กสร. ห่วง ลูกจ้าง ทำงานสู้อากาศร้อน ย้ำ นายจ้าง ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยฯ

กสร. ห่วง ลูกจ้าง ทำงานสู้อากาศร้อน ย้ำ นายจ้าง ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยฯ

กสร. ย้ำ นายจ้าง ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยฯ ช่วยกันดูแล ลูกจ้าง ที่ต้องทำงานภายใต้สภาพอากาศร้อน หวั่นเกิดอันตรายต่อสุขภาพ

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ขอความร่วมมือ นายจ้าง ให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559 เพื่อช่วยกัน ดูแลลูกจ้าง ไม่ให้ประสบอันตรายและเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อต้องทำงานเกี่ยวข้องกับความร้อนภายใต้สภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูง

 

 

นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ปีนี้ประเทศไทยมีอุณหภูมิในช่วงหน้าร้อนที่สูงขึ้นกว่า 40 องศาเซลเซียส ซึ่งความร้อนขนาดนี้ไม่เป็นผลดี อาจส่งผลต่อผู้ที่ต้องประกอบอาชีพอยู่กลางแจ้ง ผู้ใช้แรงงาน คนทำงานที่ต้องอยู่ในสถานที่ที่ปิดอับ จนก่อให้เกิดอันตรายและมีผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้างที่ทำงานในสภาพการทำงานที่ร้อนได้ เช่น เป็นตะคริว เป็นลม อ่อนเพลีย ผดผื่น หรือเกิดโรคจิตประสาทเนื่องจากความร้อน หัวใจทำงานเกินขีดจำกัด นำไปสู่ภาวะหัวใจและอวัยวะภายในล้มเหลวจนถึงแก่ชีวิตได้

 

ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีความห่วงใยถึงลูกจ้างที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับความร้อนภายใต้สภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงในช่วงหน้าร้อน จึงขอความร่วมมือให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559 โดยมีบทบัญญัติในการควบคุม ดูแลสำหรับลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความร้อน ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าว ออกภายใต้มาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ พ.ศ. 2554 โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องความร้อนไว้ อาทิ มีการกำหนดมาตรฐานระดับความร้อน กำหนดค่าเฉลี่ยอุณหภูมิของงานที่ลูกจ้างทำในลักษณะต่างๆ ไว้

 

 

และในกรณีที่สถานประกอบการมีแหล่งความร้อนที่อาจเป็นอันตราย กำหนดให้นายจ้างติดป้ายหรือประกาศเตือน เพื่อให้ลูกจ้างมองเห็นได้ชัดเจน และในกรณีที่สถานประกอบกิจการมีระดับความร้อนเกินมาตรฐาน ให้นายจ้างดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขสภาวะการทำงานด้านวิศวกรรม เพื่อควบคุมระดับความร้อนให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งหากนายจ้างปฏิบัติถูกต้องก็จะช่วยให้ลูกจ้างได้รับการดูแล คุ้มครองไม่ให้ประสบอันตรายและเกิดผลกระทบต่อสุขภาพทำงานร่วมกันได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย

 

และหากนายจ้างสามารถจัดสวัสดิการเพิ่มเติมที่เหมาะสม เพื่อช่วยผ่อนคลายความร้อนให้กับลูกจ้าง อาทิ เครื่องปรับอากาศ พัดลมระบายความร้อน ตู้กดน้ำเย็น หรือจัดเวลาพักให้ถี่ขึ้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการทำงานในที่อุณหภูมิสูงได้อีกทางหนึ่ง

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการขอรับคำปรึกษาในด้านความปลอดภัยแรงงาน สามารถสอบถามได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน โทรศัพท์ 0 2448 9141 หรือ สายด่วน 1546