เมื่อTCAS ไม่จำกัดสิทธิ์ ยื่นพอร์ตหลายที่ติดหลายคณะ กั๊กที่จริงหรือ?
จากกรณี น้องโอโม่ ฐิติพันธ์ วะเศษสร้อย นักเรียนโรงเรียนสกลราช จ.สกลนคร ยื่น Portfolio (พอร์ตฟอลิโอ) ในTCAS รอบที่ 1 พบว่าติด 15 สาขา 9 มหาวิทยาลัย ได้รับคำชื่นชมจากโรงเรียนและชาวโซเซียลมีเดียจำนวนมาก
Keypoint:
- รอบ Portfolio เสมือนพบกันครึ่งทางระหว่างสถานศึกษาและนักเรียน ทำให้สถานศึกษาได้ตามหาผู้เรียนที่มีความถนัดแสดงออกอย่างชัดเจนได้ เพื่อการต่อยอดในระดับสูงง่ายขึ้น
- TCAS รอบแรก Portfolio นั้น เป็นสิทธิ์ของนักเรียนสามารถยื่นพอร์ตไปได้หลายคณะ และมหาวิทยาลัย สมัครโดยตรงกับทางมหาวิทยาลัย
- นักเรียนเก่ง มีความสามารถ และคุณสมบัติตรงกับโครงการต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยเปิด ควรจะค้นหาตัวเองให้เจออยากเรียนอะไร อยากประกอบอาชีพอะไร เพราะบางโครงการไม่มีลำดับสำรอง
ทว่าล่าสุดโดนดราม่า และตั้งคำถามจากชาวเน็ตบางคนว่าการที่น้องเก่ง ยื่นพอร์ตไปหลายที่ ทั้งที่สามารถเลือกเรียนได้คณะเดียว และต้องสละสิทธิ์คณะอื่นๆ ถือเป็นการตัดโอกาสคนอื่น หรือกั๊กที่!!! เนื่องจากบางคณะ บางโครงการ ไม่ได้มีการจัดอันดับสำรองเอาไว้สำหรับการรองรับการสละสิทธิ์
‘TCAS’ ย่อมาจาก ‘Thai University Central Admission System’ คือระบบที่ใช้คัดเลือกบุคคลเข้าเรียนต่อในระดับ ‘อุดมศึกษา’ ที่มีมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2567 การสอบ tcas66 มีทั้งหมด 4 รอบด้วยกัน ได้แก่
- รอบที่ 1 Portfolio
- รอบที่ 2 Quota (โควต้า)
- รอบที่ 3 Admission
- รอบที่ 4 Direct Admission
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
คะแนน TGAT ฮอตไม่เลิก เช็กค่าสถิติ ขอทบทวนผลคะแนนสอบ
“ศุภมาส” เตรียมใช้งานวิจัยนวัตกรรมพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคอีสาน
ความแตกต่างการสอบTCAS แต่ละรอบ
โดยแต่ละรอบจะมีการเปิดรับสมัครที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
- รอบ ที่ 1 Portfolio
เป็นการสมัครสอบโดยตรงกับผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัย โดยใช้แค่แฟ้มสะสมผลงาน ซึ่งเหมาะกับคนที่มีผลงานโดดเด่น และมีคุณสมบัติถึงตามที่คณะ/มหาวิทยาลัยกำหนด เพราะจะต้องมีหลักฐานที่แสดงถึงความสามารถต่าง ๆ
รับสมัคร : มหาวิทยาลัยกำหนด
ประกาศผลในระบบ : 6 กุมภาพันธ์ 2567
ยืนยันสิทธิ์ในระบบ : 6-7 กุมภาพันธ์ 2567
สละสิทธิ์ในระบบ : 8 กุมภาพันธ์ 2567 หรือ 4 พฤษภาคม 2567
- รอบที่ 2 Quota (โควต้า)
