'ปั้นแบรนด์ให้ปัง ดันยอดขายให้พุ่ง' ถ่ายทอดศาสตร์-ศิลป์

CIBA DPU เปิดเวที “ปั้นแบรนด์ให้ปัง ดันยอดขายให้พุ่ง” ถ่ายทอดศาสตร์และศิลป์ของ Brand Manager ยุค AI อย่างเข้มข้น
“เมื่อการสร้างแบรนด์ในยุคดิจิทัลไม่ใช่แค่การทำตลาดสินค้า แต่เป็นการฟูมฟักพัฒนาแบรนด์ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง” มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดยวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) จัดกิจกรรมชวนเจาะลึกบทบาทของ Brand Manager ผู้อยู่เบื้องหลังกลยุทธ์และการขับเคลื่อนแบรนด์ผ่าน พลังของข้อมูลและการเข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง
โดยกิจกรรมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม ดร.ชุมไสว สุทธิพิทักษ์ โดยได้รับเกียรติจาก “อาจารย์แป้ง-กวิสรา พัฒนเจริญ” ผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์และการตลาดโดยมีประสบการณ์บริหารแบรนด์สินค้าของ บริษัทชั้นนำอย่าง Unilever Thailand และอาจารย์พิเศษจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกว่า 25 ปี ในการบริหารแบรนด์ระดับโลก ให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1-3 หลักสูตรการตลาดและการสร้างแบรนด์ในยุคดิจิทัล
ภายใต้โครงการ "Content Creators & Marketing Intelligence: ปั้นแบรนด์ให้ปัง ด้วยพลังข้อมูล & AI" ซึ่งเดินทางมาถึงซีรีส์ที่ 3 ในหัวข้อ "Brand Manager: ปั้นแบรนด์เหมือนปั้นลูก" ที่ชี้ให้เห็นถึง บทบาทสำคัญของการบริหารแบรนด์ให้แข็งแกร่งและเติบโตในโลกธุรกิจปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“นวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล” หลักสูตรแรก!! ปวส. เรียนต่อปริญญาตรี จบได้ภายใน 1 ปี
เรียนแบบ Fast Track คืออะไร? CIBA DPU ปั้นนักศึกษาพร้อมทำงานจริงตั้งแต่ปี1
Brand Manager: ผู้สร้างแบรนด์ราวกับดูแลลูก
อาจารย์แป้ง เปิดมุมมองว่า Brand Manager “เปรียบเสมือนคนที่ดูแลลูก” ต้องเข้าใจตัวตนของแบรนด์ กลุ่มเป้าหมาย และการแข่งขันในตลาดอย่างลึกซึ้ง และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ Brand Manager จำเป็นต้องทำงานร่วมกับหลายฝ่ายทั้งในและนอกองค์กร เช่น ทำงานกับ Research Agency เพื่อศึกษาแนวโน้มตลาด, ประสานงานกับฝ่าย R&D เพื่อพัฒนาสินค้าใหม่, ร่วมงานกับฝ่ายการเงิน เพื่อบริหารต้นทุน รวมถึงต้องใกล้ชิดกับฝ่ายขายที่ดูแลการกระจายสินค้า และ Trade Marketing ที่รับผิดชอบด้านการบริหารจัดการโปรโมชันและการขาย ในช่องทางการจัดจำหน่าย
นอกจากนี้ Brand Manager ยังต้องประสานงานกับทีมสร้างสรรค์ เช่น Creative Agency เพื่อพัฒนาโฆษณาและเนื้อหาที่สื่อสารจุดยืนของแบรนด์ได้อย่างน่าสนใจ ยกตัวอย่างจากแคมเปญ Cornetto รส Hojicha ที่เล่าเรื่องความรักในแบบไม่คาดคิดผ่านธีม "Unexpected Love" ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างลงตัว
ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานร่วมกับ Media Agency ในการวางแผนการใช้สื่อในแต่ละช่องทางอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับ Digital Agency และ PR หรือ Event Organizer ที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ในโลกออนไลน์ และกิจกรรมภาคสนาม และหากแบรนด์อยู่ในระดับสากล การประสานงานกับทีม Global ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ต้องทำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แผนกลยุทธ์สอดคล้องกับตลาดแต่ละภูมิภาค
คุณสมบัติ Brand Manager ที่ดี
