ชีวิตคนทำงาน - จากตัว I มาเป็น t เล็กและ T ใหญ่
ชีวิตการทำงาน จะต้องมีการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง แม้เมื่อเป็นผู้นำ และมีข้อวิจารณ์กันมากขึ้นว่าควรจะพัฒนาทักษะคนทำงานและผู้นำแบบตัวอักษร I (ไอ ภาษาอังกฤษ) หรือ ตัว T (ที ภาษาอังกฤษ)?
ผู้นำแบบตัวไอ (I-Shaped Leaders) จะเป็นผู้ที่มีความรู้ลึก มีความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะด้าน เปรียบเสมือนตัวอักษรไอ ที่เป็นแนวดิ่งพุ่งตรงลงไป
ผู้นำแบบตัวที (T-Shaped Leaders) ก็มีทักษะ ความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้านที่รู้ลึก (เส้นขีดแนวดิ่งของตัวอักษร T) และยังเป็นผู้ที่มีความรู้กว้าง มีทักษะ ความชำนาญที่หลากหลาย (เส้นขีดแนวขวางของตัวอักษร T)
ผู้นำแบบ I-Shaped Leaders ถึงแม้จะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจริง แต่ก็ขาดทักษะและความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น การปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ นอกเหนือสิ่งที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของปัจจัยภายนอกต่างๆ ในปัจจุบัน ทำให้ผู้นำยุคใหม่ควรจะมีลักษณะของตัว T มากขึ้น นั้นคือ มีความยืดหยุ่น พร้อมที่จะเรียนรู้ ปรับตัวได้ดี สามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้เป็นโอกาส และสามารถผนวกรวมความรู้รอบให้เข้ากับความรู้ลึกที่ตนเองเชี่ยวชาญได้
ล่าสุดมีงานวิจัยจาก Hise Gibson อาจารย์ประจำ Harvard Business School ที่พบว่าสำหรับผู้นำที่เป็นตัว T นั้นยังมี T ใหญ่ และ t เล็ก
โดย T ใหญ่ จะเป็นนักคิดเชิงกลยุทธ์ มองเห็นภาพรวม มีวิสัยทัศน์ มองไปข้างหน้า และเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
ผู้นำแบบ T ใหญ่ จะพบในผู้บริหารระดับสูงที่เป็นระดับ C-Level หรือตำแหน่งที่ต้องเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน T ใหญ่จะให้ความสำคัญกับมุมมองหรือสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกองค์กร แล้วมองกลับเข้ามาในองค์กรเพื่อแสวงหาโอกาสในการพัฒนาปรับปรุง
พวก t เล็ก จะไม่ได้เพียงแค่มุ่งแต่งานที่ตนเองต้องทำเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างงานที่ตนเองทำกับเป้าหมาย หรือ ความต้องการขององค์กร และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อช่วยให้เป้าหมายขององค์กรบรรลุ
พวก t เล็กนั้นจะลงไปในรายละเอียดของแผนงานและโครงการต่างๆ มากกว่า T ใหญ่ มักจะพบในระดับผู้บริหารของหน่วยงานต่างๆ ภายในองค์กร ที่ดูแลเฉพาะฝ่ายหรือแผนก
จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วชีวิตคนทำงานหนึ่งคน ควรจะมีการพัฒนาจากความเป็นตัว I มาเป็น t เล็กและตามด้วย T ใหญ่ ตามการเติบโตของตำแหน่งหน้าที่
ในช่วงแรกของชีวิตการทำงาน ก็จะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เปรียบเสมือนตัว I เมื่อขึ้นเป็นผู้นำระดับต้นหรือกลางที่ดูแลหน่วยงานในองค์กร ก็จะต้องปรับจากตัว I มาเป็น t เล็กที่สามารถผสานความเชี่ยวชาญของตนเองให้เข้ากับเป้าหมายในภาพรวมขององค์กร
เมื่อก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ก็ต้องพัฒนาจาก t เล็กมาเป็น T ใหญ่ที่นอกจากจะสามารถบูรณาการระหว่างหน่วยงานภายในองค์กรเข้าด้วยกันแล้ว ยังจะต้องมีมุมมองในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงภายนอกองค์กรและสามารถเชื่อมโยงกลับเข้ามาสู่โอกาสขององค์กรได้
ความท้าทายคือจะพัฒนาจากคนทำงานตัว I ให้เป็น t เล็กและ T ใหญ่ได้อย่างไร?
จากตัว I มาเป็น t เล็กนั้นจะต้องเพิ่มประสบการณ์ในการทำงานที่หลากหลายขึ้นภายในองค์กรเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น หรือ การได้รับผิดชอบงานที่เป็นลักษณะของ Cross-functional มากขึ้น
จาก t เล็ก มาเป็น T ใหญ่นั้น จะต้องขยายประสบการณ์ของผู้บริหารผ่านทางการสร้างเครือข่ายภายนอกองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะของงานที่ต้องทำ หรือ การเรียนรู้ผ่านเครือข่ายภายนอก
สิ่งที่ต้องระวังคือ ไม่ใช่ว่าพอเป็นตัว T แล้วจะเน้นแต่การรู้รอบเพียงอย่างเดียว จนละเลยการพัฒนาความรู้ลึกที่มีด้วย มิเช่นนั้น ผู้นำแบบตัว T ที่จะพัฒนาขึ้นมาจะกลายเป็นตัว T ที่ไม่สมดุล เส้นขีดในแนวนอนนั้นจะยาว แต่เส้นขีดในแนวตั้งกลับสั้นลงเรื่อยๆ เรียกว่ารู้รอบแต่ไม่รู้ลึก.