'ดีป้า' ประกาศผล 100 ทีมผ่านเข้าสู่รอบ Final เวที Coding War
'ดีป้า' ประกาศผล 100 ทีมผ่านเข้าสู่รอบ Final เวที Coding War สนามแข่งโค้ดดิ้งใหญ่สุดในประเทศชิงรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท พร้อมลุ้นรับสิทธิ์ร่วมแข่งขันเวทีระดับนานาชาติ
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจากกิจกรรม Coding Bootcamp ใน 8 ภูมิภาค กิจกรรมภายใต้โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย พร้อมประกาศผล 100 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่กิจกรรมบ่มเพาะ ติวเข้ม ก่อนชิงแชมป์บนเวที Coding War รอบ Final ระบุโครงการดังกล่าว ช่วยยกระดับทักษะด้านโค้ดดิ้งและเทคโนโลยี แก่กำลังคนดิจิทัลให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง เท่าทันโลกที่เทคโนโลยีมีบทบาท ตอบความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนดิจิทัลของประเทศได้อย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า กิจกรรม Coding Bootcamp & Roadshow และกิจกรรม Coding War ทั้งรูปแบบ Online และ On Ground ใน 8 ภูมิภาคทั่วประเทศ (จังหวัดขอนแก่น กรุงเทพมหานคร อุบลราชธานี พิษณุโลก เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี และสงขลา) กิจกรรมภายใต้โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ที่ ดีป้า ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มีบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน คุณครู ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'ดีป้า' ล่องใต้โรดโชว์สร้างสกิล 'โค้ดดิ้ง' ปูความรู้สร้างอาชีพใหม่เด็กไทย
"ดีป้า"เพิ่มทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล ส่งเสริม "Coding"8 ภูมิภาคทั่วไทย
ยกระดับการเรียนCoding ทั่วประเทศ
สร้างการเข้าถึงการเรียนรู้ด้านดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพแก่เยาวชน เกิดการพัฒนาต่อยอดศักยภาพสู่การประยุกต์ใช้ทักษะโค้ดดิ้ง มีการพัฒนาหลักสูตร และการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งที่เหมาะสมกับครูและนักเรียน นำไปสู่การยกระดับการเรียนโค้ดดิ้งทั่วประเทศ เป็นการสร้างเมล็ดพันธุ์ดิจิทัล เพื่อสร้างรากฐานอนาคตของประเทศ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนดิจิทัลอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ภายใต้การดำเนินกิจกรรมในแต่ละรอบภูมิภาค มีผู้เชี่ยวชาญร่วมให้ความรู้ด้านโค้ดดิ้งทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้กับทั้งครูและนักเรียน จำนวนกว่า 400 คน จากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Coding for Better Life พร้อมเปิดโอกาสให้แต่ละทีม ประกอบด้วยครู 1 คน และนักเรียน 3 คน สร้างผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ประกวดแข่งขันประชันไอเดียเพื่อชิงความเป็น 1 ใน 10 ทีม ที่มีผลงานโดดเด่นในแต่ละภูมิภาค
โดยภายหลังสิ้นสุดกิจกรรม Coding Bootcamp มีผลงานที่ผ่านการคัดเลือกรวม 80 ทีมจากกิจกรรม Coding Bootcamp จาก 8 ภูมิภาค และ อีก 20 ทีมจากกิจกรรม Coding War จากโรงเรียนทั่วประเทศไทยที่สามารถส่งผลงานเข้าร่วมประกวดและมีการนำเสนอ (Pitching) กับคณะกรรมการในแต่ละภูมิภาค รวมผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรรมการทั้งหมด 100 ทีมที่จะได้เข้าร่วมการแข่งขันในเวที Coding War รอบ Final ต่อไป
ผลงานโค้ดดิ้ง สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน
หนึ่งในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล คือ การปูพื้นฐานความรู้ สร้างความเข้าใจเรื่อง Coding ให้เด็กตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษาให้มีทักษะทางด้านโค้ดดิ้ง และคอมพิวเตอร์แบบรวดเร็ว โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย โดย ดีป้า จึงดำเนินการกับโรงเรียน 1,500 แห่งทั่วประเทศ ทั้งการจัดสรรอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยเพื่อการเรียนการสอน จัดกิจกรรมโค้ดดิ้ง บูธแคมป์ โรดโชว์ ให้ครูและนักเรียนได้เข้าร่วมพัฒนาทักษะโค้ดดิ้งอย่างเข้มข้น
"เราได้เห็นการนำเสนอผลงานโค้ดดิ้ง สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นไอเดียใหม่ ๆ ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน และโลกอนาคต นักเรียนจากทุกภูมิภาคได้ลงมือเรียนรู้และปฏิบัติจริง นอกจากนี้ ดีป้า ยังสร้างครูกว่า 3,000 คนให้มีความรู้ความเข้าใจทักษะ Coding เพิ่มมากขึ้น ซึ่งครูกลุ่มนี้จะเป็นแม่พิมพ์ที่ผลิตเด็กด้านนี้ในรุ่นถัด ๆ ไป"ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ปัณรสี ฤทธิประวัติ ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาหลักสูตรของโครงการฯ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับน้อง ๆ ที่ได้ผ่านเข้าสู่การแข่งขัน Coding War ทั้ง 100 ทีม โดยในรอบต่อไปจะเป็นการแข่งขันที่มีความเข้มข้นขึ้น ทางคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องการคัดเลือกตัวแทนที่จะไปแข่งขันต่อในเวทีระดับนานาชาติ จึงพิจารณาผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนำไปต่อยอดสู่การใช้งานได้จริง มีไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆที่น่าสนใจ สิ่งสำคัญ คือ ต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม
“คณะกรรมการยังให้ความสำคัญกับไอเดียใหม่ที่แตกต่าง และการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะการนำไปทดลองใช้จริงกับกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่แค่คิด และจบอยู่ในห้องเรียน ต้องแสดงให้เห็นถึงการต่อยอดและสร้างความแตกต่าง แสดงให้เห็นได้ว่าตอบโจทย์ได้ดีกว่าเดิม และแสดงกระบวนการพัฒนาผลงาน ตั้งแต่ไอเดียเริ่มต้นจนถึงผลิตภัณฑ์สุดท้าย โดยทีมที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 100 ทีมจะเข้าสู่กิจกรรมบ่มเพาะ ก่อนเข้าสู่สนามแข่งขันในเวทีระดับประเทศ Coding War เพื่อเพิ่มพูนทักษะในการนำเสนอและมุมมองด้านธุรกิจ และเฟ้นหาทีมชนะเลิศเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ ” รศ.ดร.ปัณรสี กล่าว
สำหรับกิจกรรม Coding War รอบ Final มหกรรมการแข่งขันทักษะโค้ดดิ้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยจะจัดขึ้นที่ MCC Hall เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ ระหว่างวันที่ 13 - 15 กันยายนนี้ เพื่อเฟ้นหาสุดยอดผลงานชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท และรับสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันโค้ดดิ้งเวทีระดับนานาชาติอย่าง Seoul International Invention Fair 2024 (SIIF 2024) ณ สาธารณรัฐเกาหลี