มติ ก.พ.ร. กำหนดโครงสร้างใหม่ สกร.มีเงื่อนไขยุบศูนย์วิทย์ฯใน 3 ปี
บอร์ด ก.พ.ร.เห็นชอบโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มี 7 กอง 2 กลุ่มงาน กำหนดเงื่อนไขภายใน 3 ปี ยุบเลิก-โอนถ่ายภารกิจศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ให้หน่วยงานรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ส่วนราชการดำเนินการแทน
นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (อธิบดี สกร.) เปิดเผยว่า ตนได้รับหนังสือด่วนที่สุด จากสำนักงานพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) แจ้งมติเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)กระทรวงศึกษาธิการ ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 มีมติให้ความเห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างของ สกร. ตามความเห็นชองของคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) ดังนี้
การแบ่งส่วนราชการภายใน สกร. มีจำนวน 7 กอง 2 กลุ่มงาน ได้แก่ สำนักงานเลขานุการกรม, กองบริหารทรัพยากรบุคคล, กองมาตรฐานและส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิ, กองยุทธศาสตร์และแผนงาน, กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้, ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้, ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์, กลุ่มตรวจสอบภายใน และกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
โดยกำหนดเงื่อนไขให้โอนถ่ายภารกิจศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ (ท้องฟ้าจำลอง) ให้หน่วยงานรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ส่วนราชการเข้ามาดำเนินการแทน และยุบเลิกศูนย์วิทย์ฯ ภายใน 3 ปี นับจากกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการมีผลใช้บังคับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดแล้ว! “คณะเภสัชศาสตร์” สถาบันIESA หลักสูตรผสานจิตวิญญาณ Entrepreneur
จัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านองค์กร ระยะ 5 ปี
อธิบดี สกร. กล่าวต่อไปว่า ก.พ.ร. กำหนดให้ สกร.จัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านองค์กร (OD Transition plan ) ระยะ 5 ปี และเสนอ ก.พ.ร. พิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 6 เดือนนับจากกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการมีผลใช้บังคับ โดยสาระสำคัญของแผนเปลี่ยนผ่านองค์กรระยะ 5 ปี ต้องครอบคลุมทั้งด้านการปรับบทบาทและถ่ายโอนภารกิจ การพัฒนาระบบและวิธีการทำงานที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพ กลไกการบริหารงาน การทบทวน เกลี่ย และกำหนดอัตรากำลัง
การคัดเลือกข้าราชการเข้าสู่ตำแหน่ง การพัฒนาบุคลากรเพื่อปรับปรุงทักษะ (Reskill) เพิ่มทักษะ (Upskill) และสร้างทักษะใหม่ (New skills) รวมทั้งการส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพแก่พนักงานราชการตำแหน่งครู โดย OD Transition Plan ดังกล่าวต้องกำหนดตัวชี้วัดเชิงผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) และผลสัมฤทธิ์ (Results) เชิงประจักษ์ที่เป็นรูปธรรม เพื่อประเมินความคุ้มค่าของการจัดตั้งหน่วยงาน ซึ่ง สกร.ต้องจัดส่งแผนดังกล่าวให้สำนักงาน ก.พ.ร. ภายใน 6 เดือน เพื่อสำนักงาน ก.พ.ร. ใช้ในการติดตามประเมินผลต่อไป
ทดลองจัดตั้งหน่วยขนาดเล็ก (Sandbox Unit)
นายธนากร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนองค์กรและบุคลากรในระยะต่อไปให้ดำเนินการ ดังนี้ ทดลองจัดตั้งหน่วยขนาดเล็ก (Sandbox Unit) โดยพิจารณาภารกิจหลักบางงานมาดำเนินการ เช่น การออบแบบหลักสูตรหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ โดยคัดเลือกคนรุ่นใหม่ หรือ ยืมตัวบุคลากรที่มีศักยภาพจากหน่วยงานอื่นมาปฏิบัติงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานลงไปสู่การปฏิบัติจริงได้ในระดับพื้นที่บางจังหวัดหรือบางอำเภอ
ทั้งติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงาน Sandbox Unit ดังกล่าว เพื่อนำมาพัฒนาขยายผล และกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ปฏิบัติงานจริงโดยคัดเลือกบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพจากส่วนราชการต่าง ๆ เข้าสู่กระบวนการพัฒนาส่งเสริมการเรียนรู้ในประเด็นนโยบายหรือยุทธศาสตร์สำคัญ
รวมถึงให้ สกร. ปรับตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายให้สอดคล้องเหมหาะสมตามที่กำหนดในแผนเปลี่ยนผ่านองค์กร และรายงานผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดสำคัญดังกล่าวใหสำนักงาน ก.พ.ร. ทราบ นับตั้งแต่กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการมีผลใช้บังคับ และต่อเนื่องทุกปี จนถึงปีงบประมาณ 2571
“ ขั้นตอนหลังจากนี้ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะส่งร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาตรวจพิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ประกาศในราขกิจจานุเบกษาต่อไป ขณะเดียวกัน สกร.จะนำมติ ก.พ.ร. เสนอคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อพิจารณากำหนดสถานะหน่วยงานการศึกษา และสถานศึกษา สังกัด สกร. รวมถึงกำหนดมาตรฐานตำแหน่ง และกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาควบคู่ กันไป ” อธิบดี สกร. กล่าว.