เปิด10 ข้อเสนอสภาองค์การลูกจ้าง ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน
“อนุทิน”รับลูก 10 ข้อเสนอสภาองค์การลูกจ้าง พร้อมยกระดับคุณภาพงาน คุณภาพชีวิต แรงงานเพื่ออนาคตของประเทศ เร่งปรับอัตราค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2567 เป็นต้นไป
KEY
POINTS
- อนุทิน ยันปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ 1 ต.ค.2567 นี้ได้แน่นอน
- รัฐบาลรับข้อเรียกร้องของสภาองค์การลูกจ้างทั้ง 10 ข้อ ข้อไหนทำได้จะทำทันที
- เตรียมยกระดับคุณภาพงาน และคุณภาพชีวิตแรงงานไทย เพราะเป็นอนาคตของประเทศ
วันนี้ (1 พฤษภาคม 2567) เวลา 7.00 กระทรวงแรงงานร่วมกับคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ จัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 ณ ลานคนเมือง กทม.โดยมี นายอนุทิน ชาญวีกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่ารัฐบาลมีความปรารถนาดี พร้อมเป็นกำลังใจ และสนับสนุนให้พี่น้องแรงงาน มีคุณภาพชีวิต มีรายได้ มีสวัสดิการที่ดีขึ้น มีความมั่นคง และปลอดภัยในการใช้ชีวิต
ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานได้ ทั้งการเปลี่ยนแปลงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โครงสร้างประชากร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ รัฐบาลตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และพยายามสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พี่น้องแรงงานทุกคน ผ่านการดำเนินงานต่างๆ อาทิ การเร่งรัดปรับอัตราค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2567 เป็นต้นไป
“การปรับอัตราค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศล่าช้า เพราะการปรับอัตราค่าจ้าง ต้องรับฟังความเห็นจากหลายๆ ฝ่าย แต่ด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งรมว.แรงงาน ต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทให้ได้ เพราะเป็นนโยบายสำคัญ ไม่แพ้นโยบายดิจิตอลวอลเล็ต สิ่งนี้รัฐบาล และก.แรงงานเต็มใจปฎิบัติอย่างเต็มที่ เนื่องจากอยากเห็นสวัสดิภาพ สวัสดิการ ความมั่นคงของผู้ใช้แรงงาน แต่ขอเวลาถึงวันที่ 1 ต.ค.2567”นายอนุทิน กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“อนุทิน” ปราศรัยวันแรงงาน ย้ำรัฐบาลพร้อมส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานไทย
รับ 10 ข้อเสนอแรงงานมีทางออกทุกเรื่อง
ส่วนการเสนอร่างพ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ ซึ่งตรงกับทางที่สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชนได้เสนอข้อเรียกร้องมา และจะมีการจัดหลักสูตรเพิ่มศักยภาพเพื่อแรงงานไทยในยุคดิจิทัล และจัดโครงการความปลอดภัยให้แก่พี่น้องแรงงาน สอดคล้องกับข้อเรียกร้องพี่น้องแรงงาน 1ใน 10 ข้อ ซึ่งข้อเรียกร้องต่างๆ มีถึง 10 ข้อ
“รัฐบาลจะเชิญสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชนมาสรุปสั้นๆ ว่ามีอะไรบ้าง และจัดอันดับ เรื่องไหนที่สามารถทำได้ก็จะทำทันที และหากเรื่องไหนต้องเจรจา ต้องวางแผนร่วมกัน เพื่อทำให้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากทุกอย่างเป็นไปได้ หากเราเข้าใจซึ่งกันและกัน เราต้องเข้าใจฝั่งเศรษฐกิจ นายจ้าง ในเรื่องค่าครองชีพ แต่ผมมั่นใจว่ามีทางออก ” รองนายกฯ กล่าว
ขณะที่ข้อเรียกร้อง การเร่งรัดออกกฎกระทรวงคุ้มครองคนทำงานบ้าน ก็คล้ายกับการเคร่งครัด ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 ซึ่งทางรัฐบาลและก.แรงงาน จะรับไปพิจารณาดำเนินการ
ยกระดับคุณภาพชีวิตงานและแรงงาน
เรื่องการส่งเสริมระบบพยาบาลให้ครอบคลุมเพื่อความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ให้ได้รับยา การรักษาพยาบาลที่ดี ได้มอบนโยบายให้สำนักงานประกันสังคมรองรับให้เกิดความเท่าเทียมกัน
นอกจากนั้น ได้มีการยกระดับมาตรฐานสิทธิแรงงานได้ ด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานอนุสัญญาโครงการแรงงานระหว่างประเทศ หลายฉบับ ทั้งเรื่อง เสรีภาพในการคุ้มครองสิทธิการรวมตัว สิทธิการเจรจาต่อรองร่วม การปรึกษาหารือไตรภาคี และอนุสัญญาความปลอดภัย ในการทำงาน โดยเฉพาะฉบับ 144 การปรึกษาหารือร่วมกับไตรภาคี จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนพฤษภาคม และจะลงนามให้ได้ภายในเดือนมิถุนายน ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็นข่าวดีสำหรับวันแรงงานแห่งชาติ
“ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ได้นำเสนอ ทุกคนได้รับฟังอย่างชัดเจน และจะให้ความสำคัญในการพิจารณาขับเคลื่อนต่อไป เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ ขอให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคน มีกำลังกาย กำลังใจที่เข้มแข็ง พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ก้าวหน้า ยืนยันว่า เราทุกคนยินดีในการร่วมสนับสนุน ร่วมกันคิดกับพี่น้องแรงงานทุกท่าน ในการพัฒนาประเทศต่อไป เพราะเราคือทีมเดียวกันในภารกิจเพื่อยกระดับคุณภาพงาน และคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย เพื่ออนาคตของประเทศ และพี่น้องประชาชนทุกคน”
