จับทาง"ค่าแรงขั้นต่ำ400บาท" เม.ย.เคาะแค่ 10 จ. แต่ได้บางจุด-บางอาชีพ

จับทาง"ค่าแรงขั้นต่ำ400บาท" เม.ย.เคาะแค่ 10 จ. แต่ได้บางจุด-บางอาชีพ

ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เม.ย.นี้เคาะได้แค่ 10 จังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยว ครั้งแรก!อาจไม่ได้เท่ากันทั้งจังหวัด และได้บางอาชีพ

KEY

POINTS

  • อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ล่าสุดปี 2567 จังหวัดที่ได้สูงสุดอยู่ที่ 370 บาทต่อวันมีเพียงจังหวัดเดียว และต่ำสุดอยู่ที่ 330 บาท ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
  • 10 จังหวัดที่มีความหวัง จะได้รับการปรับ "ค่าแรงขั้นต่ำ400บาท" ต่อวันในเดือนเม.ย.2567 เน้นพื้นที่ท่องเที่ยว แต่ก็ไม่ได้เท่ากันทั้งจังหวัด และกำหนดให้บางอาชีพ
  • ย้อนรอยปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท สมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และเทียบเคียงผลกระทบจากการปรับขึ้นแบบพุ่งสูงฉับพลัน 

ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่มีการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย มีการทยอยปิดกิจการ และการเลิกจ้าง มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่จะปรับเพิ่ม “ค่าแรงขั้นต่ำ” โดยเฉพาะให้ถึงในระดับสูงตามที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลหาเสียงไว้ในการเลือกตั้ง
แต่เมื่อหาเสียงไว้แล้ว เพื่อไม่ให้ “เสียคำพูด” อย่างไรเสีย รัฐบาลก็คงต้องเข็ญเพื่อให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้ได้
600บาท เป็นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ในการเลือกตั้งล่าสุดที่ผ่านมา โดยมีประหนึ่งหมายเหตุไว้ว่าจะได้รับอัตราดังกล่าวในปี 2570  และภายหลังจากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่ได้มีการบรรจุเรื่องค่าแรงขั้นต่ำหรือค่าจ้างขั้นต่ำไว้ในการแถลงนโยบายของรัฐบาล 

“ขอยืนยันว่า จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ 2 เป็นของขวัญสงกรานต์ให้กับผู้ใช้แรงงานแน่นอน”นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงานกล่าว 

ค่าแรงขั้นต่ำ ปี  2567

ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 12) ซึ่งได้ประกาศให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่  1 ม.ค.2567 ประกอบด้วย 

  • 370  บาท จังหวัดภูเก็ต
  •  363 บาท กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการและสมุทรสาคร
  • 361 ชลบุรี และระยอง
  • 352 นครราชสีมา
  • 351 สมุทรสงคราม
  • 350 ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยาและสระบุรี
  • 349 ลพบุรี
  • 348 นครนายก สุพรรณบุรี และหนองคาย
  • 347 กระบี่ และตราด
  • 345 กาญจนบุรี จันทบุรี เชียงราย ตาก นครพนม บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา พิษณุโลก มุกดาหาร สกลนคร สงขลา สระแก้ว สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี
  • 344 ชุมพร เพชรบุรี และสุรินทร์
  • 343 นครสวรรค์ ยโสธร และลำพูน
  • 342 กาฬสินธุ์ นครศรีธรรมราช บึงกาฬ เพชรบูรณ์ และร้อยเอ็ด
  • 341 ชัยนาท ชัยภูมิ พัทลุง สิงห์บุรี และอ่างทอง
  • 340 กำแพงเพชร พิจิตร มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง เลย ศรีสะเกษ สตูล สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
  • 338 ตรัง น่าน พะเยา และแพร่
  • 330 นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

เมื่อดูค่าแรงขั้นต่ำจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567แล้ว หากจะขยับให้ไปถึงอย่างน้อย 400บาทต่อวัน จะมีจังหวัดที่ปรับขึ้นต่ำที่สุดอยู่ที่ 30 บาท คือ จ.ภูเก็ต เพราะค่าจ้างปัจจุบันอยู่ที่ 370 บาท และจำนวนที่ต้องปรับขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 70 บาท คือ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา จากที่ค่าจ้างปัจจุบัน 330 บาท

ค่าแรงขั้นต่ำ400บาท เม.ย.10 จังหวัด

ล่าสุดจากการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 2/2567  เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2567  มีมติปรับสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ โดยคำนวณตามรายพื้นที่ ประเภทกิจการ และพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันรวมถึงอัตราเงินเฟ้อ ที่ประชุมเห็นชอบ 10 จังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยว ได้แก่

  • กรุงเทพมหานคร
  • ภูเก็ต
  • ชลบุรี
  • เชียงใหม่
  • สุราษฎร์ธานี
  • กระบี่
  • สงขลา
  • พังงา
  • ประจวบคีรีขันธ์
  • และระยอง

“มอบหมายให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด สำรวจภายในจังหวัดว่ามีพื้นที่ใดที่ควรได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และควรปรับเพิ่มในอัตราเท่าไหร่ โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ จากนั้นให้ส่งผลการสำรวจกลับเข้าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างฯ ในวันที่ 26 มี.ค.2567”ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว 

