DPU อบรม AI ยุคใหม่ เสริมแกร่งผู้ตรวจสอบภายใน ตอกย้ำม.ดิจิทัล

DPU นำทีมสู่อนาคต จัดอบรม AI ยุคใหม่ เสริมแกร่งผู้ตรวจสอบภายใน เพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำ ตอกย้ำวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยดิจิทัล
สถาบันพัฒนานักวิชาชีพบัญชี (IPAD) ภายใต้วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดโครงการอบรมบริการวิชาการในหัวข้อ “AI ความท้าทายของผู้ตรวจสอบภายใน” ระหว่างวันที่ 26 และ 27 มีนาคม 2568 ณ อาคารสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำ Artificial Intelligence (AI) มาช่วยในงานตรวจสอบภายใน อันเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำให้แก่กระบวนการตรวจสอบ พร้อมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของการใช้งานเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและรอบคอบ
การอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรรับเชิญที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ได้แก่ อาจารย์ธนัท เกิดเจริญ Certified Internal Auditor (CIA), Certificate in Risk Management Assurance (CRMA), Certified Information Systems Auditor (CISA) และ Certified Fraud Examiner (CFE) และ อาจารย์ณัฐพงศ์ เหลืองนฤดม หัวหน้าหลักสูตรระบบสารสนเทศเพื่อธุรกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้มอบความรู้และประสบการณ์ ทั้งในเชิงทฤษฎีและการปฏิบัติจริง ผ่านตัวอย่างกรณีศึกษาจริงๆ (Use Cases)ที่เกี่ยวข้องให้กับผู้เข้าร่วมอบรม ทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถเข้าใจและนำไปปรับใช้ได้ทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เรียนรู้ AI ในกระบวนการตรวจสอบ
บรรยากาศของการอบรมครั้งนี้เต็มไปด้วยความสนใจและความตั้งใจจากผู้เข้าร่วมหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ผู้ตรวจสอบภายใน เจ้าของกิจการ คณาจารย์ และบุคคลทั่วไป ที่มุ่งมั่นเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ในแวดวงธุรกิจและการบัญชี จนที่นั่งลงทะเบียนถูกจองเต็มอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวและความต้องการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI และบทบาทของ AI ในกระบวนการตรวจสอบและการทำงานในภาคธุรกิจ
ดร.อรัญญา นาคหล่อ ผู้จัดการสถาบันพัฒนานักวิชาชีพบัญชี (IPAD) และอาจารย์ประจำหลักสูตรบัญชียุคดิจิทัล วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า AI มีศักยภาพในการช่วยลดเวลาในกระบวนการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ผู้ใช้งานยังต้องพิจารณาความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูลอย่างรอบคอบ เนื่องจาก AI อาจสร้างข้อผิดพลาด หรือดึงข้อมูลจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือหรือไม่มีแหล่งอ้างอิง มนุษย์จึงยังคงเป็นส่วนสำคัญในการตรวจสอบและคัดกรองข้อมูล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีคุณภาพสูงสุด
เจาะลึกเทคนิคการสั่งงาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับเนื้อหาของการอบรมในวันแรกครอบคลุมเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับ AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถสร้างข้อมูลใหม่ตามคำสั่งของผู้ใช้งาน โดยผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ข้อจำกัดและความเสี่ยงในการใช้งาน เช่น การที่ AI อาจให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง หรืออ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ
นอกจากนี้วิทยากรยังได้แนะนำเทคนิคสำคัญในการใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นเรื่อง Prompt Engineering ซึ่งช่วยให้การสั่งงาน AI ให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำและตรงความต้องการมากที่สุด เช่น การกำหนดบทบาทให้ชัดเจนในคำสั่ง เช่น “นักวิเคราะห์ข้อมูล” หรือ “ผู้ตรวจสอบบัญชี” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานมากยิ่งขึ้น
