สานฝันพลังพื้นที่ “ก.กก บึงกาฬ” ชุมชนสร้างการเรียนรู้ สู่การสร้างรายได้
จากชุมชนแสนธรรมดาสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการถักทอเสื่อจากภูมิปัญญา “ต้นกกและผือ” ทำให้ชุมชนและชาวบ้านมีรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ส่งผลให้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ ของ ก.กก บึงกาฬ ได้รับโอกาสจากกลุ่มเซ็นทรัลให้ผลิตกระเป๋าภายใต้แบรนด์ Good Goods
KEY
POINTS
- ยกระดับชุมชนบึงกาฬ หนุนเสริมด้านวิชาการ เกิดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อบ้านโพธิ์ทอง หรือชื่อใหม่คือ ก.กก บึงกาฬ เพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกกและผือให้หลากหลายมากขึ้น
- ผลิตภัณฑ์ ก.กก บึงกาฬ ได้รับโอกาสจากกลุ่มเซ็นทรัลในการผลิตกระเป๋าภายใต้แบรนด์ Good Goods เพื่อจำหน่ายในเครือเซ็นทรัล
- เป้าหมายในต่อไปในอนาคตของ ก.กก บึงกาฬ คือ การยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่การแข่งขันในตลาดสากลได้
พร้อมส่งต่อความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนรุ่นลูกรุ่นหลานในหลักสูตรท้องถิ่น ร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาของชุมชนให้คงอยู่สืบต่อไป
ความสำเร็จของโครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ นอกจากจะสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์สู่สินค้า OTOP ได้แล้ว ยังก่อให้เกิดกองทุน “ก.กก บึงกาฬ” เพื่อเป็นที่พึ่งของคนในชุมชน โดยมีนางรัศมี อึดผา ครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเมืองบึงกาฬ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ อาสาเข้ามาเป็นนักสร้างทาง สร้างการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชนจนสามารถยกระดับความรู้ ยกระดับผลิตภัณฑ์ รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ภูมิปัญญาชาวบ้าน สู่การสร้างรายได้
ข้อมูลจากวารสารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า เดิมทีพื้นที่ตำบล โพธิ์ทอง และบ้านทองสาย ต.โนนสมบูรณ์ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ มีต้นกกและผือเป็นทุนทางธรรมชาติอยู่แล้ว ในขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างมีทักษะในเรื่องการถ่ายทอเสื่อเบื้องต้น จึงทำให้เกิดภูมิปัญญาชุมชนที่นำกกและผือซึ่งเป็นพืชที่มีความเหนียวทนทาน มาทอเป็นเสื่อสำหรับใช้ในครัวเรือน หรืองานบุญต่างๆ อีกทั้งยังมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีทักษะพื้นฐานการแปรรูปเป็นทุนเดิม
ทำให้นางรัศมีมองเห็นถึงโอกาสของชุมชนแห่งนี้ที่มีฐานทุนชุมชนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นบุคคล ภูมิปัญญาการทอเสื่อ และวัตถุดิบทางธรรมชาติ แต่สิ่งที่ขาดคือ “ความรู้และกระบวนการ” ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการ จึงเริ่มต้นจัดโครงการพัฒนาอาชีพผลิตภัณฑ์จากกกและผือพื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง ในปี 2562
คณะทำงานกรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือ สกร. อำเภอเมืองบึงกาฬ จึงประสานไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ศูนย์บึงกาฬ สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ โรงเรียนโพธิ์ทองวิทยานุสรณ์ โรงเรียนบ้านสายทอง คณะครูสกร. ในพื้นที่จึงเข้ามาหนุนเสริมด้านวิชาการ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกกและผือให้หลากหลายมากขึ้น เช่น กระเป๋า กล่องใส่กระดาษทิชชู่ ที่รองแก้ว หมอนอิง
