แรงงานสร้างสรรค์โลก ไม่ลืมแรงงานสูงวัย

แรงงานสร้างสรรค์โลก ไม่ลืมแรงงานสูงวัย

การดูแลคนเฒ่าคนแก่เป็นเรื่องสำคัญ พวกเขาดูแลสังคมทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมานานแล้ว ถึงเวลาที่รัฐต้องดูแลพวกเขาให้ดูแลตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่มีใครอยากแบมือขอเงินคนอื่น หากินเองภูมิใจกว่าเยอะ

คำกล่าวที่ว่า ‘แรงงานสร้างสรรค์โลก’ ไม่ได้เป็นคำกล่าวอ้างเกินจริง เพราะต่อให้มีปัจจัยการผลิตอื่นๆ ทั้งที่ดิน ทุน ผู้ประกอบการ แต่ถ้าไม่มีแรงงานแล้วใครจะทำ? ประเด็นที่ต้องคิดต่อคือ แรงงานสูงวัย

เรื่องนี้ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดไว้ดีว่า ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้น เป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องกลับมาพิจารณา เพราะเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของประเทศ ซึ่งการขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย

โดยเฉพาะกรณีที่ประเทศได้เข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าที่คาด และการไม่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังเหตุการณ์โควิด ดังนั้น กระทรวงการคลัง ควรมีนโยบายเรื่องของมาตรการการลดหย่อนภาษีเพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานกลุ่มผู้สูงวัยมากขึ้น

เหลียวมองนโยบายพรรคการเมืองผู้กำลังจะเข้ามาเป็นรัฐบาลชุดต่อไปจากการวิเคราะห์ของทีมงานกรุงเทพธุรกิจ ทุกพรรคมีนโยบายเอาใจผู้สูงอายุ ขอยกตัวอย่างนโยบายโดยไม่ระบุชื่อพรรค เช่น เพิ่มเบี้ยสูงอายุเป็นนโยบายที่พบมากที่สุด เพิ่มรายได้ผู้สูงอายุ การออมเพื่อวัยเกษียณภาคบังคับ ขยายอายุเกษียณเกิน 60 ปี ลดภาษีให้กับบริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุ ให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อจ้างงานผู้สูงอายุ

พูดง่ายๆ คือมีทั้งนโยบายรัฐให้เงินและนโยบายให้ผู้สูงอายุทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้ต่อไป ซึ่งการดูแลคนเฒ่าคนแก่เป็นเรื่องสำคัญ พวกเขาดูแลสังคมทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมานานแล้ว ถึงเวลาที่รัฐต้องดูแลพวกเขาให้ดูแลตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่มีใครอยากแบมือขอเงินคนอื่น หากินเองภูมิใจกว่าเยอะ ลองดูกรณีศึกษาในต่างประเทศ 

ญี่ปุ่น ประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ปี 2564 รัฐบาลใช้กฎหมายจ้างงานผู้สูงอายุฉบับแก้ไข ทำงานได้จนถึงอายุ 70 ปี บางบริษัทใช้ประโยชน์จากแรงงานกลุ่มนี้มากกว่าที่กฎหมายกำหนดว่าจ้างคนวัยเก๋าจนถึงอายุ 80 ปี จำนวนบริษัทที่มีระบบว่าจ้างพนักงานอายุไม่น้อยกว่า 70 ปี มีมากกว่า 50,000 แห่งในปี 2563 ปัจจุบันประชาชนอายุ 70 ปีขึ้นไปที่ทำงานมีราว 675,000 คน เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

ที่เกาหลีใต้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลการจ้างงานผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ส่วนสิงคโปร์เพื่อนบ้านอาเซียน หลายปีที่ผ่านมา ใครไปเที่ยวจะเห็นได้ชัดว่า คุณลุงคุณป้าทำงานกันเยอะแยะไปหมด รัฐบาลมีโครงการให้สินเชื่อจ้างงานคนชรา ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวนายจ้างและแรงงานสูงวัย

นี่เป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เพียงไม่กี่ประเทศ ขณะที่โลกเดินหน้าสูงสังคมสูงวัยไปทุกวัน ใครหาวิธีใช้แรงงานกลุ่มเส้นไหมสีเงินได้เร็ว ประโยชน์ย่อมตกแก่ทุกฝ่าย