งานที่มีคุณค่า&งานที่ไม่มีคุณค่า | นรชิต จิรสัทธรรม
หลังจากมีกระแสข่าวเรื่องการซื้อ “ที่” เพื่อใส่ชื่อตัวเองในบทความวิชาการ ในด้านหนึ่งได้ก่อให้เกิดการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบบุคคลที่มีชื่อปรากฏตามข่าวนั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ได้กระแสเรียกร้อง ให้ย้อนกลับมาพิจารณาภาระงาน อาจารย์มหาวิทยาลัย ว่าเหมาะสมเพียงใด
บทสัมภาษณ์คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้ในเว็บไซต์ The MATTER ตอนหนึ่งมีใจความว่า “มันคือวิชาชีพที่เรียกร้องจากเราสูงมาก แต่ค่าตอบแทนและการดูแลมันไม่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับความคาดหวังจากมหาวิทยาลัย. ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกเลยที่หลาย ๆ คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ไม่อยากทำอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยอีกต่อไปแล้ว”
ท่านยังกล่าวต่ออีกว่า “สิ่งสำคัญที่มหาวิทยาลัยต้องทำคือ ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตอาจารย์แต่ละคน การดูแลที่ไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่รวมถึงสุขภาพจิตและชีวิตความเป็นอยู่ของเขา เรื่องเส้นทางการเติบโตในอาชีพ ช่วยให้เขามองเห็นโอกาสในอนาคตว่ามันมีทางเลือกอะไรให้กับเขาได้บ้าง”
ย้อนหลังไปเมื่อช่วงกลางปี 2565 แพทย์กลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันภายใต้ชื่อ สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ได้ยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายเพื่อกำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ไม่ให้มากเกินไปดังเช่นที่เป็นอยู่
ตัวแทนจากกลุ่มสมาพันธ์แพทย์ฯ ให้ข้อมูลว่า “แพทย์หลายคนต้องทำงานดูแลผู้ป่วยติดต่อกันมากกว่า 40 ชั่วโมงโดยไม่มีเวลาพักผ่อน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยวิกฤติ
รวมถึงส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของแพทย์โดยตรง หลายคนลาออกเนื่องจากไม่สามารถฝืนทำงานภายใต้แรงกดดันด้วยสภาพร่างกายที่อ่อนแรงได้ถึงแม้จะมีค่าตอบแทนเป็นค่าเวร”
ข้อเรียกร้องจากอาจารย์มหาวิทยาลัยและจากสมาพันธ์แพทย์ฯ น่าจะเป็นสิ่งแปลกประหลาดสำหรับสังคมไทยไม่น้อย เพราะทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและแพทย์ถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ดี หลายคนปรารถนาที่จะประกอบอาชีพนี้ เพราะอาชีพนี้ไม่เพียงเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีหน้ามีตาได้รับการยกย่องนับถือในสังคม และยังได้รับรายได้สูงอีกด้วย
บทความนี้มิได้ต้องการจะถกเถียงว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยและแพทย์มีภาระงานมากเกินไปจริงหรือไม่ ค่าตอบแทนที่ได้รับไม่เหมาะสมกับหน้าที่และความคาดหวังหรือไม่
แต่บทความนี้ต้องการชวนให้ลองคิดว่ายังมีงานอื่นๆอีกมาก ที่แทบไม่มีองค์ประกอบของการเป็น “งานที่มีคุณค่า” (Decent Work) คนเหล่านั้นต้องอยู่ในสภาพการทำงานและได้รับค่าจ้างที่ไม่ถึงประสงค์ มากกว่าอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยและอาชีพแพทย์
องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ นิยามว่า งานที่มีคุณค่าคือบทสรุปของความใฝ่ฝันในชีวิตการทำงานของผู้คน
นิยามข้างต้นสามารถขยายความได้ว่า ทุกคนที่ทำงานควรจะได้รับสิ่งเหล่านี้จากการทำงานของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น รายได้ที่เป็นธรรม ความปลอดภัยในขณะที่กำลังทำงาน คุ้มครองทางสังคม โอกาสในการพัฒนาตัวเอง
