ทักษะทุนชีวิตคนไทยต่ำกว่าเกณฑ์ เพิ่มการลงทุนเยาวชน วัยแรงงาน
กสศ.-ธนาคารโลก และคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. จัดทำรายงานการสำรวจทักษะและความพร้อมของเยาวชน และวัยแรงงาน เผยคนไทยทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ เสนอภาครัฐเร่งลงทุนเสริมทักษะทุนชีวิตด้านการรู้หนังสือ ดิจิทัล อารมณ์และสังคม พร้อมลงทุนมนุษย์
KEY
POINTS
- ผลสำรวจทักษะทุนชีวิต พบคนไทยทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ในเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะทักษะทุนชีวิตด้านการรู้หนังสือ ด้านดิจิทัล และด้านอารมณ์และสังคม
- แนะภาครัฐเร่งการลงทุนเสริมสร้างทักษะทุนชีวิตทั้ง 3 ด้าน ผ่านการพัฒนาการเรียนรู้ที่มีอยู่ทุกระดับการศึกษา และอบรมวัยแรงงานอย่างเสมอภาค สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ และการลงทุนในทุนมนุษย์
- ทักษะทุนชีวิตของแรงงาน ต้องมีทักษะพื้นฐานในการทำงาน ความสามารถในการถ่ายทอดเพื่อให้ทำงานได้ดี ไม่ยึดติดกับงานแบบเดิมๆ ต้องปรับตัวสม่ำเสมอ และความก้าวหน้าในการทำงาน
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ธนาคารโลก และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เชื่อว่าหากเด็กเยาวชนและกำลังแรงงานของไทยได้รับความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์ ประเทศไทยจะสามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ด้วยพลังของคนไทยทุกคนภายในระยะเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
3 หน่วยงานภาคี จึงได้ร่วมกันจัดทำ 'การวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน (Adult Skills Assessment in Thailand : ASAT)' ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเยาวชนและผู้ใหญ่อายุ 15-64 ปีครบทุกภูมิภาคในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นการค้นหากุญแจดอกสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพของเด็กเยาวชนและประชากรวัยแรงงานไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันตรงกับความต้องการทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติได้เพื่อสร้างห่วงโซ่นโยบาย ( Policy Value Chain)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ผลสำรวจทักษะทุนชีวิตของไทย
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ผลของรายการฉบับดังกล่าว ทำให้เกิดข้อค้นพบ 3 ด้าน ได้แก่
1.ทักษะทุนชีวิตของเยาวชนและวัยแรงงาน พบว่าเยาวชน และวัยแรงงานมีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ในเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะทักษะทุนชีวิตด้านการรู้หนังสือ ด้านดิจิทัล และด้านอารมณ์และสังคม ซึ่ง 2 ใน3 หรือ 64.7% พบว่าเยาวชนและวัยแรงงานมีทักษะทุนชีวิตด้านการอ่าน การรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์
ขณะที่ 3 ใน 4 หรือ 74.1 % มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิตอลต่ำกว่าเกณฑ์ และ 30.3 % มีทักษะทุนชีวิตด้านอารมณ์และสังคมที่ต่ำกว่าเกณฑ์ โดยสัดส่วนเยาวชนและวัยแรงงานมีทักษะด้านการรู้หนังสือและดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์ จะทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือ 20.1% ของจีดีพี ในปี 2565 ซึ่งประเด็นเหล่านี้ทำให้เกิดความท้าทายอย่างมากต่อภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะประเทศไทยมีความต้องการก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง หลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง
2.รายงานฉบับนี้ได้มีการทบทวนของภาคนโยบาย ภาคท้องถิ่น ภาคการศึกษา และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พบว่า วิกฤตด้านทักษะไม่ได้เป็นผลมาจากผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งผู้กำหนดนโยบายได้แสดงออกชัดเจนว่ามีการลงทุนในการพัฒนาทักษะต่างๆ แต่วิกฤตด้านทักษะที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน น่าจะเป็นผลมาจากความไม่แข็งแกร่งของรากฐานด้านการศึกษา เพราะแม้ประเทศไทยจะใช้งบประมาณอย่างมาก แต่มีข้อจำกัดในโครงสร้างของระบบที่ทำให้ผู้เรียนไม่ได้รับประโยชน์สูง จำเป็นต้องพัฒนาทักษะทุนชีวิตของทุกช่วงวัยให้มีความก้าวหน้า
3.รายงานฉบับนี้ ได้มีข้อเสนอทางออกแก่ประเทศในการสร้างระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาทักษะทุนชีวิตได้มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน
3 ข้อเสนอกสศ.พัฒนาทักษะทุนชีวิต
