ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ติดอันดับที่ 13 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ติดอันดับที่ 13 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จากการจัดอันดับโลกของ SCIMAGO INSTITUTIONS RANKINGS 2024 โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รับการเข้าจัดอันดับในปี 2024 เป็นปีแรก
SCIMAGO INSTITUTIONS RANKINGS (SIR) เผยแพร่ผลการจัดอันดับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2024 ผ่านเว็บไซต์ https://www.scimagoir.com โดยในปี 2024 มีองค์กรที่ได้รับการจัดอันดับโลกทั้งหมด 9,054 แห่ง เป็นสถาบันการศึกษา 4,762 แห่ง และมีมหาวิทยาลัยของไทยเพียง 33 สถาบันเท่านั้นที่ได้รับการจัดอันดับจาก SIR ในปีนี้ (เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ที่มี 30 สถาบัน)
โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้รับการเข้าจัดอันดับในปี 2024 เป็นปีแรก ติดเป็นอันดับที่ 13 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และได้อันดับที่ 5,247 ของโลกในการจัดอันดับแบบภาพรวม Overall Rank ซึ่งมีการจัดอันดับการพิจารณาจากผลงาน 3 ด้าน ดังนี้
1. ด้านงานวิจัย (Research) อยู่ในลำดับที่ 25 ของไทย อันดับที่ 6,923 ของโลก
2. ด้านนวัตกรรม (Innovation) อยู่ในลำดับที่ 2 ของไทย อันดับที่ 2,993 ของโลก
3. ด้านสังคม (Societal) อยู่ในลำดับที่ 28 ของไทย อันดับที่ 5,656 ของโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิด "ผลงานนวัตกรรมพยาบาล" ของวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี
"CRA open House" แนะนำหลักสูตร พาทัวร์การเรียนการสอนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
4 สาขา ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ติดอันดับโลก
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยของประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับ 1-3 คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามลำดับ และจากผลการจัดอันดับโลกของ SCIMAGO INSTITUTIONS RANKINGS (SIR) ปี 2024 ยังได้มีการจัดอันดับประเภทสาขาวิชา
โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มี 4 สาขาที่ถูกจัดอันดับ โดยมีอันดับผลงานในกลุ่มมหาวิทยาลัย ดังนี้
1) สาขา Medicine อันดับที่ 12 ของประเทศไทย อันดับที่ 671 เอเชีย และอันดับ 1,917 ของโลก
- Oncology (มะเร็งวิทยา) อันดับที่ 3 ของประเทศไทย อันดับที่ 237 เอเชีย และอันดับ 743 ของโลก
- Radiology, Nuclear Medicine and Imaging (รังสีวิทยา เวชศาสตร์นิวเคลียร์ และภาพวินิจฉัย) อันดับที่ 3 ของประเทศไทย อันดับที่ 194 เอเชีย และอันดับ 705 ของโลก
- Infectious Diseases (โรคติดเชื้อ) อันดับที่ 5 ของประเทศไทย อันดับที่ 225 เอเชีย และอันดับ 787 ของโลก
- Public Health, Environmental and Occupational Health (สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และอาชีวอนามัย) อันดับที่ 15 ของประเทศไทย อันดับที่ 576 เอเชีย และอันดับ 1,905 ของโลก
2) สาขา Biochemistry, Genetics and Molecular Biology อันดับที่ 13 ของประเทศไทย อันดับที่ 654 เอเชีย และอันดับ 1,763 ของโลก
3) สาขา Pharmacology, Toxicology and Pharmaceutics อันดับที่ 19 ของประเทศไทย อันดับที่ 732 เอเชีย และอันดับ 2,055 ของโลก
4) สาขา Chemistry อันดับที่ 25 ของประเทศไทย อันดับที่ 1,156 เอเชีย และอันดับ 2,847 ของโลก
ผลงานด้านวิจัยโดดเด่น พัฒนาประเทศชาติ
สำหรับ SCIMAGO INSTITUTIONS RANKINGS (SIR) เป็นการจัดอันดับสถาบันที่มีผลงานวิจัยระดับนานาชาติ ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่ามีมาตรฐานและความน่าเชื่อถือสูงแห่งหนึ่ง และการจัดอันดับในแต่ละครั้งจะบ่งบอกถึงความก้าวหน้าและการพัฒนาในกระบวนการ “วิจัย” สร้างองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวิจัยและการพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งจะทำให้ต่อยอดไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับสังคมทั่วโลกได้โดยมีประเภทสถาบัน/หน่วยงาน ที่ได้รับการจัดอันดับโลกแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ Government, Health, Universities, Companies, Non-profit และ All sectors (รวม 5 กลุ่มแรกเข้าไว้ด้วยกัน กรณีต้องการดูการจัดอันดับแบบไม่แยกตามประเภทสถาบัน/หน่วยงาน) ซึ่งมีเกณฑ์การพิจารณาจากผลงาน 3 ด้าน ประกอบด้วย
1.ด้านงานวิจัย (Research) 50% จะประกอบไปด้วยจำนวนเอกสารทางวิชาการ วารสาร งานวิจัย จำนวนการอ้างอิง จำนวนผู้เขียนที่เกี่ยวข้องกับผลงานวิชาการและผลงานวิจัยของสถาบันนั้น ๆ โดยอ้างอิงผลข้อมูลจาก Scopus
2.ด้านนวัตกรรม (Innovation) 30% จะเป็นในด้านความรู้ที่เป็นนวัตกรรม สิทธิบัตร หรือผลงานตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์จากสถาบันที่อ้างถึงในสิทธิบัตร โดยพิจารณาข้อมูลมาจาก PATSTAT (Patent Statistical Database)
3.ด้านสังคม (Societal) 20% จะพิจารณาจาก ขนาดของเว็บ จำนวนหน้าเว็บที่เชื่อมโยงกับ URL ของสถาบัน จำนวนเครือข่าย (subnets) ที่เชื่อมโยงการเข้าถึงกับเว็บไซต์ของสถาบันนั้น และปริมาณเอกสาร และข่าวสารต่าง ๆ ของสถาบันที่เผยแพร่อยู่ใน social media
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ตามพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. 2559 จากพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลว่าควรมีการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยทรงมีพระปณิธานให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน การวิจัย และสถาบันทางการแพทย์ ที่มีเป้าหมายสูงสุดคือการนำวิทยาการขั้นสูงและนวัตกรรมไปใช้ในการดูแลคนไทยให้สามารถเข้าถึงสุขภาวะที่ดี ภายใต้ปรัชญา เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต การจัดการศึกษาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มุ่งสร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้นำและนักวิจัยทางวิชาชีพด้านสุขภาพ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การแพทย์ การสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสาขาวิชาที่ยังขาดแคลนและมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมไทยและนานาชาติ เป็นศูนย์รวมการวิจัย สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสุขภาพ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการแพทย์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติได้จริง เป็นศูนย์ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นสถาบันที่ให้บริการทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานสากลแก่ประชาชนอย่างไม่หวังผลกำไร โดยนำวิทยาการขั้นสูงนวัตกรรมและความเป็นเลิศไปใช้ในการดูแลคนไทยให้สามารถเข้าถึงสุขภาวะที่ดีและเท่าเทียมเพื่อทุกชีวิตตามพระปณิธาน ติดตามข้อมูลข่าวสารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ทาง www.cra.ac.th