แรงงานกำลังสำคัญช่วยพัฒนาประเทศ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่ารแรงงานถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้เติบโต และก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลให้การสนับสนุน งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และอำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องแรงงาน รวมถึงการจัดงานในครั้งนี้
“ข้อเรียกร้องของสภาองค์การลูกจ้างนั้น ก.แรงงานให้ความสำคัญในการดำเนินงานตามข้อเรียกร้อง และข้อเสนอแนะของพี่น้องแรงงาน โดยนำข้อเรียกร้อง มาดำเนินการอย่างมีขั้นตอน หารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพื่อให้ดูแล พี่น้องแรงงาน ทุกข้อเสนอจะนำมาปรับปรุงการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา ให้แก่แรงงาน และสร้างความยั่งยืน ในการพัฒนาประเทศต่อไป"
เปิด 10 ข้อเรียกร้องของสภาองค์การลูกจ้าง
สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน และคณะกรรมการจัดงานฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการองค์การลูกจ้างจากภาคส่วนต่างๆ ได้นำเสนอและยื่น ข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 ต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี มีทั้งหมด 10 ข้อ ดังนี้
1.รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98
2. ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของลูกจ้าง
3.ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม ดังนี้
3.1 ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท
3.2 ในกรณีที่ผู้ประกันตนเกษียณอายุและรับเงินบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต่อ ให้มีสิทธิรับเงินบำนาญต่อไป
3.3 เมื่อผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพแล้ว ขอให้คงสิทธิรักษาพยาบาลได้ตลอดชีวิต
3.4 กรณีผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลเกี่ยวกับโรคร้ายแรงและเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็งทุกชนิด ฯลฯ ให้ครอบคลุมถึงการใช้ยารักษาพยาบาลตามที่แพทย์แนะนำ
3.5 ในกรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และประกันตนต่อ มาตรา 39 การคำนวณเงินค่าจ้างเดิม 60 เดือน เป็นค่าตอบแทนต่างๆ ขอให้ใช้ฐานค่าจ้างจากมาตรา 33
3.6 ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15-60 ปี ขยายอายุเป็น 15-70 ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ
3.7 ในกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อสร้างแรงจูงใจและลดความเหลื่อมล้ำ ให้รวมทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกเดียวกัน
4.ขอให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน
5.ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) ใช้มาตรการอย่างเคร่งครัด ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1
6.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางการจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการ จากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 รวมถึงให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้าย หรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง
6.1 ขอให้ปรับเพิ่มเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างในรัฐวิสาหกิจ ให้มากกว่าเงินเดือนข้าราชการตามหลักการเดิมเนื่องจากรัฐวิสาหกิจไม่มีระบบบำนาญและการรักษาพยาบาลหลังการเกษียณอายุเช่นเดียวกับข้าราชการ
6.2 ขอให้รัฐบาลลดหย่อนภาษีเงินได้ก้อนสุดท้าย จำนวน 1 ล้านบาท ที่ลูกจ้างออกจากงานทุกกรณี
7.ขอให้รัฐบาลเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง โดยเร่งดำเนินการให้ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีผลใช้บังคับโดยเร็ว
8.ขอให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานขึ้นเป็น “กรมความปลอดภัยแรงงาน”
9.เมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือประสบอันตราย เนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง ลูกจ้างที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล หากมีค่ารักษาพยาบาลเกินวงเงินที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินให้กับลูกจ้างจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล
10.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี พ.ศ.2567 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน