คนรุ่นใหม่ฟื้นถิ่น | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
ในช่วงที่เกิดโควิด-19 ระบาดนั้น สถิติการย้ายเข้าออกของประชากร ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน พ.ศ. 2563 พบว่ามีคนย้ายออกสุทธิจากกรุงเทพถึง 2 ล้านคน ซึ่งกระจายกลับไปอยู่บ้าน เนื่องจากถูกเลิกจ้าง คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว แล้วพวกเขาเหล่านั้นกลับไปทำอะไร
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนให้ แผนงานคนไทย 4.0 ศึกษาคนรุ่นใหม่ภายใต้โครงการชุมชนภิวัตน์ ศึกษาเพื่อไปขับเคลื่อนให้สร้างคนไทย 4.0 ที่มีคุณลักษณะที่สำคัญที่พร้อมจะประเชิญความท้าทายของโลกอนาคต
แผนงานฯ ได้ประเมินแล้วว่า คนไทย 4.0 หรือคนไทยภิวัตน์นั้นต้องประกอบไปด้วยคุณลักษณะ 4 ประการคือ 1) คิดเป็น ทำเป็น ช่วยเหลือตัวเองได้ 2) มีเครือข่ายหรือพยายามสร้างเครือข่าย 3) มีจิตอาสารู้จักช่วยเหลือคนอื่น และ 4) ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสื่อสารได้
โดยสนับสนุนงบประมาณให้ คนไทยคืนถิ่นเพื่อไปสร้างพลังบวกให้สังคมหรือเครือข่ายทางสังคม หรือทำสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ซึ่งโครงการเหล่านี้ผู้รับทุนล้วนเป็นผู้มีจิตอาสา คือไม่มีผลตอบแทนทางการเงินใดๆ ทั้งสิ้นการสนับสนุนจะเฉพาะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
การศึกษาพบว่า คนรุ่นใหม่ที่คืนถิ่นแล้วลงหลักปักฐานที่บ้านมักจะเป็นคนที่มีทุนประเดิม เช่น มีที่ดินเป็นของตัวเอง มีทุนก็นำทุนนั้นมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตหรือได้สินค้าใหม่ซึ่งสามารถขยายตลาดไปยังกรุงเทพฯ ได้
บางคนก็พยายามให้ชุมชนผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆ เช่น ให้เกษตรกรขายคาร์บอนเครดิต โดยให้เอากิ่งไม้จากการตัดแต่งกิ่งในสวนมาเผาในเตาไร้ควัน ซึ่งได้ถ่านออกมาแล้วนำไปขายต่างประเทศเป็นคาร์บอนเครดิต ในราคาตันละ 120 บาท
บ้างก็ไปตั้งร้านกาแฟร่วมสมัย เกิดคอฟฟีช็อปกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ บ้างก็เอาทรัพยากรส่วนรวมมาเสริมและเพิ่มรายได้ส่วนรวม เช่น การเพาะเห็ดและเลี้ยงผึ้งในป่าชุมชน บ้างก็ปรับปรุงเตาอบโซลาร์เซลล์ที่รัฐบาลทำทิ้งไว้ในหมู่บ้านและไม่มีใครใช้มาทำความสะอาดและผลิตสินค้าใหม่
บ้างก็ขอความร่วมมือจากโรงเรียน ให้เอานักเรียนในโรงเรียนซึ่งใช้โทรศัพท์อัจฉริยะได้ ไปสอนแม่บ้านท้องถิ่นที่มีโทรศัพท์อัจฉริยะ แต่ใช้ไม่เต็มตามศักยภาพ ให้สามารถเว็บไซต์ Google ค้นหาความรู้ต่างๆ มาพัฒนาวิธีกรรมการผลิตและแปรรูปสินค้าการเกษตรใหม่ๆ
บ้างก็ไปทำเทรลเดินป่าและเข้าไปพัฒนาหมู่บ้านชนเผ่า ให้สามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวของชุมชนที่อยู่ในเทรล บางคนก็ไปประสานงานให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ของผู้เฒ่าผู้แก่ เช่น การทอผ้าโดยใช้วิธีห่วงไก (ซึ่งปกติใช้ทอผ้าลายน้ำไหล) ให้กับคนรุ่นใหม่
การเรียนรู้เกี่ยวกับพันธุ์พืชสมุนไพรในชุมชนของตัวเอง แล้วนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นชมรมสมุนไพรพื้นบ้านของโรงเรียน และพัฒนาเป็นหลักสูตรทางเลือกเกี่ยวกับการยกระดับสุขภาพโดยใช้สมุนไพรและความรู้เบื้องต้นของแพทย์แผนไทย
หรือการสร้างสอนให้เด็กรุ่นใหม่สามารถเป็นมัคคุเทศก์ประจำถิ่น ในท้องถิ่นนั้นแม้จะไม่มีนักท่องเที่ยวมามากนัก แต่ผลของการเรียนรู้ก็คือได้เกิดความเข้าใจและภูมิใจเกี่ยวกับชุมชนของตน
บ้างก็พัฒนาสูตรอาหารดั้งเดิมให้เป็นสูตรฟิวชั่น เพื่อให้รองรับการขยายตัวของตลาดใหม่ด้านอาหาร ตัวอย่างก็ดังเช่นกลุ่มที่เคยทำปลาส้มและปลาแห้งก็พัฒนาเป็นสินค้าใหม่ เช่น ผงโรยข้าว (แบบผงโรยข้าวของญี่ปุ่น) ที่ผสมปลาป่นแล้วขาย ทำให้มีกำไรมากขึ้น เมื่อเห็นภาพเช่นนี้ก็ทำให้ประเทศไทยดูมีความหวังมากขึ้น
