ปี 67 กู้กยศ. คิดดอกเบี้ยตามพ.ร.บ.ใหม่ พร้อมเกณฑ์ลดเงินต้น 3 %
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา คืนเงินลูกหนี้ จากเกณฑ์คำนวณหนี้ใหม่ ปี 2567 กู้กยศ. คิดดอกเบี้ยตามพ.ร.บ.ใหม่ กรณีไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เลย ปิดยอดลดเงินต้น 3 %
KEY
POINTS
- กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)ดำเนินการปรับปรุงยอดหนี้ (Recalculate) จำนวน 50,614 ราย ส่งผลให้ผู้กู้ยืมบางรายมีสถานะปิดบัญชีได้ทันทีและมีผู้กู้ยืมที่จะได้รับเงินคืนส่วนที่ชำระเงินเกินจำนวน 3,494 ราย เป็นเงินประมาณ 97 ล้านบาท
- กู้กยศ.ปี 2567 ตามกฎหมายใหม่ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 20 มี.ค.2566 คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อปีเบี้ยปรับลดเหลือ 0.5% ต่อปีแถมไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ถ้าไม่เคยผิดชำระหนี้ ปิดดบัญชีลดเงินต้น 3 %
- ข้อมูลสถิติกยศ. ณ ม.ค.2567 มีผู้กู้ยืมเงินกองทุน 6,809,339 ราย ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,866,022 ราย คิดเป็น 27 % และหนี้เสียราว 1 แสนล้านบาท
เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2567 นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) เปิดเผยว่า กองทุนได้ดำเนินการปรับปรุงยอดหนี้ (Recalculate) ของผู้กู้ยืมกลุ่มที่ต้องการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่มียอดหนี้คงเหลือและอยู่ระหว่างถูกบังคับคดีหรือถูกอายัดเงิน จำนวน 50,614 ราย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่งผลให้ผู้กู้ยืมบางรายมีสถานะปิดบัญชีได้ทันทีและมีผู้กู้ยืมที่จะได้รับเงินคืนส่วนที่ชำระเงินเกินจำนวน 3,494 ราย เป็นเงินประมาณ 97 ล้านบาท กู้กยศ.ลดดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ
การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2566 ซึ่งกำหนดคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อปี(เดิม 1 %) เบี้ยปรับลดเหลือ 0.5% ต่อปี(เดิม 7.5 %)
นอกจากนี้ ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน เพิ่มให้กู้ยืมหลักสูตรระยะสั้น เพื่อ Reskill Upskill พร้อมเปลี่ยนลำดับตัดชำระจากเดิม เป็นตัดต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ ผลจากการกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่เพียงแต่มีการปรับปรุงยอดหนี้ (Recalculate) ของผู้กู้ยืมกลุ่มที่ต้องการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่มียอดหนี้คงเหลือและอยู่ระหว่างถูกบังคับคดีหรือถูกอายัดเงินเท่านั้น
5 ลักษณะผู้กู้กยศ.
ในส่วนของผู้กู้กยศ.รายใหม่ ก็จะคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับลดลงตามกฎหมายใหม่ที่ออกมาด้วย และกรณีที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ หากปิดบัญชีลดเงินต้น 3 % แต่ละปี กยศ.ปล่อยเงินกู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่ต้องการเงินกู้เพื่อการศึกษา ราว 4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ กองทุนได้กำหนดคุณสมบัติของผู้กู้ยืมแบ่งเป็น 5 ลักษณะ ดังนี้
- ลักษณะที่ 1 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
- ลักษณะที่ 2 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิต กำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
- ลักษณะที่ 3 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลน หรือที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ
- ลักษณะที่ 4 นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ โดยให้กู้ในระดับปริญญาโท
- ลักษณะที่ 5 ลักษณะอื่นตามความจำเป็นและเหมาะสม
สถิติข้อมูลกู้กยศ.
