ไทยก้าวสู่ 'สังคมสูงวัย' ระดับสุดยอด กระทบตลาดแรงงาน
สถานการณ์สูงวัยปี 67 ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด เดือนธ.ค.66 มีผู้สูงอายุ 20.1-20.2% ขณะที่เด็กเกิดใหม่เพียง 4.3 แสนคน ก.แรงงาน เผยนโยบายพัฒนาทักษะแรงงานสูงวัยพร้อมรับสภาวะการปฎิวัติทางอาชีพ นักเศรษฐศาสตร์ แนะสร้างระบบการจ้างงานสูงวัย ยกระดับเศรษฐกิจ
KEY
POINTS
- ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด เน้นส่งเสริมองค์กรจ้างผู้สูงอายุทำงานมากขึ้น พัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ ที่แรงงานผู้สูงอายุสนใจ หรือจำเป็นต้องมี
- คาดอีก 60 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะลดลงครึ่งหนึ่งหรือเหลือประชากรเพียง 33 ล้านคน แบ่งเป็น วัย 0-14 ปี เหลือ1 ล้านคน วัยทำงานเหลือ 14 ล้านคน และวัยสูงอายุเพิ่มเป็น 18 ล้านคน
- 3รูปแบบการจ้างงานผู้สูงอายุ เน้นระบบการทำงานแบบมีนายจ้างหรือขยายการเกษียณอายุการทำงาน จ้างงานผ่านระบบของการทำงานไม่เต็มเวลา จ้างงานด้วยรูปแบบCSR ขององค์กร
จากฐานข้อมูลของกรมการปกครองคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2567 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด หรือ Super Aged Society อย่างเต็มรูปแบบ โดยจะมีประชากรผู้สูงอายุ หรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็น 20.17% ของประชากรรวม จากประชากรทั้งประเทศที่ 66,057,967 คน โดยตัวเลขล่าสุดในเดือนธันวาคม 2566 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ระหว่าง 20.1-20.2%
ใน 10 เดือนแรกของปี 2566 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 433,030 คน ขณะที่มีจำนวนคนตาย 472,546 คน ทำให้ประชากรไทย ณ เดือนตุลาคม ปี 2566 ลดลง 37,516 คน จาก 66.09 ล้านคน จากตัวเลขดังกล่าวหากแบ่งตามช่วงวัย (Generation)พบว่า
- Gen Alpha ผู้ที่เกิดหลังปี 2555 มีสัดส่วน 11.28%
- Gen Z ผู้ที่เกิดปี 2540-2555 มีสัดส่วน 20.23%
- Gen Y ผู้ที่เกิดปี 2524-2539 มีสัดส่วน 23.25%
- Gen X ผู้ที่เกิดปี 2508-2523 มีสัดส่วน 24.65%
- Baby Boomer ผู้ที่เกิดปี 2489-2507 มีสัดส่วน 17.07%
- Baby Boomer ผู้ที่เกิดก่อนปี 2488 มีสัดส่วน 3.52%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
อายุ 40+ ออกกำลังกายอย่างไร? ให้ฟิต หน้าเด็ก อัตราการเต้นของหัวใจปกติ
ก.แรงงานพัฒนาทักษะสูงวัยพร้อมทำงาน
นายธานี ศิริล้น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่าประเทศไทยภาครัฐต่างก็ให้ความสำคัญในการก้าวสู่สังคมสูงวัย และโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งก.แรงงาน ได้มีนโยบายในการพัฒนาตนเองของแรงงานผู้สูงอายุให้ก้าวทันการเปลี่ยนโลกแห่งทำงานที่จะเกิดขึ้น
โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี ให้แรงงานสูงอายุมีความรู้และคุ้นเคยกับเทคโนโลยี สามารถใช้เทคโนโลยีในการทำงาน และเรียนรู้จากเทคโนโลยีโดยไม่ได้มีข้อจำกัดในเรื่องอายุ
นอกจากนั้น จะต้องมีการดูแลสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุในไทยมีปัญหาเรื่องสุขภาพค่อนข้างมาก ดังนั้น จะมีกองทุนฯ มีแผนในการพัฒนาและดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้สูงอายุหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพกาย สุขภาพใจพร้อมเป็นแรงงานในตลาดแรงงาน
ขณะเดียวกันส่งเสริมให้องค์กรนายจ้างมีการจ้างผู้สูงอายุทำงานกับองค์กรมากขึ้น รวมถึง พัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ ที่แรงงานผู้สูงอายุสนใจ หรือจำเป็นต้องมี เช่น ทักษะด้านดิจิทัล มีการอบรมคอร์สทั้งที่แบบเรียน เป็นจริงเป็นจัง และแบบเรียนรู้ผ่านทางระบบออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งทักษะที่พัฒนานั้นเพื่อหางานทำ หรือพัฒนาทักษะไว้รองรับโอกาสในอนาคต ตลอดจนสร้างงานด้วยตนเองได้ เป็นต้น
“ตลาดแรงงานกำลังจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบขนานใหญ่ ทั้งตลาดแรงงานสำหรับคนรุ่นใหม่ ไปจนถึงตลาดแรงงานสำหรับรองรับผู้สูงอายุ และสภาวะการปฎิวัติทางอาชีพ (Career Disruption) ที่จะทำให้เกิดการปรับตัวอย่างมหาศาล ในด้านของผู้สูงอายุเอง หลายองค์กรต่างช่วยกันเตรียมรับมือในเรื่องนี้”นายธานี กล่าว
เติมทักษะHard skill -Soft Skillแก่แรงงาน
นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่าตามบทบาทหน้าที่ของกระทรวงแรงงานนั้น จะต้องพัฒนาทักษะความสามารถของคนวัยแรงงานให้สามารถทำงาน มีทักษะตรงกับตามที่สถานประกอบการต้องการ และรู้จักการปรับตัว เท่าทันเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะตอนนี้ตลาดแรงงาน สถานประกอบการมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้งานจำนวนมาก
