เปิดอบรม 'ทักษะเอไอ-ความปลอดภัยไซเบอร์' เสริมเกราะดิจิทัลนศ.

DPU ผนึก สกมช. และ Microsoft เปิดอบรม “ทักษะเอไอ-ความปลอดภัยไซเบอร์” เสริมเกราะดิจิทัลให้นักศึกษา รับมือภัยออนไลน์-พร้อมใช้ AI อย่างสร้างสรรค์ในโลกอนาคต
เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2568 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับ สํานักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพิเศษภายใต้หัวข้อ “เปิดโลกทักษะ AI และ ความปลอดภัยทางไซเบอร์” ให้แก่นักศึกษาและเยาวชน เพื่อเสริมสร้างทักษะและภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล ผ่านการเรียนรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการป้องกันภัยไซเบอร์ที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญของยุคปัจจุบัน
โดยมี อาจารย์กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช Head of Academic Group 2 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานเปิดการอบรมในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมสนม สุทธิพิทักษ์อนุสรณ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' MOU วิจัยร่วม'สปสช.'สร้างองค์ความรู้ด้านการแพทย์
ใช้ AI อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย
อาจารย์กอบกิจ กล่าวเปิดอบรม “เปิดโลกทักษะ AI และ ความปลอดภัยทางไซเบอร์” ว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือสำคัญระหว่างมหาวิทยาลัยและไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ในการมอบความรู้ดี ๆ ในสองประเด็นหลัก อันได้แก่ “การสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์” และ “การใช้ AI อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย” โดยเน้นให้นักศึกษาเข้าใจเท่าทันกลยุทธ์ของมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ และสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างชาญฉลาด
“เรื่องภัยไซเบอร์ บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือคิดว่าตนเองจะไม่มีวันโดนหลอก แต่ในความเป็นจริง แม้แต่คนใกล้ตัวของผมก็ยังเคยตกเป็นเหยื่อของลิงก์ปลอม เพราะเชื่อว่าเป็นของจริง ส่งผลให้ข้อมูลบัตรเครดิตรั่วไหลจนสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก เรื่องแบบนี้ไม่ใช่แค่ตัวนักศึกษาเท่านั้นที่ควรระวัง แต่รวมถึงผู้ปกครอง และ ผู้สูงอายุซึ่งอาจมีทักษะความรู้เท่าทันด้านเทคโนโลยีไม่มาก” อาจารย์กอบกิจ กล่าว
สร้างภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันกลลวง ภัยไซเบอร์
ผศ.ลลิตา สันติวรรักษ์ กรรมการและประชาสัมพันธ์ สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ (CIPAT) รับหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการอยู่รอดให้ปลอดภัยในยุคมิจฉาชีพครองเมือง โดยสร้างภูมิคุ้มกันในการท่องโลกออนไลน์อย่างปลอดภัยด้วยการรู้เท่าทันกลลวงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการหลอกให้ปฏิบัติภารกิจเพื่อแลกกับค่าตอบแทน หรือการหลอกลวงเพื่อให้ลงทุนด้วยวิธีการต่าง ๆ
“การตรวจสอบเฟซบุ๊กแฟนเพจว่าอันไหนจริง อันไหนปลอม ทุกคนสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการดูข้อมูลในส่วน ความโปร่งใสของเพจ เพื่อตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นว่าแฟนเพจนั้น ๆ มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เพื่อป้องกันการเกิดการหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ นอกจากนี้อยากฝากให้ผู้เข้าอบรมนำเทคนิคเหล่านี้ไปเผยแพร่กับคนในครอบครัวให้รู้เท่าทัน และใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย” ผศ.ลลิตา กล่าว
