จุฬาฯ ติด Top 100 ของโลกด้านชื่อเสียงทางวิชาการ-ผลลัพธ์การจ้างงาน
จุฬาฯ โดดเด่นครองที่ 1 มหาวิทยาลัยไทยและเป็นหนึ่งเดียวของไทยใน Top 100 ของโลกด้านชื่อเสียงทางวิชาการและผลลัพธ์จากการจ้างงาน ใน QS World University Rankings 2025
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยอีกครั้ง จากผลการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาที่ดีที่สุดในโลก QS World University Rankings (WUR) 2025 ซึ่งประกาศผลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567
จุฬาฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทย และติด Top 100 ของโลก 2 ด้าน คือ ด้านชื่อเสียงทางวิชาการ (Academic Reputation) และด้านผลลัพธ์การจ้างงาน (Employment Outcomes)
นอกจากนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้รับการจัดอันดับภาพรวมให้เป็นที่ 1 ในไทย อันดับ 57 ของเอเชีย และอันดับ 229 ของโลก โดยการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR 2025 ประเมินจากสถาบันอุดมศึกษา 1,500 แห่งทั่วโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'วิศวฯ จุฬาฯ' พัฒนา Green Talent ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
นิสิต BBA จุฬาฯ คว้าแชมป์ กวาด 10 รางวัล ประกวดแผนธุรกิจเวทีระดับโลก
จุฬาฯติด Top 100 ของโลก ด้านชื่อเสียงทางวิชาการและผลลัพธ์การจ้างงาน
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR 2025 อาศัยตัวชี้วัด 9 ด้าน ประกอบด้วย
- ชื่อเสียงทางด้านวิชาการ (Academic Reputation) 30%
- การอ้างอิงผลงานทางวิชาการ (Citations per Faculty) 20%
- การยอมรับจากนายจ้าง (Employer Reputation) 15%
- ผลลัพธ์จากการจ้างงาน (Employment Outcomes) 5%
- สัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษา (Faculty Student Ratio) 10%
- สัดส่วนอาจารย์ต่างชาติ (International Faculty) 5%
- เครือข่ายการวิจัยระหว่างประเทศ (International Research Network) 5%
- สัดส่วนนักศึกษาต่างชาติ (International Students) 5%
- ความยั่งยืน (Sustainability) 5%
107 ปี จุฬาฯผู้นำแห่งการสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรม
จุฬาฯ มีเป้าหมายที่จะเป็นสถาบันการศึกษาต้นแบบ วางมาตรฐานการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นไปที่หลักการสำคัญสามประการในการพัฒนาสังคม ได้แก่ การผลิตนิสิตผู้นำแห่งอนาคต การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์สู่สังคม และการสนับสนุนการพัฒนาความยั่งยืนทางสังคม
ทั้งนี้ ในฐานะสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อุทิศตนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางวิชาการและความเป็นเลิศทางวิชาชีพ มีพันธกิจและความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยในการให้บริการสาธารณะเป็นไปตามพระวิสัยทัศน์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระราชบิดา
ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาและพัฒนาความรู้หรือการประยุกต์ใช้และเผยแพร่แนวคิดที่ได้เรียนรู้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำงานเพื่อส่งเสริมนิสิตด้วยความรู้และทักษะทางวิชาชีพและการวิจัย ตลอดจนอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม และค่านิยม นอกเหนือจากการเรียนรู้ทางวิชาการแล้ว มหาวิทยาลัยยังมีความมุ่งมั่นในการปลูกฝังให้บัณฑิตจุฬาฯ มีจิตสำนึกในคุณธรรม รับผิดชอบต่อสังคม และบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม