Shadow Work ทำให้ “ตาสว่าง” | วรากรณ์ สามโกเศศ
บางสิ่งรอบตัวเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่เรามิได้ตระหนักเพราะมันเปลี่ยนไปช้า ๆ อย่างมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเรา จนกระทั่งมีคนที่สังเกตเห็นมาบอกและทำให้เรา “ตาสว่าง” ขึ้น เข้าใจโลกของ "เศรษฐกิจใหม่" มากขึ้นและทำให้เราตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
สิ่งที่พูดถึงนี้มีชื่อเรียกทางวิชาการว่า Shadow Work ( SW หรือ “งานในเงา”) ตัวนี้แหละที่ทำให้เราต้องทำงานหนักขึ้นกว่าสมัยก่อนโดยมิได้มีเงินตอบแทนแต่อย่างใด
SW เป็นคำที่บัญญัติขึ้นโดยนักปรัชญาและนักวิจารณ์สังคมชาวออสเตรีย ชื่อ Ivan Illich ในปี 1981 ซึ่งหมายถึงงานต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจที่มีประโยชน์แต่ผู้ทำมิได้รับผลตอบแทนทางการเงิน เช่น การดูแลลูก การเป็นแม่บ้านให้ครอบครัว ฯลฯ
ปัจจุบัน SW ครอบคลุมงานอีกหลายอย่าง ที่ผู้คนต้องรับภาระมากขึ้นอย่างมิได้รับผลตอบแทน อันเป็นผลมาจากนโยบายและเทคโนโลยี เช่น ประกอบเฟอร์นิเจอร์ที่ซื้อมาเอง เติมน้ำมันที่สถานบริการด้วยตัวเอง นักท่องเที่ยวจัดทริปและจองโรงแรมเอง ฯลฯ
Craig Lambert อดีตบรรณาธิการของ Harvard magazine เขียนหนังสือเกี่ยวกับ SW ในปี 2015 ชี้ให้เห็นสาเหตุและผลที่เกิดขึ้นโดยยกสารพัดตัวอย่างให้เห็น
เมื่ออ่านแล้วก็นึกขึ้นได้ทันทีว่า ปัจจุบันพวกเราต้องทำงานแทนองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนโดยไม่ได้รับผลตอบแทน มันทำให้เรามีภาระในการดำรงชีวิตมากขึ้นจนมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต
กล่าวสั้น ๆ ว่า SW คืองานที่ผู้บริโภคทำแทนองค์กรเอกชนและภาครัฐอย่างฟรี ๆ ทั้ง ๆ ที่ในอดีตงานเหล่านี้อาจเคยมีคนทำที่ได้รับผลตอบแทน การย้ายงานมาให้ผู้บริโภคทำแทนจึงทำให้การบริหารยุ่งยากน้อยลง และเป็นการประหยัดต้นทุน เหตุที่องค์กรเหล่านี้ทำได้ก็เพราะนโยบายและเทคโนโลยี
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกรณีที่ SW เกิดขึ้น และวิเคราะห์ภาพรวมตอนท้ายถึงสาเหตุและผลกระทบ ตัวอย่างมีดังต่อไปนี้
(1) มีร้านอาหารจำนวนมากที่ผู้บริโภคเสิร์ฟอาหรและเก็บจานชามเอง ร้านเหล่านี้แทนที่จะต้องมีลูกจ้างมาทำงานดังกล่าวก็ได้ผู้บริโภคมาทำแทน ดังนั้น จึงมีการเปลี่ยนสภาพจาก “ลูกค้าบริสุทธิ์” มาเป็นลูกค้าและ “ลูกจ้างเทียม” ด้วยในเวลาเดียวกัน งานที่ทำฟรีในส่วนนี้ก็คือ SW
(2) องค์กรใหญ่ ๆ ในโลกปัจจุบันนั้นผู้บริหารระดับกลางมักไม่มีเลขานุการช่วยทำงานเหมือนในอดีต เนื่องจากเทคโนโลยีก้าวหน้าจนผู้บริหารสามารถค้นหาข้อมูล จัดระเบียบข้อมูล พิมพ์งาน ผลิตงาน ฯลฯ ได้ด้วยตนเองในระดับหนึ่งอย่างสะดวก
งานที่เลขานุการเคยทำก็ถูกโอนมาให้ผู้บริหารระดับกลางเหล่านี้ทำเอง โดยมิได้จ่ายเงินชดเชยการทำงานในส่วนนี้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
(3) งานของตำรวจในการต้องออกตรวจท้องที่อย่างสม่ำเสมอลดน้อยลงมาก เพราะความก้าวหน้าและราคาของกล้องวงจรปิดในที่สาธารณะ เจ้าของบ้านต้องรับภาระการดูแลความปลอดภัยของบ้านด้วยตนเองเพิ่มขึ้น จนอาจมีเวลาในการทำมาหากินน้อยลง
ในบางกรณีก็ซื้อและติดตั้งวงจรปิดในบ้านเอง เงินที่ซื้อส่วนนี้ก็มาจากรายได้ส่วนตัว ดังนั้นจึงเท่ากับว่านอกจากจะต้องทำงานเพิ่มขึ้นแล้วยังต้องเสียเงินเพิ่มอีกด้วย