จากสถิติข้อมูลกยศ. ณ วันที่ 31 มกราคม 2567
- ผู้กู้ยืมเงินกองทุน 6,809,339 ราย
- 52 % อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,501,935 ราย
- 20 % อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,368,761 ราย
- 27 % ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,866,022 ราย
- 1 % เสียชีวิต /ทุพพลภาพ 72,621 ราย
ขณะที่เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2567 นายชัยณรงค์ ได้เปิดเผยข้อมูล ยอดหนี้เสียของกองทุนในปัจจุบันมีราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวนับจากปี 2560 ที่มีหนี้เสียอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท แต่ประเมินว่ายอดหนี้เสียดังกล่าวจะทยอยลดลง หลังจากที่กองทุนได้ปรับวิธีการคำนวณการชำระหนี้ใหม่ ปัจจุบันสินเชื่อคงค้างของ กยศ.อยู่ที่ 4.8 แสนล้านบาท โดยมีลูกหนี้ 3.5 ล้านคน
“หนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยของกยศ.ที่คิดในอัตราต่ำเพียง 1% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ยังสูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของกยศ. จึงมีลูกหนี้จำนวนหนึ่งที่อาจจะมีภาระหนี้หลายทาง เลือกที่จะชำระหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อนการชำระหนี้ให้กับกยศ.”นายชัยณรงค์กล่าว
กำหนดการกู้กยศ. ปี 2567
กยศ.เปิดปฏิทินกู้ยืมเงิน ประจำปีการศึกษา 2567 สำหรับผู้กู้รายเก่าเลื่อนชั้นปี ส่วนผู้กู้ยืมเงินรายใหม่ และผู้กู้ยืมเงินรายเก่าเปลี่ยนระดับการศึกษา หรือเปลี่ยนสถานศึกษา จะแจ้งให้ทราบเป็นลำดับถัดไป
ทั้งนี้ ตามประกาศเรื่อง กำหนดการให้กู้ยืมเงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2567 (เฉพาะรายเก่าเลื่อนชั้นปี) ในส่วนของสถานศึกษาทั่วไป
มีรายละเอียดดังนี้
- ภาคเรียนที่ 1
ตั้งแต่ 1 มี.ค. เป็นต้นไป สถานศึกษาบันทึกปฏิทินการศึกษา (เฉพาะสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา) ค่าใช้จ่ายตามหลักสูตร และรายงานสถานภาพการศึกษาของผู้กู้ยืม
1 เม.ย. - 31 ก.ค. 2567 ผู้กู้ยืมเงินเข้าใช้งาน กยศ. Connect/ระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบดิจิทัล (DSL)
1 เม.ย. - 31 ส.ค. 2567 สถานศึกษาบันทึกค่าใช้จ่ายตามจริงของผู้กู้ยืมเงิน ,ผู้กู้ยืมรายเก่าเลื่อนชั้นปียื่นแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม และลงนามแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม
ไม่เกิน 15 ก.ย. 2567 สถานศึกษาจัดส่งเอกสารแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมให้ผู้บริหาร และจัดการเงินให้กู้ยืม
- ภาคเรียนที่ 2
1 ก.ย. 67 - 31 ม.ค. 2568 สถานศึกษาบันทึกค่าใช้จ่ายตามจริงของผู้กู้ยืมเงิน ,ผู้กู้ยืมเงินยื่นแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม และลงนามแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม
ไม่เกิน 15 ก.พ. 2568 สถานศึกษาจัดส่งเอกสารแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมให้ผู้บริหารและจัดการให้กู้ยืม
- ภาคเรียนที่ 3 (สำหรับสถานศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบ 3 ภาคเรียน)
1 ม.ค. - 31 มี.ค. 2568 สถานศึกษาบันทึกค่าใช้จ่ายตามจริงของผู้กู้ยืมเงิน,ผู้กู้ยืมเงินยื่นแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม และลงนามแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม ,ไม่เกิน 15 เม.ย. 2568 สถานศึกษาจัดส่งเอกสารแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมให้ผู้บริหารและจัดการให้กู้ยืม