อีกทั้งในการอบรมพัฒนาแรงงานตลอดระยะเวลา 30 กว่าปี กว่าแรงงานจะเกษียณนั้น จะมุ่งเน้นเติม Hard sll ความรู้ความสามารถในเชิงเทคนิคให้แก่แรงงาน แต่ในปัจจุบันการเติม Hard skill อย่างเดียวคงไม่พอที่จะช่วยทำให้กระบวนการผลิตดีขึ้น จึงต้องมีการเติม Soft Skill ได้อย่างไรบ้าง
“คนเราเกิดมาพร้อมกับความถนัดและความเชี่ยวชาญในระดับหนึ่งก่อนที่จะถูกสร้างหรือเพิ่มเติมบางส่วน กระทรวงศึกษาและกระทรวงแรงงานได้ร่วมมือกัน มีนโยบายการทดสอบความถนัดของเด็กว่าพร้อมไปประกอบอาชีพอะไร การทดสอบดังกล่าวทำให้เด็กรู้ว่าเขาสนใจอะไร และสิ่งที่สนใจเขามีทักษะไปพร้อมประกอบอาชีพหรือไม่ ซึ่งการทดสอบเหล่านี้ต้องตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดแรงงานร่วมด้วย สิ่งที่เป็นนโยบายเราจะทำอย่างไรให้แรงงานมีทักษะทั้ง Hard skill และSoft Skill ควบคู่กันไปด้วย”นางนภสร กล่าว
สร้างระบบการจ้างงานสูงวัย อัพเศรษฐกิจ
ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าปัจจุบัน ประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ และคาดการณ์ 3 ปีหลังจากนี้ไทยจะมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมากกว่าประชากรวัยเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ดังนั้น การสูงวัยของประชากรเป็นประเด็นท้าทายต่อการพัฒนาเศษฐกิจและสังคมของประเทศ การเตรียมพร้อมต่อสังคมสูงวัย จึงมีความจำเป็นเพื่อให้เศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวได้ และประชากรผู้สูงอายุมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม
“การส่งเสริมรายได้และการมีงานทำของผู้สูงอายุ การจ้างงานผู้สูงอายุ เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะเป็นการรักษากำลังการผลิตในระยะยาว พร้อมทั้งเสริมสร้างศักยภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นผู้สูงอายุ โดยมาตรการหลักจะเป็นไปตามกลไกของตลาดแรงงานและยังคงขึ้นกับความต้องการของนายจ้างที่จะตัดสินใจจ้างงานผู้สูงอายุหรือไม่ ฉะนั้น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการอบรม พัฒนาทักษะให้แก่ผู้สูงอายุ เพื่อการจ้างงานผู้สูงอายุได้อย่างมีระบบ”ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าว
3 รูปแบบส่งเสริมรายได้-การมีงานทำสูงวัย
ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยเรื่อง 'ส่งเสริมการมีรายได้และการมีงานทำของผู้สูงอายุ ตามนโยบายประชารัฐเพื่อสังคม' จัดทำโดยผศ.ดร.ศุภชัย และคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ค้นพบรูปแบบเพื่อเสริมสร้างการจ้างงานผู้สูงอายุได้ 3 รูปแบบ ได้แก่
1. เป็นการจ้างงานผู้สูงอายุที่อยู่ในระบบการทำงานแบบมีนายจ้าง หรือการขยายการเกษียณอายุการทำงาน โดยเน้นผู้สูงอายุที่มีการทำงานอยู่ในระบบ
2. เป็นการจ้างงานผู้สูงอายุผ่านระบบของการทำงานไม่เต็มเวลา เป็นแรงงานส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต หรือการจัดระบบตลาดสินค้าที่มีผู้สูงอายุเป็นผู้ผลิตและเป็นผู้ขาย ซึ่งเป็นการดำเนินการที่มีความต่อเนื่อง โดยกลไกส่งเสริมรูปแบบของการทำงาน คือ มาตรการภาครัฐที่ส่งเสริมให้สถานประกอบการมีความยืดหยุ่นในการจ้างงานผู้สูงอายุ เช่น การทำตลาดสินค้าให้กับผู้สูงอายุ และการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการและการเพิ่มทักษะการทำงานให้ผู้สูงอายุ
3.เป็นการจ้างงานผู้สูงอายุผ่านกลไกของการทำ CSR ของกิจการต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณด้านความรับผิดชอบต่อสังคมมาเป็นงบประมาณเพื่อการจ้างผู้สูงอายุ การบริจาคเพื่อให้เกิดกิจกรรมที่ส่งเสริมศักยภาพของผู้สูงอายุในการทำงาน ซึ่งการดำเนินการลักษณะนี้อาจไม่ได้เกิดการจ้างงานมากนักและอาจขาดความต่อเนื่อง แต่ความตระหนักต่อสังคมการให้นความสำคัญต่อการจ้างงานผู้สูงอายุ
กล่าวโดยสรุป เพื่อเป็นการส่งเสริมรายได้และการมีงานทำของผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรมภาครัฐควรมีมาตรการเสริมอื่น ๆ เพื่อจูงใจให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ และสนับสนุนการจ้างงานผ่านรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้เป็นหนึ่งในกำลังแรงงาน ไม่เพียงช่วยให้เกิดรายได้เท่านั้น แต่ยังช่วยลดภาระพึ่งพิงสวัสดิการจากภาครัฐ ไปพร้อมสร้างคุณค่าให้แก่ผู้สูงอายุอีกด้วย