“Thailand Zero Dropout” เปิดเทอมค่าใช้จ่ายพุ่ง GDP ส่งผลเด็กหลุดจากระบบ
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2567 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 แถลงข่าวเกี่ยวกับ GDP ไทยไตรมาส 1/2567ขยายตัวได้ 1.5% จากปีก่อนและขยายตัวได้ 1.1%
KEY
POINTS
- ผลกระทบทางเศรษฐกิจย่อมส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของการจ้างงานพ่อแม่ผู้ปกครอง และการย้านถิ่นฐาน
- เด็กทุกคนอยากศึกษาต่อ ดังนั้น หากช่วยกันปลดล็อกโจทย์ของครอบครัว และระบบการศึกษาที่มีควรยืดหยุ่น ทำให้เด็กเรียนไปด้วย หารายได้ไปด้วยจะช่วยลดเด็กหลุดนอกระบบ
- Thailand Zero Dropout ไม่สามารถลดเด็กหลุดนอกระบบเหลือ ศูนย์ทันที แต่จะค่อยๆ ลง จะมีเด็กที่อยู่นอกระบบชั่วคราว 2-3 แสนคน
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2567 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 แถลงข่าวเกี่ยวกับ GDP ไทยไตรมาส 1/2567ขยายตัวได้ 1.5% จากปีก่อนและขยายตัวได้ 1.1% จากไตรมาสที่ผ่านมา
สศช.ได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยทั้งปีในปี 2567 จาก 2.2 - 3.2% จะขยายตัวได้ 2 - 3% จากปัจจัยเรื่องสงครามการค้า และปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ รายงานขององค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยที่เกิดจากปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาไว้ถึงร้อยละ 1.7 ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงอย่างมีนัยยะสำคัญ
ขณะที่ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด คำนวณว่า หากประเทศไทยไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา จะทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น 3%
เมื่อเร็วๆ นี้ จากนโยบาย “Thailand Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ของรัฐบาล ที่มีเป้าหมายให้จำนวนเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลทุกมิติ สร้างระบบส่งต่อ พาเด็กเยาวชนกลับสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น มีทางเลือกที่ตอบโจทย์ชีวิตเป็นรายบุคคล เพื่อการเปิดประตูสู่อาชีพที่ดี ก้าวพ้นความจนข้ามรุ่นในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เหลื่อมล้ำยังรุนแรง!! กสศ. เสนอ 'ลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์ทุกช่วงวัย'
GDP ส่งผลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
วันนี้ (20 พ.ค.2567) ดร.ไกรยศ ภัทราวาท ผู้จัดการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจย่อมส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของการจ้างงานพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองกลุ่มนี้ทำงานในระบบสัญญาจ้างระยะสั้น และเป็นสัญญาจ้างรายวัน แถมจะถูกปรับลดค่าจ้างรายวันให้น้อยลง จากเดิมที่อาจจะได้ 200-300 บาท เหลือเพียง 100-150 บาท ดังนั้น เศรษฐกิจที่ชะลอตัว จะนำไปสู่การต่อรองค่าจ้าง และการย้ายถิ่นที่อยู่ของพ่อแม่
“เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี GDP ลดลง ย่อมทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองรายได้ลดลง และจะกระทบต่อตัวเด็กอยู่แล้ว ยิ่งผู้ปกครองกลุ่มที่ต้องทำงานรับจ้าง หรือทำงานก่อสร้างต้องย้ายถิ่นไปตามสถานที่ทำงาน ส่วนใหญ่จะไม่ได้ให้ลูกหลานของตัวเองเข้าเรียนหนังสือทันที แต่ต้องประเมินว่าจะอยู่ในจังหวัดนั้นๆ นานขนาดไหน ถึงจะให้ลูกหลานเข้าเรียน เด็กกลุ่มหนึ่งจึงตกหล่นจากระบบการศึกษา หรือบางคนเมื่อรายได้พ่อแม่ลดลง ลูกก็ต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อมาช่วยพ่อแม่ทำงาน” ดร.ไกรยศ กล่าว
ฉะนั้น หากรัฐบาลมีนโยบายให้ความยืดหยุ่นในเรื่องของเครื่องแบบนักเรียน หรือมีความยืดหยุ่นในเรื่องค่าใช้จ่าย การผ่อนผันค่าเทอม ช่วยให้การเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยของครอบครัว เด็กก็จะได้เรียนหนังสือ ไม่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา
เปิดเทอมค่าใช้จ่ายแพงขึ้นทุกรายการ
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจผลกระทบผู้ปกครอง ช่วงเปิดเทอม 2567 พบว่า ค่าใช้จ่ายเปิดเทอมแพงขึ้นในทุกรายการ ทำให้ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 25,322 บาท ต่อคน แบ่งเป็น
- ค่าเทอม เฉลี่ย 20,039.87 บาท เพิ่มขึ้น 59.9%
- ค่าบำรุงโรงเรียน 2,394.81 บาท เพิ่มขึ้น 24.9%
- ค่าบำรุงโรงเรียน (กรณีย้ายโรงเรียน/แป๊ะเจี๊ยะ) 8,573.93 บาท เพิ่มขึ้น 38.7%
- หนังสือ 2,446.28 บาท เพิ่มขึ้น 9.9%
- อุปกรณ์การเรียน 1,645.91 บาท เพิ่มขึ้น 29.3%
- ชุดนักเรียน พละ เนตรนารี-ลูกเสือ 1,993.75 บาท เพิ่มขึ้น 26.2 %
- รองเท้า-ถุงเท้า 1,224.39 บาท เพิ่มขึ้น 38%
- บริหารจัดการพิเศษ ประกันชีวิต 1,577.20 บาท เพิ่มขึ้น 33.5%
“ค่าเทอม ค่าบำรุงโรงเรียน ค่าครองชีพทางการศึกษา อาทิ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทาง และค่าอาหารมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นทุกปี” ดร.ไกรยศ กล่าว
ขณะที่เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาที่ผ่านมา มีมาตรการในการค้นหา/พาเด็กนอกระบบ 1 ล้านคน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้แก่ เด็กปฐมวัยที่ไม่ได้เข้าเรียนชั้นอนุบาล หรือเด็กตกหล่น เด็กประถมศึกษา ซึ่งกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนมากสุดในการไม่ได้ตกหล่นจากระบบการศึกษา ขณะที่เด็กประมศึกษา และมัธยมศึกษา จะเข้าเรียนล่าช้า พบว่า
"เด็กนอกระบบที่มีอายุ 3-18 ปี (เทียบเท่า อนุบาล 1- ม.6) จำนวน 1.02 ล้านคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และในเด็กกลุ่มนี้ พบว่า เด็กระดับป. 1- ม.3 หลุดออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับมากที่สุด 3.94 แสนคน"
ในปี 2566 มีการเชื่อมโยงข้อมูลเด็กและเยาวชนรายบุคคล เพื่อต้นเด็กและเยาวชนนอกระบบศึกษา ทั้ง 21 สังกัด ซึ่งแต่ละสังกัดมีฐานข้อมูลแยกกัน แต่ทุกๆ ปี สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้รวบรวมโดยห้ามนับซ้ำ และเชื่อมโยงข้อมูลประชากรจากทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อประมวลผลข้อมูล ฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา หรือหลุดออกจากระบบ 1.02 ล้านคน อย่างไรก็ตาม จะมีข้อมูลทั้งประเทศที่เป็นปัจจุบันปีละ 2 ครั้งต่อปี คือ วันที่ 10 มิ.ย. และ 10 พ.ย
10 จังหวัดเด็กนอกระบบมากสุด