แผนงานฯ สนับสนุนให้คนไทยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น เช่น บางกลุ่มที่พยายามกลับมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยหมักเนื่องจากราคาปุ๋ยเคมีแพงขึ้น แผนงานฯ ก็สนับสนุนให้มีการศึกษาถึงความสามารถในการย่อยสลายสารอินทรีย์และส่วนประกอบของปุ๋ย
ทำให้เกิดสูตรส่วนประกอบของวัตถุดิบที่ใช้ปุ๋ยหมักที่เชื่อมโยงได้กับส่วนประกอบของธาตุอาหารเพื่อเชื่อมโยงไปถึงพืชที่เหมาะสมกับการปลูกมากขึ้น
กล่าวคือไม่ได้สนับสนุนเพียงแค่รู้ว่า “ทำอย่างไร” เหมือนอย่างที่เคย แต่ให้รู้ว่า “ทำไม” จึงต้องทำอย่างนั้น แล้วผลประโยชน์ที่ได้เพิ่มเติมจะเป็นอะไร
ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นั้นจะมีความเสี่ยงกับการสูญเสียวัตถุดิบ ดังนั้นทุนสนับสนุนการวิจัยนี้จึงเป็นการลดความเสี่ยงให้วิสาหกิจชุมชน ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาเหล้าสาเกโดยใช้ข้าวสังข์หยด การทำน้ำไซรับจากผลไม้ท้องถิ่นประเภทต่างๆ
อุปสรรคของการทำงานชุมชนภิวัตน์ก็คือ การเจาะเข้าไปให้ถึงคนรุ่นใหม่ที่มีความเป็นผู้นำนั้นค่อนข้างยาก การติดต่อกับเครือข่ายรัฐบาลผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้านค่อนข้างไม่ได้ผล
เพราะกำนันผู้ใหญ่บ้านมีภารกิจมากและเคยชินกับการที่โครงการของรัฐเอาความคิดใหม่ไปลงแบบ top down โดยไม่ได้ต้องการความคิดริเริ่มจากหมู่บ้าน ในขณะที่โครงการชุมชนสนับสนุนการคิดเองแล้วร่วมด้วยช่วยกัน
อุปสรรคประการที่ 2 คือ ผลิตภัณฑ์ของชุมชนยังไม่มีมาตรฐานเพียงพอที่จะเข้าสู่ตลาดออนไลน์ที่เป็น e-Commerce มาตรฐาน จึงมักขายกันอยู่ในตลาดนัดชุมชน
ซึ่งหมายความว่า ตลาดนัดชุมชนเป็นทางออกที่สำคัญสำหรับความคิดริเริ่มใหม่ของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่สามารถเพิ่มความสามารถในการผลิตได้เร็วกว่า เพิ่มความสามารถในการหาตลาด หรือจับกลุ่มลูกค้าที่ถูกต้องและไม่มีแบบจำลองธุรกิจที่ชัดเจนของตัวเอง
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การจัดการปัญหาโลจิสติกส์ของสินค้าวิสาหกิจชุมชนไทย เพราะในบางครั้งราคาของสินค้าและค่าส่งมีราคาเท่ากัน นอกจากปัญหาด้านโลจิสติกส์ของชาวบ้านที่ต้องแก้ไขแล้ว การออกแบบผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการใหม่เหล่านี้ด้วยก็ต้องคำนึงถึงความสะดวกในขั้นตอนการขนส่งด้วย
อีกปัญหาหนึ่งก็คือ ขนาดของเครื่องจักรหรือเครื่องทุ่นแรง ผู้ประกอบการรุ่นเล็กเมื่อเริ่มผลิตสินค้าออกมามักจะใช้อุปกรณ์การผลิตที่เป็นอุปกรณ์ในครัวเรือน แต่เมื่อขยายขนาดการผลิตต้องหาเครื่องจักรมาใช้ก็ไม่สามารถหาเครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตที่เหมาะสมกับความต้องการได้
นอกจากประเด็นที่ได้กล่าวมาแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบว่า มาตรการส่งเสริมอาชีพของรัฐที่ผ่านมา ทำให้ชุมชนเคยชินกับการเป็นผู้รับ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเบี้ย เลี้ยงค่าเดินทาง และยังได้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตกลับไปอีก ทำให้ไม่มีความชัดเจนว่าผู้ที่มาเข้ารับการอบรมนั้นความต้องการที่แท้จริงคืออะไร
ความรู้ที่ให้ไปอาจจะไม่ได้นำไปใช้ในระยะยาว และยังเป็นการทำลายแรงจูงใจที่ประชาชนจะหาความรู้เอง ดังนั้น รัฐจึงควรปรับวิธีการให้ความรู้ใหม่โดยสอนให้หาความรู้แทนที่จะป้อนความรู้ไปให้แบบตรงๆ
กลไกการพัฒนาอาชีพของรัฐไม่ต่อเนื่อง มีลักษณะจากบนลงล่างใช้โมเดลเดียวกันโดยไม่คำนึงถึงพื้นฐาน เงื่อนไข และการปฏิบัติที่ต่างกันในแต่ละท้องถิ่น
การให้มีลักษณะเป็นเสื้อโหล ทำให้ไม่มีการดำเนินต่อในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม และไม่มีการยกระดับการผลิตและมาตรฐานผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญก็คือค่าตรวจแล็บต่างๆ ของหน่วยงานรัฐเช่นในมหาวิทยาลัยก็ค่อนข้างสูง ดังนั้น แม้คนรุ่นใหม่จะกล้าฟื้นถิ่นก็ยังต้องฟันผ่าอีกมากกว่าจะถึงเส้นชัย!