สำหรับในรอบนี้ จะเป็นการใช้คะแนนสอบ สมัครโดยตรงกับเว็บไซต์มหาวิทยาลัย โดยเหมาะกับคนที่มีความสามารถพิเศษ และอยู่ในพื้นที่ตามที่คณะ/มหาวิทยาลัยกำหนด ซึ่งรอบที่ 2 นี้ จะมีทั้งโควต้าพื้นที่ โควต้าโรงเรียน และโควต้าความสามารถพิเศษ
รับสมัคร : มหาวิทยาลัยกำหนด
ประกาศผลในระบบ : 2 พฤษภาคม 2567
ยืนยันสิทธิ์ในระบบ : 2-3 พฤษภาคม 2567
สละสิทธิ์ในระบบ : 4 พฤษภาคม 2567
ระบบTCAS ยืนยันสิทธิ์-สละสิทธิ์
- รอบที่ 3 Admission
ในรอบ 3 จะยกเลิกเกณฑ์ Admission 2 ที่ใช้คะแนน O-NET เป็นสัดส่วนในการคัดเลือก 30% แต่มหาวิทยาลัยสามารถออกเกณฑ์หลายรูปแบบได้ โดยการรอบนี้เหมาะกับน้อง ๆ นักเรียนที่เน้นฝึกทำข้อสอบ เนื่องจากเป็นการเน้นการใช้คะแนนสอบกลางเป็นหลัก
รับสมัคร : 6-12 พฤษภาคม 2567
ประกาศผลในระบบ : 20 และ 25 พฤษภาคม 2567
ยืนยันสิทธิ์ในระบบ : 20-21 พฤษภาคม 2567
สละสิทธิ์ในระบบ : 26 พฤษภาคม 2567 เฉพาะผู้มีสิทธิ รอบ 3 และไม่เคยสละสิทธิ์มาก่อนเท่านั้น
การสมัครรอบที่ 3 ทปอ. ระบุว่า มหาวิทยาลัยจะออกเกณฑ์การคัดเลือกเอง โดยน้อง ๆ นักเรียนสามารถเลือกสมัครได้สูงสุด 10 อันดับ แบบเรียงตามลำดับความชอบ จ่ายค่าสมัครเริ่มจาก 150 บาท หากเลือกสูงสุด 10 อันดับ ต้องจ่ายค่าสมัคร 900 บาท และะทางมหาวิทยาลัยจะเผยแพร่เกณฑ์รับสมัครในช่วงปลายปี 2566 โดยมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนดทั้งหมด รวมถึง จะนำคะแนนเฉลี่ยสะสมในชั้นมัธยมปลาย หรือ GPAX มาใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกหรือไม่ ซึ่งน้อง ๆ นักเรียนต้องดูเกณฑ์การคัดเลือกอย่างรอบคอบด้วยนะ
- รอบที่ 4 Direct Admission
มาถึงการสมัครสอบในรอบที่ 4 จะเหมาะกับน้อง ๆ นักเรียนที่อาจจะยังไม่ได้สมัครในรอบก่อนหน้า หรือพลาดจากรอบก่อน ๆ โดยสามารถสมัครสอบ Tcas67 ผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย โดยจะมีขั้นตอนการยืนยันสิทธิ์ในระบบ myTCAS หลังสอบติด หากสอบติดแล้วไม่เข้าไปยืนยันสิทธิ์ ก็จะถือว่าไม่มีสิทธิ์เข้าศึกษา
รับสมัคร : 27 พฤษภาคม-5 มิถุนายน 2567
ประกาศผลในระบบ : 6 และ 17 มิถุนายน 2567
ยืนยันสิทธิ์ในระบบ : 6-7 และ 17-18 มิถุนายน 2567
สละสิทธิ์ในระบบ : ไม่อนุญาตให้สละสิทธิ์ ถ้าไม่ต้องการไม่ต้องกดยืนยันสิทธิ์
สำหรับในรอบที่ 3 และรอบที่ 4 จะไม่อนุญาตให้สละสิทธิถ้าไม่ต้องการ ไม่ต้องกดยืนยันสิทธิ์ รวมทั้ง ในทุกรอบ ของการสมัครสอบจะไม่มีใช้คะแนน O-net ยกเว้นสถาบันนอกระบบ TCAS ซึ่งจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสถาบันนั้น ๆ ว่าจะใช้คะแนนโอเน็ตหรือไม่?
