“POKA YOKE” ตัวกันโง่ | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
“ตัวกันโง่” คือ ศัพท์ที่ใช้กันแพร่หลายในหมู่ “ช่าง” และ “วิศวกร” ในโรงงานทั่วไป ที่ใช้เรียก วัสดุ อุปกรณ์ หรือ ชิ้นส่วน ที่จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการทำงาน อันเนื่องมาจากความพลั้งเผลอ ความสะเพร่า ความประมาท ความบกพร่อง (หรือ ความโง่) ของผู้ปฏิบัติงาน
ความผิดพลาดในการทำงาน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุอันตราย กระบวนการผลิตสะดุดชะงัก หรือ ทำให้เกิดของเสีย (สินค้าไม่มีคุณภาพ)
“ตัวกันโง่” จึงมีชื่อเรียกในทางเทคนิคทางวิชาการว่า “Fail Safe Techniques” หรือ “Fool Proof Techniques” ในภาษาอังกฤษที่แปลกันอย่างเป็นทางการในแวดวงนักวิชาการวิศวกรรมว่า “เทคนิคป้องกันความผิดพลาด” (จากความผลั้งเผลอของมนุษย์)
และมีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า “POKA YOKE” (จากหนังสือที่แปลโดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี ของ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น หรือ สสท. เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว)
POKA YOKE ที่ว่านี้มีแนวคิดพื้นฐานมาจากวิศวกรชาวญี่ปุ่นชื่อ “Shigeo Shingo” และได้ถูกริเริ่มนำไปใช้กับระบบการผลิตของโตโยต้า (Toyota Production System : TPS)
แต่เดิมนั้นแนวคิดนี้ถูกเรียกว่า “BAKA YOKE” แปลตรงตัวได้ว่า ” หลีกเลี่ยงความโง่ ” ซึ่งฟังดูแล้วไม่ค่อยสุภาพ จึงเปลี่ยนเป็น “POKA YOKE” ซึ่งมีความหมายว่า “หลีกเลี่ยงความผิดพลาด” ที่หมายถึง “การป้องกันความผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ” ตามที่ใช้กันทุกวันนี้
ตามปกติแล้ว สาเหตุของความสูญเสียมักจะเกิดจากความผิดพลาดของพนักงาน อันเป็นผลจากความไม่เอาใจใส่ในงานที่ทำ ความผิดพลาดเหล่านี้ มักจะนำไปสู่ปัญหาด้านอุบัติเหตุอันตราย ปัญหาเรื่องคุณภาพ และอื่นๆ
ปัญหาที่ตามมาในเรื่องของการผลิตของเสีย ก็คือ การค้นหาและการเลือกของเสียออกจากของดี ซึ่งจะใช้เวลามาก รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามมาด้วย หรือการค้นหาของที่ไม่ดีก็ยากเช่นกัน และอาจหลุดไปสู่ตลาดหรือลูกค้าได้ง่าย
ดังนั้น เพื่อป้องกันหรือหลีกเลียงการผิดพลาดในกระบวนการผลิต คือไม่ทำให้เกิดอุบัติเหตุอันตรายหรือไม่มีการผลิตสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ จึงติดตั้ง อุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็น POKA YOKE ในสายงานการผลิตนั้นๆ
ปัจจุบัน POKE YOKE มีหลายระดับ ระดับดั้งเดิมจริงๆ จะเป็นการป้องกันที่ไม่มีทางที่จะเกิดปัญหาได้เลย ตัวอย่างเช่น ปลั๊กไฟที่ออกแบบให้มี 3 ขา (พร้อมขาดิน) คือถ้าเสียบขาผิดก็เข้าไม่ได้ หรือถ้าเต้ารับมี 2 ขา ก็เสียบไม่ได้
ระบบ POKE YOKE จึงต้องศึกษากระบวนการทำงาน หรือกระบวนการผลิตก่อน แล้วสร้างกระบวนการหรืออุปกรณ์ป้องกันขึ้นมา เพื่อนำไปใช้ตามลักษณะงานของแต่ละกิจกรรมเท่านั้น