(4) หลายสายการบินในหลายประเทศในปัจจุบัน ผู้โดยสายต้องเช็คกระเป๋าขึ้นเครื่องเอง ทั้งต้องยกกระเป๋าหนักลงจากรถเข็นเพื่อขึ้นบนที่ชั่งน้ำหนัก และบางครั้งต้องยกไปเข้าเครื่องเอ็กซ์ย์อีกทีหนึ่งด้วย งานเหล่านี้ผู้โดยสารทำฟรี ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้ทำให้ สายการบินประหยัดต้นทุนไปได้มากด้วยนโยบายเช่นนี้และเทคโนโลยีที่สนับสนุน
(5) เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้นักท่องเที่ยวสามารถค้นคว้าหาข้อมูลโรงแรม ข้อมูลตั๋วเครื่องบิน จัดทริป ฯลฯ เองเพื่อนำไปประกอบการจองสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ กับเอเยนซี ในกรณีนี้งานหนักที่เคยเป็นของเอเยนซีก็ตกมาเป็นของนักท่องเที่ยวแทน โดยทำ SW เช่นนี้ฟรี ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนเป็นงานที่ได้รับเงินตอบแทน
(6) การเติมน้ำมันที่สถานีบริการด้วยตนเองเป็นทางโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก เจ้าของรถอาจได้รับผลตอบแทนเล็กน้อยจากราคาน้ำมันที่ถูกลง แต่ก็เปรียบเทียบไม่ได้เลยกับเงินค่าจ้างคนให้บริการเติมน้ำมันของสถานีจนเจ้าของได้ประโยชน์
หากปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลกกับทุกสถานีบริการก็หมายความว่าเจ้าของรถต้องทำงาน SW กันทั่วหน้าแทนบริษัทน้ำมันโดยทำให้เกือบฟรี
(7) ในวัน ๆ หนึ่งหากนับเวลาที่ผู้คนทั้งหลายต้องเสียไปกับการคืนรถเข็นซูเปอร์มาเก็ตไปยังจุดเก็บก็มหาศาล มันเป็นเวลาและแรงงานที่ลูกค้าต้องเสียไป โดยทำแทนผู้ให้บริการที่เคยเป็นผู้เก็บรถเข็น ถึงมันจะเป็นงานเล็ก ๆ แต่ก็คือ SW ตัวจริง
(8) ผู้บริโภคต้องอ่านคู่มือการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เองอย่างปวดหัวและเสียเวลา โดยดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ต่าง ๆ เพราะบริษัทส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่มีบริการตอบคำถามทางโทรศัพท์เช่นเมื่อก่อนอีกต่อไป SW ในรูปของการอ่านคู่มือเป็นงานที่ถูกผลักไปให้ผู้บริโภคทำเองแทน
หากพิจารณารอบตัวก็จะยิ่งเห็น SW มากขึ้นทุกทีในชีวิต เราต้องเสียเวลาซึ่งเป็นทรัพยากรที่หมดแล้วหมดไปอย่างมีค่ายิ่งไปกับงานที่ถูกโอนมาให้ผู้บริโภครับผิดชอบ องค์กรเอกชนนับวันก็ยิ่งเคลื่อนไปในทิศทางนี้มากขึ้นทุกทีในการดำเนินชีวิตและการทำงานเพราะเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเป็นผู้เปิดโอกาสให้
สิ่งที่สูญเสียไปอย่างสำคัญคือ การจ้างงาน ถ้าไม่มี SW ก็จะมีคนทำงานที่ได้รับผลตอบแทน เช่น คนประกอบชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ เลขานุการผู้บริหารระดับกลาง พนักงานร้านอาหาร พนักงานของซูเปอร์มาเก็ต พนักงานเติมน้ำมัน พนักงานเอเย่นต์ท่องเที่ยว พนักงานบริการตอบคำถามทางโทรศัพท์ ฯลฯ
การผลักภาระเช่นนี้ทำให้ชีวิตของผู้บริโภคต้องลำบากมากขึ้น แต่ละวันต้องเสียเวลาและเสียทรัพยากรต่าง ๆ ไปกับ SW ที่มิได้รับผลตอบแทน และนับวันมีทางโน้มที่มากขึ้นทุกทีเมื่อเทคโนโลยีเป็นใจให้ และบริษัททั้งหลายก็ชอบเพราะลดต้นทุน
ใครที่รู้สึกว่าในวัน ๆ หนึ่งนั้นเวลาหมดไปอย่างรวดเร็วกับอะไรก็ไม่รู้ อาจเห็นภาพชัดเจนขึ้นจากการตระหนักถึง SW ที่แพร่หลายไปทั่วโลกอย่างชนิดที่ผู้บริโภคไม่รู้ตัว
SW ช่วยให้เราเห็น “สิ่งที่มองไม่เห็น” และเข้าใจต้นทุนที่ต้องเสียไปอย่างแท้จริงในการบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ ในโลกของ “เศรษฐกิจใหม่” ในปัจจุบัน.