เร่งสร้างมาตรฐานมวยไทย ซอฟท์พาวเวอร์แสนล้าน
‘พิพัฒน์’ เร่งสร้างมาตรฐานมวยไทย ซอฟท์พาวเวอร์แสนล้าน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผลักดันกีฬามวยไทยให้บรรจุอยู่ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน ปี 2028 ที่นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ได้สำเร็จ
นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งรัดการสร้างมาตรฐานผู้ฝึกสอนมวยไทยเพื่อรองรับนโยบาย Soft Power มวยไทยระดับโลกของรัฐบาล เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันมีค่ายมวยไทยเปิดสอนมากกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ 4,000 แห่งทั่วยุโรป 1,700 แห่งในสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นอีก 50 ประเทศ
โดยในสหรัฐฯ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับมวยไทยมีมูลค่าสูงถึง 1.25 พันล้านดอลลาร์ ส่วนในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาประเทศไทยได้พัฒนาต่อยอดมวยไทยจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและสามารถผลักดันกีฬามวยไทยให้บรรจุอยู่ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน ปี 2028 ที่นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ได้สำเร็จ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
"ถั่ว" โปรตีนจากพืช สู่ตลาด Plant-based สุดยอดอาหารสุขภาพ
“มวยไทย” Soft Power ระดับโลก หนุนสร้างมาตรฐาน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต้องการยกระดับกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงที่มีบทบาททางเศรษฐกิจ โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานสร้างมาตรฐานของครูมวยไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ และเมื่อต้นปี 2567 ได้ประกาศมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทยไปแล้ว
มาตรฐานนี้กำหนดให้ผู้ฝึกสอนมวยไทยมีความรู้ความสามารถในการวางแผนการสอน ขั้นตอนการสอน อุปกรณ์ การแข่งขันและสุขภาพ กฎหมายและกติกามวยไทย วิทยาศาสตร์การกีฬา การวัดและประเมินผล และจรรยาบรรณผู้ฝึกสอนมวยไทย แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
- ระดับ 1 มีความรู้ความสามารถด้านมวยไทยเบื้องต้น
- ระดับ 2 มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการมวยไทยในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อการพัฒนามวยไทย
ผู้ที่จะเป็นครูมวยไทยระดับ 1 ต้องเข้ารับการทดสอบความรู้ทางวิชาการ 20% และความสามารถ ได้แก่ การใช้หมัด เท้า เข่า ศอก และการไหว้ครู 80% ปัจจุบันมีศูนย์ทดสอบผู้ฝึกสอนมวยไทยที่ได้รับอนุญาตแล้ว 18 แห่ง เช่น โรงเรียนมวยไทย ทีซี กรุงเทพฯ มวยไทยเบิกฤกษ์ยิม ลำปาง กำปั้นมวยไทยยิม ขอนแก่น ค่ายมวย ช.ชนะชัย พัทลุง เป็นต้น รวมทั้งยังมีศูนย์ทดสอบของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน อีก 77 แห่งทั่วประเทศ
นอกจากการสร้างมาตรฐานของครูฝึกแล้ว ท่านพิพัฒน์ยังเล็งเห็นว่าการจัดทดสอบผู้ฝึกสอนมวยไทยยังช่วยสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง ทั้งศูนย์ทดสอบของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ต้องการจะพัฒนาให้เป็น Profit Center ในอนาคต และศูนย์ทดสอบของเอกชนที่ได้รับอนุญาต โดยกำหนดอัตราค่าทดสอบในระดับ 1 จำนวน 1,600 บาท ซึ่งท่านตั้งเป้าที่จะเชิญชวนครูฝึกมวยไทยและค่ายมวยทั่วโลกเข้ามารับการทดสอบเพื่อรับวุฒิบัตรรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้มากที่สุด