Tech Talent เลย์ออฟแล้วไปไหน | ต้องหทัย กุวานนท์
ปีที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่รวมถึงสตาร์ทอัพ ที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ได้เลิกจ้างพนักงาน Tech Talent ไปแล้วกว่า 260,000 กว่าตำแหน่ง
แค่เดือนแรกของปีนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ layoffs.fyi รายงานว่าบริษัทเทคโนโลยีอีก 120 บริษัท เลิกจ้างพนักงานเพิ่มอีกถึง 31,751 ตำแหน่ง แนวโน้มการเลิกจ้างงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีส่งผลกระทบอย่างมาก
เพราะบริษัทที่ประกาศลดพนักงาน เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าและโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น Meta, Google, Microsoft, Amazon, และ Apple
ส่วนบริษัทขนาดไซส์รองลงมาที่เติบโตจนกลายเป็นผู้นำรายใหม่ของอุตสาหกรรมอย่าง Spotify และ Twitch ต่างก็เลย์ออฟพนักงานไปแล้วเกินกว่า 20% ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา
ในมุมของธุรกิจการเลิกจ้างพนักงานมักจะถูกมองว่าเป็น “โอกาส” ในการปรับไซส์ขององค์กรให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นว่า องค์กรจะสามารถพลิกฟื้นผลกำไรให้ดีขึ้นกว่าเดิม
นักวิเคราะห์มองทิศทางการเลย์ออฟครั้งนี้ว่า นี่คือการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ผลประกอบการขององค์กรอาจเป็นแค่หนึ่งเหตุผล
แต่ปัจจัยที่แท้จริงคือ การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ที่พร้อมแล้วในการทดแทนตำแหน่งงานปัจจุบันที่มีอยู่เดิม
และที่สำคัญจังหวะการเลย์ออฟที่ดีที่สุดก็คือ การอ้างเหตุผลทางเศรษฐกิจและเลือกช่วงเวลาที่ทุกบริษัทในอุตสาหกรรมต่างก็พากันเลิกจ้างงานเช่นเดียวกัน
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้ว Tech Talent จำนวนมากที่ออกจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะไปไหนต่อ?
ข้อมูลที่น่าสนใจของบริษัทวิจัย CBRE ระบุว่าตลาดงานด้านเทคโนโลยีส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่แค่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเท่านั้น 60% ของตำแหน่งงานด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่ทั้งหมดกลับอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม Non-tech
เช่น ธุรกิจการบิน ธุรกิจมีเดีย ธุรกิจคอนซูเมอร์ ธุรกิจเฮลท์แคร์ ธุรกิจการเงิน ธุรกิจที่ปรึกษา วิจัยและวิศวกรรม ธุรกิจพลังงาน และ ธุรกิจค้าปลีก
ตัวเลขสถิติที่น่าสนใจก็คือในช่วงสองปีที่ผ่านมาของ “The Great Tech Layoff” บริษัทในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ไม่มีการเลิกจ้างพนักงานสายเทคโนโลยี แต่กลับมีแนวโน้มจ้างงานเพิ่มในอัตราเฉลี่ย 7.5%
จากนี้ไปจนถึงปี 2027 ตลาดงานในกลุ่มอุตสาหกรรม Non-tech จะกลายเป็นสนามแข่งขันใหม่ที่แย่งชิงคนเก่งจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
ผลสำรวจของบริษัทจัดหางานพบว่า 80% ของพนักงานสายเทคที่ถูกเลย์ออฟจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการหางานใหม่และส่วนใหญ่ไปร่วมงานกับกลุ่ม Non-tech โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจที่ปรึกษา ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจการบิน และ ธุรกิจเฮลท์แคร์
เมื่อโอกาสในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม กำลังย้ายขั้วจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีกระจายไปสู่อุตสาหกรรมอื่น เริ่มด้วยการกระจาย Tech Talent ออกไปสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อทรานส์ฟอร์มองค์กรไปสู่สิ่งใหม่
สิ่งที่องค์กรต้องทำเพื่อรองรับคนเก่งๆ เหล่านี้ คือการเร่งปรับวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกับการทำงานของคนกลุ่มนี้ เช่น รูปแบบการทำงานแบบยืดหยุ่น ผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์ที่แข่งขันได้ การทำงานแบบทางไกล
และที่สำคัญที่สุดก็คือ งานที่มอบหมายให้ทำต้องมีความท้าทายและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง เพราะสำหรับคนกลุ่มนี้ “ความท้าทาย” ของงานคือแรงจูงใจสำคัญพอๆกับกับผลตอบแทน
การเคลื่อนย้ายแรงงานสายเทค จะเป็นกำลังสำคัญในการทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมอื่น ภารกิจหลักของการช่วงชิงโอกาสคือ การปรับวิถีองค์กรให้พร้อมรองรับคนสายพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพในการนำพาองค์กรไปสู่อนาคต.