มบส.สร้างนักสื่อสารสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้
มบส.ดึงวิทยากรมืออาชีพเสริมทักษะผลิตรายการ สร้างนักสื่อสารสร้างสรรค์ หวังขับเคลื่อนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย
วันนี้ (19 มี.ค.2567) ที่ศูนย์ข้อมูลสื่อสารดิจิทัล ขุนวิเทศดรุณการ สำนักประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) ผศ.ดร.คณกร สว่างเจริญ รักษาราชการแทนอธิการบดี มบส. เป็นประธานเปิด การอบรมเชิงปฏิบัติการเรียนรู้การผลิตรายการและการเป็นนักสื่อสารสร้างสรรค์(Youth Professional Content Creator Camp รุ่นที่ 3 ) ตามโครงการตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นการพลิกโฉมสื่อประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์กิจกรรมการสร้างองค์ความรู้ด้านการประชาสัมพันธ์และการผลิตสื่อดิจิทัลโดยมีนักเรียน นักศึกษา บุคลากร และผู้สนใจจากภายนอกเข้าร่วมจำนวนมาก
ผศ.ดร.คณกร กล่าวว่า การจัดอบรมครั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้เข้าอบรม มีทักษะด้านการผลิตรายการ และการเป็นนักสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ โดยมีวิทยากรมืออาชีพมาช่วยสอนพร้อมช่วยฝึกปฏิบัติการ ให้เป็นนักสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ที่สามารถผลิตรายการข่าวได้ด้วยตนเอง ตั้งแต่การเขียนบท เทคนิคการถ่ายภาพ การตัดต่อ พร้อมกับ การเรียนรู้ด้านการสื่อสาร จากประสบการณ์ของทีมวิทยากรจนได้ผลงานที่สามารถเผยแพร่สู่มวลชนได้อย่างมีคุณภาพ
อย่างไรก็ตามหวังว่าผู้เข้ารับการอบรมจะเป็นพลังส่วนหนึ่ง ที่ช่วยกันขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยของเราเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย สร้างคุณค่า นำภูมิปัญญาไทยสู่สังคมที่ยั่งยืน พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงและความมั่นคง ที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมีศักยภาพ สู่การเป็น World-Class University ในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เน้นนักสื่อสารสร้างสรรค์ มุ่งการฝึกปฏิบัติจริง
ดร.พรรณา ศรสงคราม ผอ.สำนักประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ มบส. กล่าวว่า การสื่อสารในยุคดิจิทัลส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตประจำวัน ตลอดจนการรับรู้ข่าวสารในทุกมิติ มีพัฒนาการของเทคโนโลยีที่พร้อมสนับสนุนให้ทุกคนเป็นผู้ส่งผ่านข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น การจัดงานครั้งนี้จึงมุ่งเน้นการฝึกปฏิบัติจริงด้านผลิตรายการ การผลิตสื่อดิจิทัล เพื่อเป็นนักสื่อสารที่ผลิตสื่อได้เองอย่างสร้างสรรค์ โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความเข้าใจในระบบการสื่อสาร สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้
สำหรับกิจกรรมหลัก คือ การฝึกอบรมให้มีความรู้และทักษะด้านการผลิตรายการพร้อมการฝึกปฏิบัติจริง การลงพื้นที่ในชุมชนรอบบ้านสมเด็จฯ ได้แก่ การผลิตหัวโขน ขนมกุฎีจีน ขนมฝอยทอง เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้ฝึกปฏิบัติการตั้งแต่การเก็บข้อมูล ได้ฝึกวิเคราะห์ประเด็นเพื่อการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ สามารถจับประเด็นได้เหมือนนักข่าว
นอกจากนี้มีการศึกษาดูงานที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส การวิพากษ์ผลงานของผู้เข้าอบรม โดยทีมวิทยากรของไทยพีบีเอส ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารในองค์กร เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการผลิตสื่อและการเป็นนักสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตามหลังจากการอบเสร็จสิ้นจะมีการคัดเลือกผู้เข้าอบรมที่มีความตั้งใจจริง มีความพร้อมที่จะพัฒนาตนเอง ให้เป็นนักสื่อสารที่มีคุณภาพ ไปฝึกปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อเป็น“นักสื่อสารสร้างสรรค์” สามารถเขียนข่าวและผลิตสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยต่อไป