ปรับเงินเดือนข้าราชการ ได้อย่างไรให้คุ้มเสีย
ข่าวการปรับเงินเดือนข้าราชการตั้งแต่ระดับ ปวช.ถึงปริญญาเอก ที่จะค่อยๆ ทยอยปรับเป็นขั้นบันไดเป็นระยะเวลา 2 ปี ถือว่าเป็นข่าวดีของคนอยากเดินทางสายนี้
ดูเหมือนว่านโยบายนี้มีการคิดไว้รอบคอบ มีการกำหนดแนวทางลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับงบประมาณอัตราค่าครองชีพที่ไว้ระดับหนึ่งแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากจะมองให้ไกลขึ้นอีกนิด จะเห็นว่ามีอีก 5 เรื่องที่ควรพิจารณาหามาตรการเสริมมาใช้ เพื่อให้การปรับเงินเดือนข้าราชการมีผลได้คุ้มกับผลเสียที่จะเกิดขึ้น
เรื่องที่ 1 ทำอย่างไรไม่ให้ SMEs เจ็บตัว
เงินเดือนข้าราชการ เป็นเงินเดือนอ้างอิงของตลาดแรงงาน เมื่อปรับขึ้น ก็จะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ที่กำลังหางาน และผู้ที่ทำงานอยู่แล้วแต่ฐานเงินเดือนต่ำกว่า หรือใกล้เคียงกับเงินเดือนเริ่มต้นของราชการ ทำให้ SMEs ที่กำลังเงินไม่สูงนักไม่สามารถดึงคนมาทำงานด้วย หรือเก็บคนไว้ได้นานพอ
การปรับขึ้นเงินเดือนของ SMEs จะกระทบกับโครงสร้างเงินเดือนในภาพรวมของธุรกิจ เพราะต้องปรับขึ้นเงินเดือนของทุกคนไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกัน ต้นทุนเพิ่มขึ้นในเวลาที่เศรษฐกิจยังไม่พุ่งแบบนี้เป็นเรื่องที่ SMEs ไม่ควรจะเจอ
เรื่องแบบนี้ธุรกิจใหญ่อาจไม่สะเทือนเพราะฐานเงินเดือนแรกเข้าสูงอยู่แล้ว แต่การขาดคนกับการสูญเสียคนสำหรับธุรกิจที่ไม่ใหญ่ไม่โตนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก บางทีอาจถึงขั้นชี้เป็นชี้ตายได้เลย เลยอยากเห็นมาตรการที่จะมาช่วยเหลือ SMEs
เรื่องที่ 2 คนเก่งจะเข้ามาแน่หรือ
คนเก่งไม่ได้เข้ามาทำงานในภาครัฐเพราะเงินเดือนเริ่มต้นเพียงอย่างเดียว ถ้าเป็นคนเก่งจริง การทำงานในภาคเอกชนต่อให้เงินเริ่มต้นจะน้อย แต่ไม่นานเขาก็จะมีโอกาสก้าวหน้ามากขึ้น จนเงินเดือนและตำแหน่งแซงการทำงานในภาครัฐไปได้
นอกจากนี้แล้ว หากค่าความเก่งเฉลี่ยของคนที่เข้ามาไม่สูงขึ้นอย่างสมน้ำสมเนื้อกับเงินเดือนที่เพิ่ม ก็จะกลายเป็นการจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อให้ได้ประโยชน์เท่าเดิม ได้คนมาเท่าไรก็ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป
เรื่องที่ 3 คนเก่งเข้ามาจะรักษาอย่างไร
คนเก่งจะแสดงความเก่งออกมาได้ต้องอยู่ในตำแหน่งงานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับเขา มีเจ้านายที่ดี มีพี่เลี้ยงที่ดี มีเพื่อนร่วมงานที่ดี มีอุปกรณ์ดี มีพื้นที่ในการทำงานที่ดี มีโอกาสในการก้าวหน้าเติบโตที่ดี มีสวัสดิการที่ดี มันต้องมีอีก “หลายดี” ที่จะมาเสริมเพื่อให้คนเก่งอยากจะอยู่ต่อไปนานๆ
ช่วงกลางของชีวิตการทำงานก็สำคัญเช่นกัน เพราะถ้ามาทำงานสักพักหนึ่งแล้ว รายได้ไม่พอจ่าย ก็ยังมีโอกาสจะออกไปหางานที่อื่นได้
ดังนั้น โอกาสเสียคนเก่งก็ยังมีอยู่แม้ว่าเขาจะทำงานในหน่วยงานของรัฐมาพักหนึ่งแล้ว
เรื่องที่ 4 การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้
เพื่อให้มีคนน้อย งานดี มีผลงานเยอะ การปรับโครงสร้างเงินเดือนกับการปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดี ล้วนแต่เป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก หากไม่ควบคุมให้ดีจะกระทบกับงบประมาณในภาพรวม
ดังนั้น การเพิ่มคนเก่งจึงต้องควบคุมหรือลดกำลังคน แล้วทำให้คนเก่งเหล่านี้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้ทำงานสำคัญจริงๆ งานอะไรสามารถใช้ระบบทำแทนได้ก็ให้ระบบทำแทน
ด้วยเหตุนี้ การพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จึงต้องได้รับงบประมาณสนับสนุนและมีแรงหนุนจากรัฐบาลอย่างเพียงพอ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำคู่ขนานกันไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว
เรื่องที่ 5 วัฒนธรรมในการทำงานที่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่
คนรุ่นใหม่ที่เข้ามีแนวคิด ความคาดหวัง และวิถีการทำงานแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน การนำคนใหม่เข้ามาโดยหวังว่าเขาจะปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรที่มีอยู่เดิมได้นั้น อาจไม่ใช่กรอบคิดที่เหมาะสมนัก
หน่วยงานต้องหาจุดสมดุลระหว่างวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ว่าเรื่องไหนดีแล้วควรใช้ต่อไป เรื่องไหนต้องแก้ไข เรื่องไหนต้องตัดทิ้ง เพื่อให้หาจุดพบกันระหว่างสิ่งที่มีอยู่เดิมกับความคาดหวังของคนรุ่นใหม่
ความจริงแล้ว เรื่องนี้อาจจะมีความสำคัญกับการตัดสินใจเข้าทำงานของคนรุ่นใหม่พอๆ กับ หรือมากกว่าเรื่องเงินเดือนเสียด้วยซ้ำ
เนื่องจากโลกของงานในยุคนี้ มีหนทางในการหารายได้เสริมมากมาย ไม่จำเป็นต้องพึ่งพารายได้ทางเดียวเหมือนเมื่อก่อน
ท้ายที่สุดแล้ว การยกระดับขีดความสามารถของภาครัฐนั้น จะใช้การปรับเงินเดือนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องปรับระบบนิเวศการทำงานทั้งหมดไปด้วยกัน
หากมองจากมุมของเศรษฐศาสตร์แล้ว การทำงานคือการสะสมทุนมนุษย์ เปรียบเหมือนกับการปลูกต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้จะงอกงามเติบโตได้จำเป็นต้องอยู่ในดินที่เหมาะสม มีน้ำ มีแสง มีปุ๋ย มีต้นไม้อื่นที่คอยสนับสนุนกัน โจทย์ใหญ่เกินกว่าจะแก้ได้ด้วยเงินเดือนเพียงอย่างเดียว.