เมื่อกระเป๋าใบแรกขายได้ หมอนอิงได้รับการสั่งจองจากลูกค้า รายได้เริ่มเข้ามา ทำให้ชาวบ้านเกิดความความมั่นใจในอาชีพ จึงมีการเพิ่มกำลังการผลิต นำไปสู่การพัฒนาทักษะอาชีพการทอเสื่อให้กับชาวบ้านคนอื่นๆ เกิดเป็นการรวมกลุ่มขึ้นในนาม กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อบ้านโพธิ์ทอง หรือชื่อใหม่คือ ก.กก บึงกาฬ
กว่าจะมาเป็น ก.กก ทอใจคนบึงกาฬ
นางอุดร คำชาตา ประธานวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อบ้านโพธิ์ทอง เล่าว่า กลุ่มก.กก บึงกาฬเกิดขึ้นมาจากการรวมกลุ่มของคนในชุมชน ซึ่งเมื่อก่อนชุมชนเราแค่ทอเสื่อผืนเดียว แต่การทอเสื่อผืนเดียวมันไม่ทำให้เกิดประโยชน์ แต่ปัจจุบันเสื่อผืนนี้ไม่ได้ใช้ปูนอนได้ 4 คนแล้ว ตอนนี้เสื่อผืนนี้ได้ส่งออกต่างประเทศ ได้ส่งขายออกสู่ห้างสรรพสินค้า
แต่สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้เลย คือ ตัวตนและอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านโพธิ์ทอง ซึ่งทาง กสศ. ได้เห็นคุณค่าของเรา และจุดประกายให้ชุมชนมั่นใจว่าบ้านเรามีกก มีผือ ที่สามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่สำคัญ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งปัจจัยภายนอกในการทำกระเป๋าก.กก บึงกาฬ เพราะชุมชนเราสามารถทำเองได้ ตั้งแต่เส้นกก หูกระเป๋า และการประดิษฐ์ของชุมชนเรามีความพร้อมที่จะส่งต่อให้ชุมชนอื่นๆ ได้มาศึกษาดูงาน
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ดิฉันเล่ามาทั้งหมดจะไม่สามารถสามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าดิฉันและชุมชนไม่ได้รับโอกาสจาก กสศ. สกร. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่หนุนเสริมให้พวกเราได้หลอมรวมเป็นน้ำหนึ่งน้ำใจอันเดียวกัน จนเกิดเป็นกลุ่ม ก.กก บึงกาฬในวันนี้
นางดวงใจ ทุมซ้าย ผู้นำฝ่ายผลิตวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อบ้านโพธิ์ทอง เล่าว่า เมื่อก่อนไม่เคยคิดที่จะสนใจ แต่เห็นแม่ทอเสื่ออยู่ตลอด จึงเริ่มสนใจและลองเข้ามาเรียนรู้และคิดว่าจะทำอย่างไรให้เสื่อผืนละ 50 บาท กลายเป็นเสื่อที่มีราคา 5,000 บาทได้ จึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับอาจารย์รัศมี ที่ทำหน้าที่เป็นครูอาสาสมัคร หลังจากนั้นอาจารย์จึงส่งตนไปศึกษาดูงานตามวิสาหกิจชุมชนต่างๆ รวมถึงให้วิทยากรมาสอนในพื้นที่ จนสามารถนำกกและผือมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย พร้อมส่งออกผลิตภัณฑ์สู่ต่างจังหวัดและต่างประเทศ ส่งผลให้ปัจจุบันเรามีอาชีพและรายได้ ในขณะที่ชุมชนเองก็มีรายได้เช่นกัน เชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่ทุกคนต่างร่วมด้วยช่วยกันถักทอเสื่อและกระเป๋า เพื่อสร้ายรายได้ในครอบครัวและส่งต่อรายได้ต่อคนในชุมชน
จากคนที่ไม่มีความรู้เรื่องเสื่อกก วันนี้เราได้ยกระดับสู่การเป็นหัวหน้าดูแลฝ่ายผลิตและเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน ปัจจุบันเราขายเสื่อกกและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ประมาณวันละ 700 -800 บาท เนื่องจากการตลาดที่เปลี่ยนแปลงสู่การตลาดออนไลน์ และสิ่งต่อไปที่อยากจะลงมือทำคือ อยากจะส่งต่อความรู้ให้เด็กรุ่นต่อไปมาพัฒนาและช่วยส่งเสริมอาชีพนี้สู่รายได้หลักของชุมชน
สร้างอัตลักษณ์ ส่งต่อความมั่นคงสู่อนาคต
