"ก.แรงงาน" ลงพื้นที่ชลบุรี เหตุคนงานพลัดตกแกรนด์แคนยอนเมืองไทย

"ก.แรงงาน" ลงพื้นที่ชลบุรี เหตุคนงานพลัดตกแกรนด์แคนยอนเมืองไทย

รมว.แรงงาน แสดงความเสียใจ เหตุ คนงานก่อสร้าง พลัดตกหน้าผาแกรนด์แคนยอนเมืองไทยเสียชีวิต จ.ชลบุรี โดยสั่งการ "กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน" (กสร.) ลงพื้นที่หาข้อเท็จจริง พร้อมบูรณาการหน่วยงานสังกัด "กระทรวงแรงงาน" เพื่อหาทางช่วยเหลือครอบครัวลูกจ้างทันที

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุ คนงานก่อสร้าง พลัดตกหน้าผาแกรนด์แคนยอนเมืองไทยเสียชีวิตที่จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 เวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา หลังทราบข่าวอุบัติเหตุดังกล่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแล กระทรวงแรงงาน ได้แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสั่งให้ กระทรวงแรงงาน ช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต

 

จึงได้สั่งการให้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ส่งพนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี (สสค. ชลบุรี) ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 2 ชลบุรี (ศปข. 2) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที เบื้องต้นพบว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 เวลา 09.00 น. พบคนตกหน้าผาสูง บริเวณแหล่งท่องเที่ยวชื่อแกรนด์แคนยอนเมืองไทย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 7 ตำบลห้วยกะปิ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

บริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังพัฒนาพื้นที่ มีการสร้างเป็นทางลงลักษณะบันไดหิน ลาดลงไปที่พื้นด้านล่างสุดลึกกว่า 30 เมตร พบผู้เสียชีวิตทราบชื่อ คือ นายคิง หง่วย อายุ 41 ปี สัญชาติเมียนมา

 

โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้สอบถามเพื่อนร่วมงานเผยว่า วันเกิดเหตุเป็นวันหยุดไม่มีการทำงาน ผู้เสียชีวิตได้เดินลงไปเอาข้าวที่ลืมไว้ด้านล่างตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 แล้วพลัดตกลงไปพร้อมกับมีก้อนหินกลิ้งตามลงไปกระแทกร่างทำให้เสียชีวิต ทั้งนี้ พนักงานตรวจความปลอดภัย สสค. ชลบุรี ศปข.2 และหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ได้เข้าช่วยเหลือครอบครัวลูกจ้างที่เสียชีวิตจากเหตุพลัดตกหน้าผา พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ผมได้มอบหมายให้ พนักงานตรวจความปลอดภัย สสค.ชลบุรี 2 และ ศปข. 2 ดำเนินการตามที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสั่งการ และ กสร. จะเชิญนายจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอความร่วมมือนายจ้าง และลูกจ้างปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างเคร่งครัดด้วย

 

หากนายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบกิจการใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน โทรศัพท์ 0 2448 9128-39 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3 และ 1546