ยื่นพอร์ต ไม่จำกัดคณะไม่จำกัดมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ สำหรับกรณีของน้องโอโม่ สอบติด 15 คณะ 9 มหาวิทยาลัยนั้น จะเป็นรอบยื่นพอร์ต (Portfolio) ซึ่งรอบนี้เป็นการยื่นสมัครกับทางมหาวิทยาลัยโดยตรง โดยใช้แค่แฟ้มสะสมผลงาน และ เกรดเฉลี่ย (GPAX)โดยใช้เกรดเฉลี่ยช่วงม.4-5 หรือคุณสมบัติอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสาขานั้นๆ ซึ่งทางคณะ ทางมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนดทิศทาง รูปแบบของ Portfolio เอง
รอบ Portfolio จึงเสมือนพบกันครึ่งทางระหว่างสถานศึกษาและนักเรียน เป็นเหมือนรอบที่ทำให้สถานศึกษาได้ตามหาผู้เรียนที่มีความถนัดแสดงออกอย่างชัดเจนได้ เพื่อการต่อยอดในระดับสูงง่ายขึ้น เป็นการนัดพบกับนักเรียนที่มีความสามารถตรงความต้องการและมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์การคัดเลือก และสามารถกรองคนเก่งๆมาเรียนกับคณะได้
ขณะเดียวกัน ถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับน้องๆ ที่รู้ตัวเร็วว่าอยากเรียนอะไร มีความสนใจในเรื่องใด เรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ หรือมีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งอย่างโดดเด่นกว่าใครๆให้สามารถเข้าเรียนในคณะ สาขา ที่ตนสนใจได้ง่ายขึ้นจากการยื่น Portfolio
Portfolio มหาวิทยาลัยสามารถประเมินผู้เรียน
แรกเริ่มเดิมทีย้อนไปในระบบการรับเข้าแบบเก่า การรับด้วย Portfolio ก็เปรียบเหมือนการรับนักเรียนจากโครงการผู้มีความสามารถพิเศษ ซึ่งแทบทุกสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีโครงการแบบนี้กันอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่นโครงการเด็กดีมีที่เรียน, โครงการรับนักเรียนผู้มีความสามารถด้านกีฬา หรือโครงการโอลิมปิกวิชาการ เป็นต้น
พอเข้าสู่ยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบรับเข้าใหม่ โครงการเหล่านั้นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการรับรอบแรกแล้วเพิ่ม Portfolioเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณารับนักศึกษาด้วย ทำให้ Portfolio ที่เคยเป็นแค่สิ่งที่อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนที่จะนำมาพิจารณารับเข้าศึกษา กลายสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ขึ้นมา
ดร.อรวิชย์ ถิ่นนุกูล ผู้ช่วยคณบดี วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า Portfolio มีความสำคัญตรงที่มหาวิทยาลัยสามารถประเมินผู้เรียนได้ว่านักเรียน มีความถนัดอะไรและตรงกับความสนใจหรือไม่ ถ้าตรงนั้นแสดงว่านักเรียนตัดสินใจเรียนกับเรา เพราะมหาวิทยาลัยต้องการคนที่สนใจและมีความถนัดที่แสดงออกอย่างชัดเจน เพื่อการต่อยอดในระดับที่สูงขึ้นง่ายกว่าและสามารถกรองคนเก่งๆ มาเรียนกับคณะ
Portfolio แบบไหน?ที่โดนใจคณะกรรมการ
เมื่อน้องๆยื่นPortfolio ที่มีคุณสมบัติตรงกับโครงการไปยังมหาวิทยาลัยแล้ว สิ่งต่อไปที่กรรมการตัดสินจะให้ความสนใจจะเป็นเรื่องของผลงานใน Portfolio ที่น้องๆ นำเสนอ ซึ่งPortfolio แบบไหนที่จะพิชิตใจกรรมการ หรืออาจารย์ได้ดีที่สุด
1.การมีผลงานที่ได้รับรางวัลในระดับสูง มีเกียรติบัตรจากสถาบันที่เชื่อถือได้หรือชนะการแข่งขันในเวทีที่มีชื่อเสียง
2.การทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียน ค่าย แคมป์ วิชาการ ที่น้องๆ ทุกคนสามารถเข้าถึงและทำได้กันอยู่แล้ว ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง หรือแสดงถึงความสนใจที่น้องมีต่อคณะสาขา ก็มีสิทธิ์ได้คะแนนบวกเพิ่มเข้าไปอีก
3.พิจารณาและเกณฑ์การรับสมัครในส่วนประกอบอื่นๆ อาทิ คะแนน GPAX กลุ่มสาระที่น้องเรียน และดูPortfolio ควบคู่กันไปด้วย ฉะนั้น การเรียนม.ปลายในโรงเรียน น้องๆ ต้องสร้างสมดุลระหว่างการทำกิจกรรม และการเรียนให้ดี แล้วที่นั่งในรอบ Portfolioจะไม่หลุดมือไปไหนแน่นอน
ก่อนยื่น Portfolio ต้องเตรียมตังอย่างไรบ้าง?
