เปิด 50 รพ.ประกันสังคม ผู้ประกันตน 'รักษามะเร็งได้ทุก รพ.'

เปิด 50 รพ.ประกันสังคม ผู้ประกันตน 'รักษามะเร็งได้ทุก รพ.'

เปิด 50 รพ.ประกันสังคม ผู้ประกันตนเข้ารักษามะเร็งได้ทุก รพ. เริ่ม 1 ม.ค.2568 เผยคนเห็นด้วย เผย 80% เห็นด้วยปรับเพดานค่าจ้างจ่ายเงินสมทบแบบขั้นบันได ย้ำมีคนเข้าเกณฑ์ 35%  ย้ำแรงงานต่างด้าวไม่ได้รักษาฟรี

จากที่คณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดประกันสังคม) เห็นชอบการรักษาพยาบาล เรื่อง "รักษามะเร็งได้ทุกโรงพยาบาล" โดยผู้ประกันตนสามารถไปรักษาที่ รพ.แห่งใดก็ได้ที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม แล้วประกันสังคมจะตามไปจ่าย ไม่ต้องรักษาเฉพาะแต่ รพ.ประกันสังคมตามสิทธิเท่านั้น ตามโครงการ SSO Cancer Care (โดยสำนักงานประกันสังคม หรือ สปส.) รักษาโรคมะเร็งที่มีคุณภาพสำหรับผู้ประกันตนแบบครบวงจร ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยจนถึงการรักษา ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.2568

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถตัดสินใจร่วมกับแพทย์ที่ทำการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิผู้ประกันตนสามารถสอบถามเพิ่มได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 1 สำนักงานประกันสังคม

นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม( สปส.) กล่าวว่า จากเดิมผู้ประกันตนต้องเข้ารักษาตามโรงพยาบาล (รพ.) ที่อยู่ในสิทธิประกันสังคม แต่ปัจจุบันสามารถเข้ารับการรักษาที่ รพ. ใดก็ได้ ที่ทำข้อตกลงกับทางประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 50 รพ. ที่เข้าร่วมข้อตกลงกับประกันสังคม รวมถึงเพิ่มยามุ่งเป้าสำหรับมะเร็ง ถือเป็นการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งของผู้ประกันตน
เปิด 50 รพ.ประกันสังคม ผู้ประกันตน \'รักษามะเร็งได้ทุก รพ.\'
นางมารศรี กล่าวถึงการปรับปรุงเพดานค่าจ้าง เงินสมทบประกันสังคม ที่เป็นแบบขั้นบันได 3 ขั้น จากเดิม 15,000 บาทเป็น ในปี 2569 - 2571 สูงสุด 17,500 บาท ,ปี 2572 - 2574 สูงสุด 20,000 บาท และตั้งแต่ปี 2575 เป็นต้นไป สูงสุด 23,000 บาทว่า 

ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2567 อย่างไรก็ตาม ผลเบื้องต้นขณะนี้มีผู้เห็นด้วยประมาณ 80%

“ผู้ที่มีค่าจ้างไม่ถึง 15,000 บาทจะจ่ายอัตราเดิม การปรับเพดานค่าจ้างใหม่จะใช้กับผู้ที่มีค่าจ้างเกิน 15,000 บาท ซึ่งมีอยู่ราว 35 % ของผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคม และการปรับเพิ่มเพดานก็เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้วย จากเดิมที่จ่ายสูงสุด 750 บาทต่อเดือน อัตราใหม่ที่ 17,500 บาท จะจ่ายสูงสุด 875 บาท เท่ากับจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น 125 บาท ขณะที่เงินทดแทนทุกกรณีจากที่จ่าย 7,500 บาทจะเพิ่มเป็น 8,750 บาท เพิ่มขึ้นราว 1,250 บาท”นางมารศรี กล่าว 

นางมารศรี กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาลของแรงงานต่างด้าวด้วยว่า แบ่งเป็น

1 .แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยในสถานประกอบการ ก็จะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และได้สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับผู้ประกันตน รวมถึง สิทธิรักษาด้วย 

และ2.แรงงานที่เข้ามาทำงานโดยมีใบอนุญาตทำงาน แต่ไม่ได้อยู่ในสถานประกอบการ และไม่ได้ส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคม จะต้องซื้อประกันสุขภาพเพื่อนำเงินเข้าสู่กองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว และผู้ติดตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ดำเนินการ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์