อาจารย์แป้ง เผยว่า ผู้ที่อยากเป็น Brand Manager ต้องมีทั้ง ความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ มีตรรกะ (สมองซีกซ้าย) และความคิดสร้างสรรค์ (สมองซีกขวา) นอกจากนี้ ยังต้องมีความเข้าใจด้านการตลาดและแบรนด์, ทักษะเจรจาต่อรอง, การบริหารจัดการโปรเจกต์และทีมงาน, การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พร้อมทั้งความอดทนต่อแรงกดดันและความท้าทาย
"งานนี้ไม่ได้ต้องการคนที่เก่งที่สุด แต่ต้องการคนที่อดทนที่สุด" อาจารย์แป้งกล่าวพร้อมแนะนำว่า "หนูทำได้ค่ะ/ครับพี่" ควรเป็นคำติดปากของนักการตลาดที่ดี
AI x Brand Management เครื่องมือที่ช่วย แต่แทนที่ไม่ได้
หนึ่งในประเด็นสำคัญของการบรรยายคือ การใช้ AI และ Data Marketing ในการบริหารแบรนด์ อาจารย์แป้งมองว่า AI เป็นเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและจัดการโฆษณาได้ดี แต่ "AI ไม่สามารถแทนที่ความคิดสร้างสรรค์และจิตวิญญาณของนักการตลาดได้" เพราะการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งต้องอาศัยความเข้าใจในพฤติกรรมมนุษย์
แม้ว่าปัจจุบัน AI จะถูกนำมาใช้มากขึ้นในการตลาดดิจิทัล เช่น การวางแผนสื่อ การสร้างคอนเทนต์เบื้องต้น และการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค แต่ในการพัฒนาแคมเปญระดับสูง การตัดสินใจและการใช้ความคิดสร้างสรรค์ยังเป็นหน้าที่ของมนุษย์
นอกจากนี้ในยุคเศรษฐกิจที่มีความท้าทาย การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ โดยอาจารย์แป้งเน้นว่า “แบรนด์ที่แข็งแกร่งจะสามารถอยู่รอดได้ แต่ต้องรู้จักใช้ ข้อมูลและ AI อย่างชาญฉลาด” เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ขับเคลื่อนกลยุทธ์การตลาดให้คุ้มค่าที่สุด และยังคงรักษาความสัมพันธ์กับผู้บริโภคผ่านการสื่อสารที่มีอารมณ์ และความเข้าใจในตัวตนของแบรนด์
ปรับตัว กุญแจสู่ชัยชนะของแบรนด์ยุคใหม่
หลังจากการแลกเปลี่ยนมุมมองอย่างเข้มข้น นักศึกษาได้สอบถามและแชร์ความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานจริงในสายอาชีพ Brand Manager ตั้งแต่แนวทางรับมือกับภาวะ Burnout ไปจนถึงการก้าวสู่อาชีพนี้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเจาะลึกประเด็นที่ท้าทาย เช่น การเจรจากับทีม Global เพื่อปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ และ การควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน
บรรยากาศเต็มไปด้วยการแลกเปลี่ยนอย่างกระตือรือร้น นักศึกษาที่เข้าร่วมได้รับ E-Certificate เพื่อใช้ฝึกงานและสมัครงานในอนาคต โดยก่อนจบกิจกรรม อาจารย์แป้งยังได้กล่าวปิดท้ายด้วยข้อคิดสำคัญว่า "ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลการเรียน แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัว อดทน และเรียนรู้ต่อเนื่อง" เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง
โครงการบรรยายพิเศษ "Content Creators & Marketing Intelligence: ปั้นแบรนด์ให้ปัง ด้วยพลังข้อมูล & AI" ยังมีแผนเดินหน้าต่อไปในซีรีส์ที่ 4 โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญระดับมืออาชีพ เพื่อให้นักศึกษาได้ต่อยอดความรู้และเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจอย่างมั่นใจ
นอกจากนี้ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก อาจารย์นิติ มุขยวงศา รองคณบดีและหัวหน้าหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต หลักสูตรการตลาดและการสร้างแบรนด์ในยุคดิจิทัล CIBA DPU เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ดร.จิราพร ชมสวน และ ผศ.ชุติธารรัฐ อุตมะสิริเสนี อาจารย์ประจำหลักสูตรการตลาดและการสร้างแบรนด์ในยุคดิจิทัล CIBA-DPU เข้าร่วมกิจกรรม ในฐานะผู้ดูแลโครงการ ในครั้งนี้
ผู้สนใจในเรื่องนี้ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.dpu.ac.th/th/college-of-innovative-business-and-accountancy