1. โครงการและความสามารถพิเศษ
รอบนี้จะมีหลากหลายโครงการให้น้องเลือกสมัคร ไม่ว่าจะเป็น โครงการเรียนดี โครงการส่งเสริมผู้มีคุณธรรม บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือสังคม ซึ่งหลักๆก็จะรับนักเรียนที่เรียนดีและทำตัวดีต่อสังคมนั่นแหละน้า และโครงการที่เน้นไปที่การแข่งขัน เช่น โครงการโอลิมปิกวิชาการ โครงการความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน กีฬา ศิลปะ ดนตรี และอื่นๆที่เป็นความสามารถพิเศษของน้องๆ ซึ่งในช่วงมัธยมที่ได้เข้าร่วมโครงการต่างๆน้องๆก็อย่าลืมเก็บใบประกาศไว้ด้วย
2.การทำPortfolioให้ทั้งเป๊ะและปัง
การเล่าเรื่องผ่านแฟ้มสะสมผลงานนั้นมีข้อดีและเสีย การทำให้กระชับ อ่านง่าย น่าดึงดูดก็ย่อมเรียกความสนใจได้ดีกว่าจริงไหมม เพราะกรรมการต้องดูอีกหลายพันเล่มเลย เราไม่ควรใส่เยอะหรือน้อยเกินไป ความเหมาะสมคือจุดสำคัญ ใส่เรื่องราว ผลงานที่น่าสนใจที่สุดไว้หน้าๆ จากนั้นค่อยเกริ่นไปถึงผลงานต่างๆที่ยิบย่อยลงมา ที่สำคัญต้องเป็นความจริงและเป็นตัวเอง รางวัลต่างๆรวมไปถึง ผลงานที่เกี่ยวข้องกับสาขา
โดยผลงานเหล่านั้น ทางมหาวิทยาลัยจะให้คะแนนจากมากไปน้อย เรียงตั้งแต่ระดับนานาชาติ ระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับโรงเรียน และประกอบกับเกรดเฉลี่ย ยิ่งมากยิ่งดี ก็จะทำให้มีแต้มต่อ จากนั้นก็จะพิจารณาจากคะแนนสอบภาษาอังกฤษที่บางสาขากำหนด เช่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นอกจากนี้ก็ควรมีกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อแสดงถึงว่าน้องๆ ไม่ได้มีดีแค่เรียนหนังสือ
3. บางสาขาต้องมีชิ้นงานแสดงทักษะ
บางสาขา เช่น ออกแบบหรือสถาปัตยกรรมศาสตร์ ต้องการความมั่นใจว่าน้องๆ ที่สมัครเข้ามามีการเตรียมตัวมาอย่างดีและมีความสามารถที่จะเข้าเรียนในสาขานั้นได้จริง สาขาจะขอให้น้องๆ ทำผลงานเพื่อเป็นการทดสอบความสามารถ เช่น สาขาวิชาการออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ผู้สมัครออกแบบตกแต่งภายใน ‘บ้านในฝัน’ ลงบนกระดาษขนาด A3 จำนวน 5 ชิ้นงาน ประกอบด้วย ห้องรับแขก ห้องครัว ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ ที่สำคัญคือการฝึกฝนที่จะฝึกซ้อมและความรอบคอบที่จะตรวจสอบด้วยว่าสาขาที่เราสนใจต้องมีการแสดงผลงานด้วยหรือไม่
4. ปรับแต่ง Port ทุกครั้ง ถ้ายื่นหลายที่
การยื่น Portfolio ไว้หลายๆที่เป็นสิทธิ์ของเรา แต่อย่าลืมว่าแต่ละสาขา และมหาวิทยาลัยมีเงื่อนไขและข้อกำหนดต่างกัน การตรวจสอบและปรับแต่งใหม่ทุกครั้งทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่าคุณสมบัติของเราจะตรงและถูกต้องกับแต่ละที่ที่เรายื่นไปมากที่สุด เพราะทุกส่วนของ Portfolio มีคะแนนหมด
5.การสัมภาษณ์ที่จริงใจ
หลักจากยื่น Portfolio แล้วหากได้รับเลือกเข้าสัมภาษณ์ถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างมาก เพราะถือว่าเข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งการสัมภาษณ์นั้น คณะกรรมการอยากเห็นบุคลิกภาพ ทัศนคติ วิธีการตอบคำถามและไหวพริบ เพราะฉะนั้นการเป็นตัวเองไม่ผิด แต่หากวิเคราะห์ตัวเองแล้วว่าการเป็นตัวเรานั้นอาจไม่ได้ทำให้ผ่านการสัมภาษณ์ อาจต้องฝึกฝนทักษะที่ขาดหายไป เช่น เราเป็นคนมองโลกในแง่ดีมาก จนบางครั้งมันทำให้เรามองโลกด้านเดียว แต่ถ้าสาขาที่เราสมัครนั้นเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ในโลกความเป็นจริง เราอาจต้องลองมองอีกมุมที่สามารถทำให้เราได้ประโยชน์จากความเป็นตัวตนของเราได้
Portfolio ยื่นได้หลายมหาวิทยาลัย กั๊กที่หรือไม่?