“กสศ.ได้มีการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.เร่งการลงทุนเสริมสร้างทักษะทุนชีวิตทั้ง 3 ด้าน ผ่านการพัฒนาการเรียนรู้ที่มีอยู่ทุกระดับการศึกษา และอบรมวัยแรงงานอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะวัยแรงงานที่เปราะบาง ซึ่งมีการเพิ่มขึ้นของวัยแรงงานที่เปราะบาง ถือเป็นตัวชี้วัดด้านพัฒนาการของไทย 2.สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ ให้ทุกภาคส่วนของสังคม เสริมพัฒนาทักษะทุนชีวิต เกิดระบบนิเวศ พัฒนาการลงทุนที่ยั่งยืน และ3.การลงทุนในทุนมนุษย์ และมาตรการอื่นๆ เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และนำพาประเทศไทยไปสู่จุดที่รัฐบาลต้องการ โดยต้องมีการส่งเสริมให้ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนพัฒนาทักษะทุนชีวิตสู่การปฎิบัติแก่ประชาชนทุกคน” ดร.ประสาร กล่าว
ดร.ประสาร กล่าวต่อไปว่าประเทศไทยจะขจัดความยากจนได้อย่างเสมอภาคนั้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล และหากรัฐบาลใดที่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาทุนมนุษย์ ทุนทักษะชีวิตสำเร็จ จะเป็นรัฐบาลที่ได้รับการจดจำ และรัฐบาลใดที่ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ทุนมนุษย์ด้วยองค์ความรู้และงานวิจัยจะเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากภาคเอกชน และกองทุนทั่วโลก
เพิ่มทักษะทุนชีวิตความท้าทายของรัฐ
ขณะที่ ‘โคจิ มิยาโมโตะ’ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก กล่าวว่าทักษะทุนชีวิต หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องมีการกำหนดการส่งเสริมทักษะทุนชีวิตให้แก่คนไทย เพราะทักษะทุนชีวิตถือเป็นรากฐานในการใช้ชีวิต โดยองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ทุกคนต้องมีทักษะทุนชีวิตเพื่ออยู่รอด ได้อย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ
“ระบบการศึกษา และภาครัฐต้องมีการส่งเสริมทักษะทุนชีวิต ให้แก่ทุกคน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และวัยแรงงาน เป็นเสมือนกับรากฐานที่แข็งแกร่งของการดำรงชีวิต และการมีทักษะชีวิตที่ดี คือความสามารถในการดูแลสมาชิกในครอบครัว หาเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง ทำให้คุณภาพชีวิตของตนเอง และครอบครัวดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น ขณะที่คนวัยแรงงาน ต้องมีทักษะที่ซับซ้อนและเข้าใจเทคนิคนวัตกรรมต่างๆ ทำงานเป็นทีมได้ มีความคิดสร้างสรรค์ แล้วต้องขับเคลื่อนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและนวัตกรรมในองค์กรได้”
ทั้งนี้ ทักษะความสามารถในการอ่าน ต้องสามารถวิเคราะห์ ประเมินข้อมูลให้เกิดประโยชน์ ซึ่งผลจากการอ้างอิง 32 ประเทศทั่วโลก พบว่าการเพิ่มการรู้หนังสือ 1 % ส่งผลให้ GDP ต่อหัวเพิ่มขึ้น 3 % เช่นเดียวกับการมีทักษะดิจิทัลต้องสามารถใช้อุปกรณ์เหล่านั้น ในการดึงข้อมูล จัดการข้อมูล ประเมินวิเคราะห์ ส่วนทักษะทางอารมณ์และสังคม จำเป็นอย่างมากในการใช้ชีวิต การอยู่ร่วมกันในสังคม ความสามารถในการทำงานกับผู้อื่นการเข้าใจผู้อื่น และการจัดการกับอารมณ์ตัวเอง
คุณสมบัติทักษะทุนชีวิตของแรงงาน
สำหรับคุณสมบัติหลัก 3 ประการ ทักษะทุนชีวิตของแรงงาน ได้แก่
1.ทักษะพื้นฐาน ในการทำงาน การใช้ชีวิต
2. ความสามารถในการถ่ายทอดเพื่อให้ทำงานได้ดี ไม่ยึดติดกับงานแบบเดิมๆ ต้องปรับตัวสม่ำเสมอ
3.ความก้าวหน้าในการทำงาน ต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองมีความสามารถ พัฒนาทักษะอย่างหลากหลาย ให้มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงควรจะมีทักษะทางสังคม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญ
“ระบบการพัฒนาทักษะต้องให้สอดคล้องกันอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงชีวิตในการศึกษา และการอบรม ต้องส่งเสริมทักษะการอ่านออกเขียนได้ ให้ทุกคนรู้หนังสือ รวมถึงต้องออกแบบหลักสูตรพัฒนาทักษะทุนชีวิตแก่คนทุกช่วงวัย และต้องมีการลงทุนในเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน และวัยแรงงานที่จำเป็นต้องมีการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต”
สร้างโอกาสทักษะทุนชีวิตแรงงานไทย
ดร.แบ๊งค์ งานอรุณโชติ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวในช่วงเสวนา แนวทางการสร้างโอกาสทักษะทุนชีวิตสู่การพัฒนากำลังคน ว่าการจะยกระดับเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศได้ ต้องพัฒนาแรงงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจต้องกำหนดทักษะแรงงานร่วมด้วย ซึ่งการสร้างเทคโนโลยีและแรงงาน ต้องมอง 3 เรื่อง การสร้างเทคโนโลยีที่ทำให้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ สร้างงานที่ช่วยในการเติบโต และทักษะแรงงานแบบไหนที่ต้องเร่งสร้างให้แก่นักศึกษาของไทย
ศ.วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่าทุกหน่วยต้องร่วมกันพัฒนาทักษะแรงงาน ที่เริ่มจากจุดเล็กๆ และมีความเชื่อว่าทำได้ การพัฒนาทักษะทุนชีวิตในกลุ่มแรงงานให้เกิดขึ้นจริง จะต้องมีการกระจายงานวิจัย มีการบ่งชี้ชัดเจน เรื่องนี้ไม่ใช่อยู่เพียงในระบบการศึกษา การสร้างเครือข่ายให้ทุกคนมาร่วมเดินเป็นสิ่งสำคัญ