ผู้จัดการกสศ. กล่าวต่อว่าข้อมูลของเด็กนอกระบบตั้งแต่อนุบาล 1- ม.6 จำนวน 1.02 ล้านคน พบว่า เด็กในช่วงอนุบาลเกือบครึ่งล้านคน ไม่ได้เข้าโรงเรียน โดย 10 จังหวัดที่มีเด็กนอกระบบมากที่สุด ได้แก่
- กรุงเทพมหานคร 137,704 หรือ 13.43%
- ตาก 65,371 คน หรือ 6.37%
- เชียงใหม่ 38,888 หรือ 3.6%
- ชลบุรี 35,081 คน หรือ 3.42%
- สมุทรปราการ 30,772 คน หรือ 3%
- นครราชสีมา 28,896 คน หรือ 2.82%
- สมุทรสาคร 28,435 คน หรือ2.77%
- ปทุมธานี 26,104 คน หรือ 2.55%
- เชียงราย 24,081 คน หรือ 2.35%
- สงขลา23,681 คน หรือ 2.31%
หากพิจารณาจากจังหวัดแล้วจะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดใหญ่ เป็นหัวเมืองใหญ่ๆ ในแต่ละภูมิภาค ที่มีการสมัครงานจำนวนมาก ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองในจังหวัดอื่นๆ มักจะไปหางานทำในจังหวัดเหล่านี้ และเด็กๆ จะติดตามพ่อแม่ผู้ปกครอง ย้ายถิ่นตามผู้ปกครอง และรอเวลาเข้าสู่ระบบการศึกษา
“จริงๆ แล้วการจะแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษานั้น หากผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาคมภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สามารถค้นหาติดตามและจะนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ เพราะจากข้อมูล เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา ปัญหาขนาดเพียง 1% ของประชากรในจังหวัดเท่านั้น เรื่องนี้ต้องดำเนินการในระดับจังหวัด เป็นโจทย์ที่ตั้งธงระดับประเทศ เนื่องจากหลักหมื่นคนต่อจังหวัด น่าจะแก้ปัญหาได้” ผู้จัดการกสศ. กล่าว
แนวโน้มการศึกษาต่อของเด็กปี 2567
จากการติดตามข้อมูลนักเรียนทุนเสมอภาคช่วงชั้นรอยต่อปีการศึกษา 2567 มีแนวโน้มการศึกษาต่อของนักเรียน ดังนี้ 326,139 คน คือจำนวนนักเรียนทุนเสมอภาคชั้นรอยต่อเมื่อเข้าสู่ปีการศึกษา 2567 ซึ่งสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับหน่วยจัดการศึกษา 6 สังกัด (สพฐ. อปท. ตชด. พศ. สช.และ กทม.) ได้สำรวจแนวโน้มการศึกษาต่อเมื่อช่วงภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566
ผลการติดตามแนวโน้มการศึกษาต่อในระบบซึ่งมีการบันทึกข้อมูลนักเรียนทุนเสมอภาคชั้นรอยต่อทั้งสิ้น 241,332 คน พบว่าในจำนวนนี้มีนักเรียน 235,483 คน คิดเป็น 97.58% “มีแนวโน้มศึกษาต่อ” ขณะที่นักเรียน 5,849 คน คิดเป็น 2.42% “มีแนวโน้มไม่ศึกษาต่อ”
สาเหตุที่นักเรียน 5,849 คน ระบุว่า “ไม่ศึกษาต่อ” พบว่า 3 อันดับแรก คือ เป็นความต้องการส่วนตัว/ครอบครัว 1,546 คน มีปัญหาด้านการเรียน 1,140 คน ต้องการทำงาน 1,063 คน นอกจากนี้มีระบุปัญหาด้านทุนทรัพย์ 711 คน ด้านสุขภาพ 442 คน ด้านศาสนา 413 คน ติดต่อไม่ได้ 359 คน และด้านที่อยู่อาศัย 164 คน (ทั้งนี้ไม่ระบุสาเหตุ 11 คน)
“เด็กทุกคนอยากจะศึกษาต่อแต่พวกเขามีข้อจำกัดต่างๆ ดังนั้น หากเราทุกคนช่วยกันปลดล็อกโจทย์ของครอบครัว และระบบการศึกษาที่ต้องมีควรยืดหยุ่น และทำให้เด็กเรียนไปด้วย หารายได้ไปด้วย เรื่องเหล่านี้สามารถทำได้ทันที ไม่ต้องอาศัยการสั่งการ อะไรที่โรงเรียนสามารถช่วยพ่อแม่ให้ลูกหลานนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ ควรปลดล็อกทำทันที” ดร.ไกรยศ กล่าว
งานยุคAI อีกปัจจัยพ่อแม่ตกงาน
