เฉียบ! ม.ขอนแก่น ไล่ออก 3 อาจารย์ซื้อขายผลงานวิจัย พร้อมดำเนินคดี 

เฉียบ! ม.ขอนแก่น ไล่ออก 3 อาจารย์ซื้อขายผลงานวิจัย พร้อมดำเนินคดี 

ม.ขอนแก่น เฉียบไล่ออกอาจารย์ 3 รายซื้อขายผลงานวิจัยพร้อมดำเนินคดี รองปลัด อว. เผย สำนักงานปลัด อว. ร่วมกับทุกมหาวิทยาลัยตรวจเข้ม ไล่ออกแล้ว 6 ราย จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 1 ราย ม.เชียงใหม่ 2 ราย และล่าสุด ม.ขอนแก่น 3 ราย

KEY

POINTS

  • ม.ขอนแก่นมีคำสั่งลงโทษ “ไล่ออก” - "โทษอาญา" อาจารย์ 3 รายซื้อขายผลงานวิจัย
  • อว.แจ้งผลตรวจสอบปี 2566 พบนักวิจัย 109 ราย จาก 33 สถาบัน เข้าข่ายผลงานวิจัยผิดปกติ 
  • ปัจจุบันไล่ออกแล้ว 6 ราย ได้แก่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 1 ราย  ม.เชียงใหม่ 2 ราย และล่าสุด ม.ขอนแก่น 3 ราย

เมื่อวันที่ 16 ก.ค.67 สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้รับแจ้งผลการสอบวินัยร้ายแรง กรณีการซื้อขายผลงานวิจัยของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า ขณะนี้ ม.ขอนแก่นได้ดำเนินการสอบสวนและพิจารณาโทษทางวินัยแก่อาจารย์จำนวน 3 รายที่กระทำผิดจริงเสร็จสิ้นแล้ว โดยได้มีคำสั่งลงโทษ “ไล่ออก” ทั้ง 3 ราย นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างแจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลทั้ง 3 รายอีกด้วย

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีข่าวการซื้อขายงานวิจัยเมื่อต้นปี 2566  ทางสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการดำเนินการตรวจสอบ

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า นักวิจัย 109 ราย จาก 33 สถาบัน เข้าข่ายผลงานวิจัยผิดปกติ จึงส่งข้อมูลให้มหาวิทยาลัยตรวจสอบข้อเท็จจริง ปัจจุบันได้มีการตรวจสอบเกือบครบถ้วนแล้ว  และมี 14 รายที่พบความผิดปกติจริง และบางรายได้มีการตั้งกรรมการลงโทษทางวินัย

เป็นผลให้ ปัจจุบัน มีการไล่ออกแล้ว 6 ราย ได้แก่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 1 ราย  ม.เชียงใหม่ 2 ราย และล่าสุด ม.ขอนแก่น 3 ราย

“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในวงการวิชาการ การซื้อผลงานวิจัยที่ไม่ใช่ของตนเอง เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในแวดวงวิชาการ ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยที่มีมาตการตรวจสอบอย่างเข้มแข็ง และนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด ปัจจุบัน สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ยังมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง หากมีความผิดปกติก็จะแจ้งมหาวิทยาลัยให้ดำเนินการต่อไป” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว

ส่วนกรณีการซื้อขายวุฒิปริญญาของมหาวิทยาลัยเอกชนนั้น น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า หลังจากที่ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวง อว. ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีการซื้อขายวุฒิปริญญาของมหาวิทยาลัยเอกชน โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. เป็นประธานและมีคณะกรรมการ ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกและผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวง อว.จำนวน 9 คน

ล่าสุดได้รับรายงานจาก ศ.ดร.ศุภชัย ว่า คณะกรรมการฯ ได้จัดประชุมเป็นครั้งแรกเพื่อกำหนดแนวทางและแผนการดำเนินการและมีมติให้ขอเอกสารพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากมหาวิทยาลัยทั้งสิ้นจำนวน 11 รายการ โดยกำหนดระยะเวลาให้มหาวิทยาลัยจัดส่งให้คณะกรรมการภายใน 15 วัน และเห็นชอบเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ถ้อยคำในเบื้องต้นมีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 9 ราย

หากข้อมูลเชื่อมโยงมากกว่า 9 ราย ก็ต้องเรียกสอบเพิ่ม เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการคาดว่าจะสรุปข้อเท็จจริงให้ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ 

รมว.อว. กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่และมีการประชุมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยดังกล่าวมาแล้วทำให้ทราบข้อมูลเบื้องต้น ยืนยันว่าการสืบสวนจะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

“ที่สำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก กระทรวง อว.จะใช้มาตรการอย่างเข้มข้นจากประกาศกฎกระทรวง “กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาการเปิดเผยและการส่งข้อมูลการอุดมศึกษา พ.ศ.2566” โดยในหมวด 3 ได้ระบุให้มหาวิทยาลัยจัดส่งข้อมูลของผู้เรียน เช่น รายชื่อนักศึกษา เลขบัตรประจำตัวประชาชน รวมถึงข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาหรือผู้ได้รับปริญญาบัตรมาให้กระทรวง อว.

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ที่มีชื่อสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาบัตรมาอย่างถูกต้องหรือไม่ เช่น เพิ่งมีชื่อสมัครเข้าเรียนปีนี้ แต่ปีหน้าได้รับปริญญาเลย แบบนี้ถือว่าผิดปกติแน่นอน“ น.ส.ศุภมาส กล่าว