โดยทั่วไปแล้ว เรามักจะเรียกข้อผิดพลาดในการทำงานต่างๆ ที่เกิดจากผู้ทำงาน (ผู้ใช้งาน) ว่าเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อ อุปกรณ์หรือกลไกสำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดที่เกิดจากความประมาทพลั้งเผลอ
และเพื่อป้องกันไม่ให้มีผลิตภัณฑ์ที่เสียปะปนไปกับผลิตภัณฑ์ที่ดี หรือเป็นตัวป้องกันอุบัติเหตุอันตรายได้ และบ่อยครั้งถึงแม้ว่าจะเกิดข้อผิดพลาดที่เกิดจากความประมาทขึ้น ก็จะไม่เกิดอุบัติเหตุหรือกรบวนการผลิตไม่สะดุด เราจะเรียกอุปกรณ์หรือกลไกนั้นว่า “POKA YOKE” (การป้องกันข้อผิดพลาด)
อุปกรณ์หรือกลไกเหล่านี้จะแยกออกเป็น (1) การป้องกันไม่ให้เกิดข้อบกพร่อง (การหยุดทำงานเมื่อเกิดข้อผิดพลาด การจำกัดความผิดพลาด และการแจ้งเตือนเพื่อป้องกัน) และ (2) การตรวจจับข้อบกพร่อง (การหยุดทำงานเมื่อเกิดข้อบกพร่อง การจำกัดขั้นตอนการทำงาน และการแจ้งเตือนเมื่อเกิดข้อผิดพลาด)
นอกจากนี้ยังสามารถระบุสาเหตุและกระบวนการเกิดข้อบกพร่อง ซึ่งจะช่วยพัฒนากลยุทธ์การปรับปรุงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อบกพร่องซ้ำอีก
ดังนั้น ระบบ POKA YOKE จะมีหน้าที่ในการทำงาน 2 ลักษณะ คือ การควบคุม และการเตือนล่วงหน้า
วิธีการควบคุม คือการควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้ความผิดปกติ ความผิดพลาด หรือการสะดุดชะงักของกระบวนการผลิตเกิดขึ้นได้ วิธีนี้เมื่อมีชิ้นงานที่ผิดปกติเกิดขึ้น เครื่องจักรจะหยุดการผลิตทันที ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องจักรผลิตชิ้นงานผิดปกติชิ้นต่อไป ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการควบคุมการเกิดของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบเตือนล่วงหน้า
วิธีการเตือนล่วงหน้า คือการใช้สัญญาณเพื่อเตือนให้ทราบถึงความผิดปกติในกระบวนการผลิต ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอันตรายหรือการผลิตชิ้นงานเสียออกมา วิธีนี้เราสามารถใช้การเตือนด้วยสัญญาณเสียงหรือสัญญาณไฟเตือนก็ได้ วิธีนี้อาจมีประสิทธิภาพน้อยลงหากผู้ปฏิบัติงานไม่ได้ยินเสียงเตือนหรือไม่เห็นสัญญาณที่เตือน
ทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่การทำงานในโรงงานหรือสำนักงานเท่านั้น สิ่งของเครื่องใช้รอบตัวเรา ก็ใช้หลักการของ PUKA YOKE เพื่อให้เราใช้งานได้อย่างถูกต้องและไม่เกิดความผิดพลาดที่นำไปสู่ความเสียหายต่อไปได้
อาทิ สัญญานเสียงดังหรือสัญญานไฟแดงที่กาต้มน้ำ (เมื่อน้ำเดือด) อุปกรณ์ไฟฟ้ารั่วก็จะมีสวิตซ์ตัดไฟเองในทันที การใส่เสื้อผ้าไม่สลับหน้าหลังหรือซ้ายขวา การมีปุ่มสัมผัสแยกแยะความแตกต่าง และอื่นๆ อีกมากมาย
“ตัวกันโง่” จึงเป็นการออกแบบสิ่งของเครื่องใช้ หรือการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ การเติมสารเคมีอันตราย ฯลฯ ให้ปลอดภัยต่อการทำงานของคนที่ชอบสะเพร่าพลั้งเผลอ คือพูดง่ายๆ ว่าคนที่ทำงานอย่างไม่ใส่ใจ (ทำงานแบบโง่ๆ) “ตัวกันโง่” ก็จะป้องกันไม่ให้กระบวนการผลิตสะดุดหรือเกิดอุบัติเหตุหรือผลิตของเสียใดๆ เลย ครับผม!