ค่าแรงขั้นต่ำ ปรับเพิ่มไม่ทั่วทั้งจังหวัด

จับจากสัญญาณดังกล่าว เป็นไปได้ว่าในเดือนเม.ย.2567 หากจะมีการปรับขั้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็น 400 บาท ก็จะเกิดขึ้นไม่พร้อมกันทั่วประเทศ แต่อยู่ใน 10 จังหวัดนี้ และนับเป็นครั้งแรกที่จะ “ไม่ได้เท่ากันทั้งจังหวัด” แต่จะกำหนดย่อยลงไปให้ได้รับเฉพาะบางอำเภอหรือบางพื้นที่ของจังหวัดเท่านั้น 
นายพิพัฒน์  รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อ 23 ก.พ.2567 ว่า  การปรับเพิ่มจะทำบางสาขาอาชีพ บางพื้นที่ 400 บาท ไม่ได้ทำทั้งหมด ต้องคำนึงถึง SME ที่มีการจ้างงานอยู่ประมาณ 80% หากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท จะทำให้ SME ล้มหายตายจาก โดยSMEจะมีผลกระทบไม่น้อยกว่า 30% หรือแรงงานประมาณ 6 ล้านคน ที่จะตกงาน

“ในปีนี้จะมีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท ในบางพื้นที่ บางสาขาอาชีพ และปี 2570 จะเห็นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท แต่เฉพาะบางอาชีพ และบางพื้นที่สามารถทำได้เท่านั้น”พิพัฒน์กล่าว

ย้อนรอยยิ่งลักษณ์ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

หากย้อนไปในปี 2554 สมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงเช่นกัน มีการปรับขึ้น 2 ครั้งในระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 1 ปี จึงทำให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเท่ากันทั้งหมด

จับทาง\"ค่าแรงขั้นต่ำ400บาท\" เม.ย.เคาะแค่ 10 จ. แต่ได้บางจุด-บางอาชีพ

ครั้งที่ 1 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เม.ย.2555 โดยปรับขึ้นก่อน 7 จังหวัด ได้แก่  กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต เป็นการปรับขึ้นทีเดียว 79-85  บาทต่อวัน

ครั้งที่ 2 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2556 ในอีก 70 จังหวัดที่เหลือ เป็นปรับขึ้นทีเดียว 63-77 บาทต่อวัน
ในการปรับขั้นค่าจ้างขั้นต่ำทั้ง 2 ครั้งครอบคลุม 300 บาททั่วประเทศระยะห่างกันไม่ถึง 1 ปีนั้น มีปรับเพิ่มขึ้น 79-141 บาทต่อวัน

ผลกระทบขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำพุ่งพรวด

ทั้งนี้ สถาบันพระปกเกล้าได้ทำการศึกษา เรื่อง “เมื่อรัฐบาลไทยกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ 300บาทต่อวันกระทบกับชีวิตประจำวันของไทยอย่างไร”ไว้เมื่อปี  2556 ทั้งในผลเชิงบวกและผลเชิงลบ

  • ปรับค่าจ้างขั้นต่ำผลเชิงบวก ค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้น  ,สร้างความสมดุลของรายได้และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม,กระตุ้นให้ผู้ผลิตเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้คุ้มค่ากับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น,กระตุ้นประชากรเข้าสู่ระบบแรงงานมากกว่าการแสวงหาเงินค่าครองชีพด้วยวิธีอื่นที่ผิดกฎหมาย ,ลดภาวะการขาดแคลนแรงงาน และเสริมสร้างการได้รับความบอมรับในสังคม
  • ปรับค่าจ้างขั้นต่ำผลเชิงลบ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น  ,ภาวะเงินเฟ้อ,ผลกระทบด้านการลงทุน มีการชะลอตัว ศักยภาพและขีความสามารถอาจไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ,การกระจายรายได้และการกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่ ไม่มีแรงจูงใจกระจายการผลิตไปต่างจังหวัด,การยกเลิกการทำงานล่วงเวลา ,การเลิกจ้างแรงงาน และแรงงานผิดกฎหมาย ไหลเข้ามาสู่ประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม หากเทียบการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ300บาท ยุคสมัยยิ่งลักษณ์ กับการจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400บาท ในยุคเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ยุคยิ่งลักษณ์ปรับพุ่งขึ้นทีเดียวสูงกว่ามากอยู่ในระดับ 79-141 บาทต่อวัน ขณะที่ปรับเป็น 400 บาทในปี  2567 จะปรับขึ้นทีเดียวอยู่ที่ 30-70 บาท
สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และการทำงานของรัฐบาลเมื่อผ่านมาแล้ว 6 เดือนนับจากวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ต้องจับตาดูการพิจารณาเดินหน้าเรื่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ”ว่าจะต้องใช้คำว่า “ไม่ไหวแต่ก็ต้องฝืน” และจะถึงระดับ 600 บาทในปี 2570 ตามที่หาเสียงไว้หรือไม่  
อ้างอิง : กระทรวงแรงงาน  , สถาบันพระปกเกล้า