ในรอบ Portfolio นั้น นักเรียนสามารถยื่นไปได้หลายมหาวิทยาลัย ไม่จำกัด เพราะเป็นการเปิดรับที่มหาวิทยาลัยโดยตรง ผ่านทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย หรืออาจจะไปสมัครที่มหาวิทยาลัยด้วยตนเอง และมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะเป็นผู้ประการผลว่าน้องๆ สอบติดหรือไม่
ดังนั้น ทำให้น้องหนึ่งคน หากยื่น Portfolioไปหลายมหาวิทยาลัย และตรงกับคุณสมบัติ เกณฑ์ที่คณะ มหาวิทยาลัยกำหนด อาจทำให้เขาคนนั้นสอบติดได้ทุกมหาวิทยาลัยที่ตนเองยื่นไป จึงไม่ต้องแปลกใจ หากจะเห็นรายชื่อเพื่อนของเราเกือบจะทุกที (หากยื่นหว่านไปทุกที่)
การสมัครTCAS รอบแรก Portfolio นั้น เป็นสิทธิ์ของทั้งนักเรียนยื่นพอร์ต และมหาวิทยาลัยในการเปิดรับ แต่บางครั้ง นักเรียนที่เก่งมีความสามารถ คุณสมบัติตรงกับโครงการต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยเปิด ควรจะค้นหาตัวเองให้เจอ และรู้ถึงความต้องการของตัวเองว่าอยากเรียนอะไร อยากประกอบอาชีพอะไร เพราะบางคณะ บางโครงการที่มหาวิทยาลัยเปิดรับอาจจะไม่มีอันดับสำรองเพื่อไว้ หากนักเรียนสอบติดสละสิทธิ์ ที่นั่งตรงนั้นอาจจะเว้นว่าง ส่งผลให้เพื่อนๆ คนอื่นพลาดโอกาสที่จะได้เรียนในคณะ มหาวิทยาลัยที่ตนเองต้องการ
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยอาจจะต้องมองเห็นถึงปัญหาของการรับสมัครในรอบนี้ว่าอาจจะมีเด็กเก่งที่มีคุณสมบัติตรงกับโครงการของหลายๆ มหาวิทยาลัย อาจต้องมีการจัดลำดับถัดไป เพื่อที่หากเด็กคนแรกสละสิทธิ์ คนถัดไปได้มีโอกาส
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการยืนยันสิทธิ์นั้นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบที่ 1 Portfolio และรอบ 2 โควต้า จะต้องยืนยันสิทธิ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดในระบบเท่านั้น โดยทุกรอบนั้นจะสามารถกดยืนยันสิทธิ์ในระบบได้เพียง 1 สาขา หรือสามารถเปลี่ยนแปลงสาขาวิชาได้รวม 3 ครั้ง
ส่วนรอบที่ 3 แอดมิชชั่น และ รอบที่ 4 รับตรงอิสระ เป็นการยืนยันในวันที่เราสอบสัมภาษณ์ หากไม่ต้องการเข้าศึกษาสามารถแจ้งคณะกรรมการได้ทันที การสละสิทธิ์จะทำได้เพียงแค่ 1 ครั้ง โดยต้องทำในระบบ เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วจะมีการคืนสิทธิ์ให้สมัครสอบรอบถัดไปได้
อ้างอิง: admissionpremium ,chulatutor , mytcas