและทั้งในเชิงประยุกต์ที่มีความล้ำสมัย สามารถต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้
ศ.ทพ.ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หลักสูตรนี้จะเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทยที่นิสิตจะได้รับปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิตร่วมกับวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช ภายในระยะเวลาการศึกษา 6 ปี โดยในงานวิจัยของนิสิตจะมุ่งเน้นในการพัฒนาองค์ความรู้และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางวิศวกรรม เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), การพิมพ์ 3 มิติด้วยวัสดุชีวภาพ (3D Bioprinting) มาประยุกต์ใช้ร่วมกับองค์ความรู้ทางทันตแพทยศาสตร์ บัณฑิตที่จบจากหลักสูตรนี้จะสามารถเป็นทันตแพทย์นักวิชาการ นักวิจัยชั้นน้ำ ผู้เชี่ยวชาญทั้งสาขาทันตแพทยศาสตร์และวิศวกรรมชีวเวชที่สามารถสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพช่องปากได้
“ผมเชื่อว่าจะเป็นการตอบโจทย์ทำให้จุฬาฯ มีนวัตกรรมเกิดขึ้น มีการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของประชาชน มีการเกิดนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติได้ดี” ศ.ทพ.ดร.พรชัย กล่าว
หลักสูตรดังกล่าว จะมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญทั้งสาขาทันตแพทยศาสตร์และวิศวกรรมชีวเวชให้สามารถพัฒนาตนเองได้ตามศักยภาพ ตามความสนใจ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนรองรับให้นิสิตสามารถเลือกเรียนรายวิชาเสริมองค์ความรู้และสมรรถนะทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ตามช่วงชั้นปีที่เหมาะสมในระหว่างศึกษาในหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ โดยมีคณาจารย์จากทั้งสองคณะที่พร้อมให้คำแนะนำหัวข้อวิจัยและการทำวิทยานิพนธ์ เพื่อให้นิสิตสามารถสำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์และระยะเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนด
ใครเหมาะที่จะเรียนรู้ในหลักสูตรนี้
หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับนิสิตทันตแพทย์ที่มีศักยภาพ และความสนใจด้านวิศวกรรมชีวเวช ต้องการเป็นทันตแพทย์ที่เป็นนักวิชาการ นักวิจัยชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากของประชาชน โดยนิสิตสามารถสมัครเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวชได้เมื่อเรียนรายวิชาในหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิตครบ 120 หน่วยกิต (จบชั้นปีที่ 3)
โดยโครงการจะคัดเลือกนิสิตในหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิตที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช ประมาณ 10 คนต่อปีการศึกษา โดยบางส่วนในจำนวนนี้จะมีทุนสนับสนุนการศึกษาระดับปริญญาโทให้นิสิต
การเรียนแบบใหม่ ต่างจากหลักสูตรเดิม
ชั้นปีที่ 1-6: นิสิตเรียนรายวิชาในหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต เช่นเดียวกับนิสิตทันตแพทย์คนอื่น สำหรับนิสิตที่สนใจเข้าเรียนหลักสูตรควบข้ามระดับ/ข้ามศาสตร์จะมีแผนการศึกษาเพิ่มเติมจากหลักสูตรปกติ ดังต่อไปนี้
ชั้นปีที่ 2-3: นิสิตที่สนใจเข้าร่วมหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช สามารถเริ่มหาหัวข้องานวิจัย และอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย ซึ่งมีคณาจารย์ในหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และคณาจารย์หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวชเป็นที่ปรึกษาร่วมกัน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าเรียนในหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช
ชั้นปีที่ 4: เมื่อนิสิตมีหน่วยกิตสะสมในหลักสูตรทันแพทยศาสตรบัณฑิตครบ 120 หน่วยกิต และมีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการบริหารหลักสูตรกำหนดจะมีสิทธิ์สมัครรับเข้าศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช แผน ก แบบ ก1 (ทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียว 36 หน่วยกิต) ที่ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 2 ปีได้
ชั้นปีที่ 5-6: นิสิตที่ได้รับคัดเลือกเข้าเรียนหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช ใช้เวลาเรียนในช่วงเวลาของรายวิชาเฉพาะ (เลือกบังคับ) หรือช่วงเวลาลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ 36 หน่วยกิต และมีรายวิชาสัมมนาทางวิศวกรรมชีวเวช รวมทั้งการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์และการสอบวิทยานิพนธ์ตามระเบียบของบัณฑิตวิทยาลัย
จบชั้นปีที่ 6: นิสิตที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไขการสำเร็จการศึกษาทันแพทยศาสตรบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช สามารถได้รับปริญญาทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต พร้อมกับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและสหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวชในปีเดียวกัน
เงื่อนไขการสำเร็จการศึกษา
นิสิตที่จะมีสิทธิ์สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณทิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวชได้ ต้องมีคุณสมบัติและดำเนินการตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา (ที่ใช้บังคับ ณ ขณะที่นิสิตเข้าศึกษา) ดังต่อไปนี้
- สำเร็จการศึกษาหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต
- ลงทะเบียนเรียนและมีหน่วยกิต สอบได้ตามที่หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช กำหนด (36 หน่วยกิต)
- มีระยะเวลาการศึกษาไม่เกินระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร (ไม่เกิน 4 ปีการศึกษา)
- ต้องสอบผ่านการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ การสอบวิทยานิพนธ์ และปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่นของหลักสูตร
- ผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ได้รับการเผยแพร่ตามข้อกำหนดของหลักสูตร
เรียนจบหลักสูตรนี้จะทำอะไรได้บ้าง
- เป็นทันตแพทย์นักวิชาการ นักวิจัยชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญทั้งสาขาทันตแพทยศาสตร์และวิศวกรรมชีวเวชที่สร้างสรรค์ผลงานวิชาการ องค์ความรู้ วิจัยและนวัตกรรม
- ศึกษาต่อสาขาทันตแพทย์เฉพาะทาง ทั้งระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต (1 ปี) ปริญญาโท (2 ปี) ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง/วุฒิบัตร (3 ปี) ปริญญาเอก (3 - 4 ปี)