กระทรวงแรงงาน ชี้แจงการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม
กระทรวงแรงงาน ชี้แจงการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม การขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จากเดิม 15-60 ปี เป็น 15-65 ปี สงเคราะห์กรณีคลอดบุตรเพิ่ม จากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน พร้อมปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวชี้แจงการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน คณะผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงหลักการในการเสนอร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม ว่าด้วยกฎหมายประกันสังคมที่ใช้บังคับในปัจจุบัน มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ที่ผ่านมายังคงส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของผู้ประกันตนในการดำรงชีพ
ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันทางสังคม และได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสังคมที่มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้มีการผลักดัน และการเสนอร่างกฎหมาย ฉบับนี้ตั้งแต่ปี 2565 แต่มีการยุบสภา กฎหมายจึงตกไป ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยการขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จากเดิม 15-60 ปี เป็น 15-65 ปี
- การให้ผู้ที่รับเงินบำนาญชราภาพสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนต่อได้ โดยได้รับความคุ้มครองใน 3 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย
2. การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ โดยให้ผู้ประกันตนหญิงที่คลอดบุตรได้รับเงินสงเคราะห์กรณีคลอดบุตรเพิ่ม จากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน ซึ่งสอดคล้องกับพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่ให้ลูกจ้างหญิงสามารถลาคลอดได้เป็นระยะเวลา 98 วัน
- ผู้ทุพพลภาพได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เพิ่ม จากเดิม 50% เป็น 70%
- เพิ่มความคุ้มครองกรณีสงเคราะห์บุตรในช่วง 6 เดือน ที่ผู้ประกันตนออกจากงาน
- ผู้ประกันตนที่อายุไม่เกิน 60 ปี มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน
3. การปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ มาตรการ 3 ขอ :
- ขอเลือก ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน เมื่ออายุครบ 55 ปี สามารถเลือกรับเป็นเงินบำนาญ หรือเงินบำเหน็จได้
- ขอคืน กรณีท้องที่หนึ่งท้องที่ใดเกิดพิบัติภัยอย่างร้ายแรงอันส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้ประกันตนหรือผู้ซึ่งมีเงินสมทบกรณีชราภาพ สามารถขอรับเงินชราภาพบางส่วนได้
- ขอกู้ ผู้ประกันตนที่มีเงินสมทบกรณีชราภาพ สามารถนำเงินชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินที่มีความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมได้
นอกจากนี้ ยังให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถขอรับเงินบำนาญล่วงหน้าได้ไม่เกิน 60 เดือน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมถึงการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีประเด็นที่หลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม ที่จะเป็นการยกเลิกระบบการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนนั้นว่าร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม ฉบับนี้ มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมที่กำหนดให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทน ฝ่ายผู้ประกันตนต้องมาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด
เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อกำหนดให้วิธีการได้มาของคณะกรรมการประกันสังคมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีเจตนาเพื่อให้มีความยืดหยุ่นในกรณีที่เกิดสถานการณ์ที่มีเหตุสุดวิสัย เช่น กรณีที่มีโรคระบาด หรือเกิดภัยพิบัติอันอาจกระทบการเลือกตั้งฯ ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ได้กำหนดให้ออกเป็นประกาศกระทรวงในการกำหนดวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน
โดยประกาศกระทรวงนั้นจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณา และให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคม ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคมมีอำนาจหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎหมายและระเบียบ ก่อนที่จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ จึงจะออกประกาศฯ
กระทรวงแรงงาน จึงขอยืนยันว่า หลักการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนยังคงมีอยู่เช่นเดิม ขอให้ทุกฝ่ายมีความมั่นใจว่า สำนักงานประกันสังคมดำเนินงาน โดยผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