กองทุน สปส. 2.4 ล้านล้าน ยังอยู่ดี-ลงทุนมั่นคง?
สำนักงานประกันสังคม ย้ำ สิทธิการรักษาพยาบาล “กรณีเจ็บป่วย” ครอบคลุมทุกโรค ทุกความเจ็บป่วย ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนกว่า 267 แห่ง สะดวก ครบ จบ ในครั้งเดียว
ท่ามกลางข้อสงสัยของผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมทุกเดือน และการบอกกันปากต่อว่า “ถ้าออกจากงาน” ไม่ต้องอยู่ในระบบประกันสังคม ไปใช้สิทธิที่ไม่ต้องจ่ายก็ได้รับ “การรักษาพยาบาล” ที่ไม่แตกต่าง ทำให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีนายจ้างหลายรายเลือกไปอยู่ระบบสวัสดิการ “การรักษาของรัฐบาล” แทน
ล่าสุด 2 มี.ค. 2567 “บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์” เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้สร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับประเด็น “การรักษาของผู้ประกันตน” โดยย้ำว่าสิทธิการรักษาพยาบาล “กรณีเจ็บป่วย” ครอบคลุมทุกโรค ทุกความเจ็บป่วย ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนกว่า 267 แห่ง สะดวก ครบ จบ ในครั้งเดียว และยังสามารถเข้ารับบริการได้ในโรงพยาบาลทุกขนาดตั้งแต่ "ปฐมภูมิ" ถึง "ตติยภูมิ" ที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือ สปส.
รายงานตัวเลขเงินสะสมของกองทุน สปส. ไตรมาส 4 ปี 2566 เดือน ธ.ค. ระบุว่า มีเงินลงทุนสะสม 2,439,912 ล้านบาท เป็นเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาลนำไปลงทุน 1,551,479 ล้านบาท ผลตอบแทนสะสมจากการลงทุน 888,433 ล้านบาท สัดส่วนการลงทุนกองทุนแยกเป็นการลงทุนตามประเภทหลักทรัพย์ ปี 2566 เป็น 12 หลักทรัพย์ ได้แก่
1. เงินสดและพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้น 1%
2. ตราสารหนี้ไทย 60%
3. ตราสารหนี้ประเทศ กลุ่มตลาดเกิดใหม่ 1.15%
4. ตราสารหนี้ต่างประเทศทั่วโลก 10.70%
5. ตราสารทุนไทย 9.65%
6. ตราสารทุนต่างประเทศ กลุ่มตลาดเกิดใหม่ 3%
7. ตราสารทุนต่างประเทศ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว 9%
8. อสังหาริมทรัพย์ไทย 1%
9. อสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ 1.75%
10. โครงสร้างพื้นฐานไทย 0.20%
11. โครงสร้างพื้นฐานต่างประเทศ 0.55%
12. สินทรัพย์นอกตลาด 2%
ภาพรวมสัดส่วนเงินลงทุน เป็นหลักทรัพย์ในประเทศ 72.41% หลักทรัพย์ต่างประเทศ 27.59% เป็นหลักทรัพย์เสี่ยง 25.63% และหลักทรัพย์มั่นคงสูง 74.37%
ส่วนกองทุนเงินทดแทนรองรับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่เจ็บป่วยหรือประสบอันตราย ทุพพลภาพ สูญหายหรือตายอันเนื่องมาจากการทำงาน เงินสมทบสะสมจากนายจ้าง 48,874 ล้านบาท ผลตอบแทนสะสมจากการลงทุน 27,312 ล้านบาท สัดส่วนเงินลุงทุนภาพรวม เป็นหลักทรัพย์ในประเทศ 76.50% หลักทรัพย์ต่างประเทศ 23.50% เป็นหลักทรัพย์เสี่ยง 18.11% และหลักทรัพย์มั่นคงสูง 81.89% แยกตามประเภทหลักทรัพย์เป็น
1. เงินสดและพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้น 2.5%
2. ตราสารหนี้ไทย 65%
3. ตราสารหนี้ต่างประเทศ 15%
4. ตราสารทุนไทย 6%
5. ตราสารทุนต่างประเทศ 5%
6. อสังหาริมทรัพย์ไทย 3%
7. อสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ 1.50%
8. โครงสร้างพื้นฐานไทย 0.50%
9.โครงสร้างพื้นฐานต่างประเทศ 1.50%
ว่ากันตามจริงในแง่ของความมั่นคงของชีวิตหลังไม่ทำงาน หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 180 เดือนจะได้รับ “เงินบำเหน็จ” ส่วนผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน (15 ปี ) ขึ้นไปจะได้รับ “เงินบำนาญ” จ่ายให้เป็นรายเดือนตลอดชีวิต และสามารถตรวจสุขภาพและรักษาโรค “เสริม” จากพื้นฐานของคนไทยทุกสิทธิ เช่น ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต รักษามะเร็งโรคเลือด 8 ชนิด ทั้งใช้เนื้อเยื่อตนเอง พี่น้องร่วมบิดามารดา และผู้บริจาคผ่านสภากาชาดไทย ค่าใช้จ่ายรายละ 1,300,000 บาท
และหากร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะขยายอายุขั้นสูงผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็น 15-65 ปี รับเงินบำนาญชราภาพแล้วสมัครเป็นผู้ประกันตนต่อได้ กรณีชราภาพ มาตรการ 3 เลือกรับเป็นเงินบำนาญ หรือเงินบำเหน็จได้ น่าจะสร้างความเชื่อมั่นผู้ประกันตนมั่นใจ และใช้สิทธิประกันสังคมเป็นทางเลือกหลักในการดูแลสุขภาพ