การยอมรับจากสังคม เสรีภาพในการแสดงออกถึงความกังวลเกี่ยวกับการทำงาน การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่จะกระทบกับการทำงานของตน และการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เห็นได้ว่า ข้อเรียกร้องจากคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และกลุ่มสมาพันธ์แพทย์ฯ จึงสอดคล้องกับองค์ประกอบของงานที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็น เรื่องค่าตอบแทนที่เหมาะสม และการมีส่วนร่วมในการกำหนดเรื่องที่จะกระทบกับการทำงานของตน
อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยยังมีงานอีกหลายประเภทที่ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นงานที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็น งานกรรมกรตามไซต์งานก่อสร้าง งานในสายการผลิตตามโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่เรียกกันว่างานที่มีลักษณะ 3D คืองานสกปรก (dirty) งานอันตราย(dangerous) และงานยากลำบาก(difficult)
เช่น งานเก็บขยะหรืองานทำความสะอาดสถานที่สกปรกทั้งหลาย งานในโรงงานอาหารแปรรูปโดยเฉพาะอาหารทะเลซึ่งมักจะมีกลิ่นเหม็น งานที่ทำในสถานที่ซึ่งมีมลพิษสูงไม่ว่าจะเป็นในเหมืองแร่หรือในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท
งานดังกล่าวเหล่านี้แทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีองค์ประกอบใดของงานที่มีคุณค่าเลย เพราะทั้งได้รับค่าจ้างต่ำ เสี่ยงอันตายสูง ไม่มีโอกาสที่จะได้พัฒนาศักยภาพของตน หรือได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของการทำงาน รวมถึงเป็นงานที่คนทำงานไม่ได้รับเกียรติหรือการยอมรับนับถือจากสังคม
ดังนั้น ข้อเรียกร้องของอาจารย์และแพทย์ ที่สื่อสารให้สังคมรับทราบเกี่ยวกับปัญหาในการทำงานของตนเอง จึงเป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำมาเท่านั้น
แท้จริงแล้วในสังคมไทยยังเต็มไปด้วยงานที่มีสภาพการทำงานที่เลวร้ายและมีค่าตอบแทนที่น้อยนิด แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ “ตลาด” มองไม่เห็น แต่พวกเรามองเห็นได้ โดยการผลักดัน “มโนธรรม” (Conscience) ให้เห็นถึงความยากลำบากของผู้คนเหล่านั้น เพื่อให้เป็นสิ่งกำกับให้ตลาดแรงงานทำงานอย่างเป็นธรรม
สำหรับ อดัม สมิธ (Adam Smith) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ มโนธรรมนี้จะเกิดได้ ย่อมต้องการพลังของการเป็นผู้ดูที่เที่ยงธรรม หรือ “Impartial Spectator” ในตัวของพวกเราทุกคน ที่ต้องมองปรากฏการณ์ต่างๆด้วยการจินตภาพ ถึงความรู้สึกของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์นั้น
ว่าถ้าหากเป็นตัวเราเอง “อยู่ใน” สถานการณ์นั้นๆ เราอยากทำหรืออยากเป็นเช่นนั้นหรือไม่ หากเขาต้องทุกข์ทนในสถานการณ์นั้น มันก็ไม่ควรเป็นสิ่งที่เราจะกระทำกับคนอื่นๆ
การที่เราจะผลักดันให้เกิดงานที่มีคุณค่าในสังคมไทย อาจต้องเริ่มต้นจากการเปิดใจมองว่างานทั้งหลายล้วนมีคุณค่าต่อสังคม แน่นอนว่าคนที่ใช้ทักษะ ใช้ความรู้ ใช้ความขยันและความพยายามในการทำงานที่แตกต่างกัน ก็ย่อมสมควรที่จะได้รับผลตอบแทนจากการทำงานที่แตกต่างกันตามไปด้วย
แต่หากเราเปิดใจยอมรับว่างานทั้งหลายล้วนมีคุณค่า แต่ต้องทำงานภายใต้ภาวะที่ไม่ส่งเสริมงานที่มีคุณค่า เราจะไม่สามารถเห็นดีเห็นงามกับการจ่ายค่าตอบแทนเพียงสามร้อยกว่าบาทจากการทำงานหนึ่งวัน เพราะรายได้เพียงสามร้อยกว่าบาทต่อวันนั้น ไม่น่าจะสามารถทำให้คนคนนั้นดำรงชีพอยู่ได้อย่างดีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่ารายได้สามร้อยกว่าบาทต่อวัน ไม่สามารถที่จะทำให้คนคนนั้นหน้าที่ของพ่อหรือแม่ที่ดีของลูก ๆ ได้ เช่นเดียวกับที่พวกเราก็จะรับฟังข้อเรียกร้องของคนเก็บขยะและคนขับรถโดยสารประจำทาง และไรเดอร์ขับรถส่งอาหารรวมถึงอาชีพอื่น ๆ อย่างเข้าอกเข้าใจ ไม่ต่างกับที่เรารับฟังข้อเรียกร้องจากอาจารย์มหาวิทยาลัยและจากแพทย์
ทัศนะ มุมมองบ้านสามย่าน
[email protected]
ตะวัน วรรณรัตน์
คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
นรชิต จิรสัทธรรม
คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ขอนแก่น