Workshop ทดลองใช้ AI กับงานตรวจสอบจริง
ส่วนการอบรมในวันที่สองผู้เข้าร่วมอบรมได้เข้าสู่การ Workshop ที่เน้นการใช้งานจริง โดยวิทยากรได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองปฏิบัติใช้งาน AI กับ เคสงานจริงที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบภายใน ตั้งแต่การวางแผนการตรวจสอบ การสุ่มข้อมูลเพื่อตรวจสอบ ไปจนถึงการช่วยเขียนรายงานการตรวจสอบด้วย AI
นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเทียบระหว่างการใช้ AI ในรูปแบบฟรีและแบบเสียเงิน รวมถึงการใช้เทคนิคเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดึงข้อมูลเชิงลึก ซึ่งช่วยให้ผู้เข้าอบรมได้เห็นถึงประโยชน์ของ AI ในการช่วยประหยัดเวลาและเพิ่มความแม่นยำในงานวิชาชีพ แต่ในขณะเดียวกันก็เน้นถึงบทบาทสำคัญของมนุษย์ในการตรวจสอบและอนุมัติข้อมูล
PDPA และข้อกำหนดการคุ้มครองข้อมูลในงาน AI
อีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจในการอบรมครั้งนี้คือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการใช้งาน AI โดยเฉพาะในกรณีของ ChatGPT ที่วิทยากรได้อธิบายว่าข้อมูลที่กรอกเข้าสู่ระบบ AI จะไม่ถูกนำไปอัปเดตหรือเปิดเผย เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิ์ของผู้ใช้งาน
ดร.อรัญญา ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เพิ่งทราบจากวิทยากรว่า ChatGPT มีเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลนี้ หมายถึงการห้ามนำข้อมูลส่วนบุคคลไปเปิดเผย อีกทั้งยังยืนยันว่าข้อมูลที่ผู้ใช้งานถามหรือป้อนเข้าสู่ระบบจะไม่ถูกนำไปอัปเดตในฐานข้อมูล และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเหล่านั้น
นอกจากนี้ วิทยากรยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ChatGPT ในเวอร์ชันใหม่ ได้กำหนดกฎที่ชัดเจนเกี่ยวกับการไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้งาน ซึ่งช่วยลดความกังวลของผู้ใช้เกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล และสร้างความมั่นใจในการใช้งาน AI อย่างเหมาะสมในอนาคต
ทั้งนี้ เสียงตอบรับจากการอบรมสะท้อนถึงผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม โดยหลายฝ่ายเห็นว่ากิจกรรมครั้งนี้ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่แก่ผู้เข้าร่วมเกี่ยวกับการนำ AI ไปปรับใช้ในงานของตนเอง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยมีโอกาสได้เรียนรู้การใช้ AI อย่างลึกซึ้งมาก่อน ดร.อรัญญา กล่าวเสริมว่า เสียงตอบรับเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ AI ที่สามารถช่วยยกระดับการทำงานในสายวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ก่อนปิดกิจกรรม ดร.อรัญญา ยังย้ำด้วยความมั่นใจว่า AI เปรียบเสมือนผู้ช่วยที่ยอดเยี่ยม หากเราเข้าใจและเรียนรู้วิธีการใช้งานที่ถูกต้อง AI จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยพัฒนางานของเราให้เดินหน้าไปในทิศทางที่เหมาะสม พร้อมทั้งช่วยประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างมหาศาล
การจัดอบรม “AI ความท้าทายของผู้ตรวจสอบภายใน” ในครั้งนี้ ไม่เพียงสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้เข้าร่วม แต่ยังเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ตอกย้ำถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในการส่งเสริมความรู้และทักษะทางเทคโนโลยีให้กับบุคลากร พร้อมผลักดันให้พวกเขาก้าวไปสู่อนาคตด้วยศักยภาพที่เต็มเปี่ยม ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารและโครงการอื่น ๆ ได้ผ่าน Line OA ของสถาบันพัฒนานักวิชาชีพบัญชี หรือ ทางเว็บไซต์ https://www.dpu.ac.th/ipad/