ผู้จัดการกสศ. กล่าวต่อไปว่าสำหรับการทำงานของ Thailand Zero Dropout ดึงเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบศึกษานั้น ต้องมีการคัดกรองความยากจน และ ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนร่วมด้วย ขณะนี้กำลังรอผลการพิจารณาจากครม.ว่าจะมีมติอย่างไร จะให้มีการตั้งคณะกรรมการ โดยมีผู้ว่าราชการเป็นประธาน
มีการจัดทำ แอปพลิเคชั่น ที่จะเป็นการนำระบบฐานข้อมูลกลางจาก กสศ.ทั้ง DMC, OBEC Care, CCT, Q-info, TSQM, ABE และกองทุนจังหวัดเป็นฐานเชื่อมสู่ปลายทางที่เด็กทุกคนต้องได้เรียน และพาเด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียน มีการเยี่ยมบ้านนักเรียน การรับเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มเติม และจะเป็นการดูแลไปจนถึงจบการศึกษา โดยโรงเรียนต้องมีความยืดหยุ่น กสศ.ทำหน้าที่เป็นเพียงชี้เป้า
งบประมาณด้านการศึกษาของไทยลดลงทุกปี เพราะเด็กเกิดน้อย งบประมาณด้านการศึกษาจะจัดแย่งตามเงินอุดหนุนรายหัว เมื่อเด็กเกิดน้อย เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษางบประมาณก็จะลดลงไปด้วย การการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลาดแรงงานมีพลวัตรสูงมากขึ้น
"การเข้ามาของเทคโนโลยี อาทิ AI ล้วนทำให้การทำงานของกลุ่มคนหนึ่งหายไปหรือถูกแทนที่ด้วย AI ดังนั้น เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กกลุ่มหนึ่งตกงาน เด็กก็ย่อมได้รับผลกระทบ ภาครัฐ ภาคการศึกษาต้องมีความยืดหยุ่น ภาคเอกชนต้องเข้ามาช่วยจัดการศึกษา และเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย"ดร.ไกรยศ กล่าว
ทั้ง กสศ. ได้ร่วมกับ 12 หน่วยงาน ในการยื่นประเด็น 4 ด้าน ให้ทางคณะรัฐมนตรีพิจารณา ได้แก่ 1.ควรแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นประจำในแต่ละสังกัด และมีมาตรการในการดูแลข้อมูล 2.มีกลไกในการค้นหาเด็ก การกระจายอำนาจในแต่ละจังหวัด มีการทำงานระดับจังหวัด 3. การมีความยืดหยุ่น ส่งเสริมการอาชีพ การมีงานทำให้แก่เด็ก ให้เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย และ 4. แรงจูงใจทางภาษีให้ภาคเอกชนดูแลเด็กกลุ่มนี้
Thailand Zero Dropout ไม่ได้ศูนย์ทันที
ดร.ไกรยศ กล่าวด้วยว่ากระบวนการค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษานั้น เมื่อได้ข้อมูลเยาวชนจากการสำรวจในแต่ละจังหวัด ซึ่งหากสำรวจไม่พบ เช่น หาบ้านไม่พบ เสียชีวิต เด็กอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ย้ายที่อยู่ อยู่ในระบบการศึกษาหรือไม่มีข้อมูล จะมีการระบุสถานะและปรับปรุงข้อมูลในระบบ Thailand Zero Dropout
หากสำรวจพบ จะคัดกรองปัญหาโดย อสม./CM ว่าเด็กพร้อมที่เข้าสู่ระบบการศึกษา หรือไม่พร้อม ถ้าพร้อม จะเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็ก ทั้งในระบบ การศึกษาที่มีความยืดหยุ่น หรือการฝึกอาชีพ แต่หากไม่พร้อม ก็จะส่งไปเตรียมความพร้อมฟื้นฟู 3-6 เดือน และนำเข้าสู่ระบบการศึกษา
“ถ้าทำตามกระบวนการที่กล่าวได้ ตัวเลขเด็กหลุดระบบ 1 ล้านคน จะค่อยๆ ลดลง แต่ไม่สามารถลดลงได้ทันที หรือเหลือ ศูนย์ทันที จะมีเด็กที่อยู่นอกระบบชั่วคราว 2-3 แสนคน แต่เด็กกลุ่มนี้จะไม่ได้อยู่นอกการสำรวจ เด็กทุกคนจะมีแผน มีเส้นทางในการเข้าระบยการศึกษา” ดร.ไกรยศ กล่าว