ทั้งนี้ในช่วงหลังของการอบรมจะมีการเปิดเวทีให้ผู้แทนจาก Microsoft ถ่ายทอดประสบการณ์การใช้ “Microsoft Copilot” เครื่องมือ AI ประสิทธิภาพสูงที่เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยเชิญชวนให้นักศึกษาได้รู้จักและเรียนรู้การใช้งานเครื่องมือนี้อย่างลึกซึ้ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตและทำงานในยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ ใครที่ยังไม่รู้จัก Copilot ของไมโครซอฟท์ หรือยังคิดว่าแค่รู้จักก็พอ อยากให้เปิดใจรับฟังจากวิทยากรของเราในวันนี้ เพราะนี่คือโอกาสที่จะได้เข้าใจว่า AI ของไมโครซอฟท์มีอะไรที่ล้ำหน้า และจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
ด้านนายชนะชัย อเนกชัยวุฒิ Microsoft Certified Trainer วิทยากรผู้ดำเนินการอบรม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ใช้เวลาในการอบรมรวม 3 ชั่วโมง ครอบคลุม 2 หัวข้อสำคัญ
โดยหัวข้อแรกเป็นการเสริมทักษะพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Literacy) ซึ่งผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ในยุคปัจจุบัน โดยเนื้อหาจะครอบคลุมทั้งด้านทฤษฎีและการใช้งานจริง เช่น การฝึกใช้ AI เบื้องต้น ด้วยเครื่องมือ Microsoft Copilot ซึ่งเป็นระบบ Generative AI ที่มีความสามารถในการรับคำสั่ง การสรุปเนื้อหา การสร้างสรรค์ผลงาน และการช่วยวางแผน , การประยุกต์ใช้ AI ในบริบทของนักเรียนและนักศึกษา เช่น การเรียนการสอน การทำรายงาน การนำเสนอไอเดีย และ กิจกรรมเชิงปฏิบัติ (Workshop) เช่น ฝึกเขียน Prompt เพื่อสั่งการ AI และทดลองนำ AI ไปใช้ในสถานการณ์จริง
“AI ไม่ใช่เรื่องของคนไอทีอีกต่อไป แต่มันกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของทุกคนในโลกการทำงานและชีวิตประจำวัน คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องเริ่มเรียนรู้ให้เร็วที่สุด เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีนี้เป็นผู้ช่วยในการพัฒนาตนเองและแข่งขันในตลาดแรงงาน” นายชนะชัย กล่าว
ขณะที่หัวข้อที่ 2 เป็นเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Awareness) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเนื้อหาหลักคือการสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้กับเยาวชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่เริ่มใช้งานอีเมล โซเชียลมีเดีย หรืออุปกรณ์ดิจิทัลที่เชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ ซึ่งอาจเผชิญกับภัยคุกคามโดยไม่รู้ตัว เช่น การหลอกลวงผ่าน Call Center และ SMS ปลอม , การโจมตีด้วยอีเมลปลอม ฝึกการตรวจสอบหัวอีเมล ลิงก์ และพฤติกรรมที่ควรสงสัย , กิจกรรม Game-Based Learning เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจการรับมือกับภัยไซเบอร์ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม
นายชนะชัย กล่าวย้ำว่า ภัยไซเบอร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะเราทุกคนใช้งานอีเมล โซเชียลมีเดีย และมือถือที่เชื่อมต่อกับไซเบอร์สเปซทุกวัน หากไม่มีความตระหนักรู้ ก็จะเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการโจมตีได้ง่ายมากดังนั้นการอบรมในครั้งนี้มุ่งหวังให้เยาวชนที่เข้าร่วมมีความเข้าใจอย่างรอบด้านทั้งในเรื่องเทคโนโลยีและความปลอดภัย
โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีสติรู้เท่าทันต่อภัยคุกคาม และสิ่งสำคัญที่สุดที่อยากฝากไว้คือ ‘คนเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเข้าใจเทคโนโลยีด้วย’ เพราะ AI จะกลายเป็นผู้ช่วยสำคัญในชีวิตเรา ส่วนในด้านไซเบอร์ หากเราไม่รู้เท่าทันก็อาจตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว การมีสติและการรู้จักตรวจสอบข้อมูลก่อนคลิกคือเกราะป้องกันที่ดีที่สุด