นอกจากการถักทอตัดเย็บที่ประณีตและเพิ่มพูนทักษะการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกกและผือให้มีรูปแบบที่หลากหลายเพื่อสร้างรายได้แล้ว การสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์เพื่อสะท้อนรากฐานแห่งภูมิปัญญาก็มีความสำคัญเช่นกัน ปราชญ์ชุมชนด้านการถักทอเส้นกกจึงถอด “ลายขันหมากเบ็ง” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดบึงกาฬ มารังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน ทำให้ผืนเสื่อที่ทอด้วยลวดลายนี้ขายได้ในราคาที่สูงขึ้น
ทั้งยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ เช่น เสื่อสีธรรมชาติ หมวก กล่องทิชชู แจกัน และกระเป๋าหลากหลายดีไซน์ที่ถูกถักทอขึ้นจากกกและผือด้วยทักษะฝีมือของคนในชุมชน ซึ่งขับเคลื่อนต่อเนื่องภายใต้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อบ้านโพธิ์ทอง โดยมีนางอุดร คำชาตา หนึ่งในผู้ร่วมเรียนรู้ เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อบ้านโพธิ์ทอง และทำหน้าที่บริหารจัดการภายใต้แบรนด์ “ก.กก บึงกาฬ”
นางรัศมี อึดผา ครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้กระบวนการเรียนรู้ของกลุ่ม ก.กก บึงกาฬ ได้ขยายผลไปสู่ลูกหลาน จากการพัฒนาเป็น “หลักสูตรท้องถิ่น” ร่วมกับโรงเรียนโพธิ์ทองวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนโนนคำพิทยาคม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยนำความรู้และครูภูมิปัญญาจากกลุ่ม ก.กก บึงกาฬ เข้าไปทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ
โดยทางโรงเรียนจะมีพื้นที่สำหรับสอนนักเรียนในการปลูกต้นกก และสามารถเรียนรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ศูนย์ฯ เพื่อส่งต่อเรื่องเหล่านี้ไปสู่ลูกหลาน หากเราพึ่งพาแต่ต้นกกต้นทุนทางธรรมชาติอาจไม่เพียงพอ จึงต้องปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กๆ ช่วยกันดูแลทรัพยากร เพราะหากไม่ดูแลรักษาวันหนึ่งต้นทุนทางธรรมชาติเหล่านี้ก็จะหมดไป ซึ่งทางสำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬได้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ดังกล่าวแก่ชุมชนเพื่อให้ช่วยกันปลูกทดแทนทุนเดิมที่ใช้ไป
หลักสูตรท้องถิ่นพัฒนาคนรุ่นใหม่ในโรงเรียน
นายณัฐพงศ์ พิมพ์ภักดี ครูผู้สอนหลักสูตรท้องถิ่น โรงเรียนโพธิ์ทองวิทยานุสรณ์ กล่าวว่า ตนเองเป็นคนต่างพื้นที่ ซึ่งได้เข้ามารับราชการที่จังหวัดบึงกาฬ จึงได้มีโอกาสได้เห็นกลุ่ม ก.กก บึงกาฬตั้งแต่ช่วงแรกๆ และได้สังเกตมาเรื่อยๆ เป็นเวลา 2 ปี จนเชื่อมั่นว่ากลุ่ม ก.กก สามารถต่อยอดได้และสร้างประโยชน์ สร้างคุณค่าต่อชุมชนจริงๆ จึงเริ่มพูดคุยเข้าสู่กระบวนการทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตจุดแข็ง จุดอ่อนของชุมชน ว่ามีอุปสรรคอย่างไร และสิ่งไหนที่เป็นโอกาสของกลุ่ม จนกลุ่มก.กก นำเรื่องดังกล่าวไปปฏิบัติจริง จึงทำให้เราเกิดความภูมิใจและเกิดความศรัทธาต่อชุมชน
หลังจากนั้นจึงนำเอาความเป็นพื้นบ้านที่เป็นตำราอันทรงคุณค่าไปสอนในโรงเรียน เพื่อให้เยาวชนได้เกิดความสำนึกและตระหนักในชุมชนบ้าน ก.กก บึงกาฬ และเกิดเป็นการผลักดันให้เป็นหลักสูตรท้องถิ่น โดยท่านผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียนโพธิ์ทองวิทยานุสรณ์ ตลอดจนให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบลวดลายบนเสื่อด้วยตนเอง
ถักทออนาคต ยกระดับสินค้าสู่สากล
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ ก.กก บึงกาฬ ได้รับโอกาสจากกลุ่มเซ็นทรัลในการผลิตกระเป๋าภายใต้แบรนด์ Good Goods เพื่อจำหน่ายในเครือเซ็นทรัล และเป้าหมายในต่อไปในอนาคตของ ก.กก บึงกาฬ ก็คือ การยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่การแข่งขันในตลาดสากลได้