บอร์ดไตรภาคี เลื่อน! เคาะค่าแรงขั้นต่ำอีกรอบ เป็น 22 เม.ย.นี้

บอร์ดไตรภาคี เลื่อน! เคาะค่าแรงขั้นต่ำอีกรอบ เป็น 22 เม.ย.นี้

บอร์ดไตรภาคี เลื่อน เคาะค่าแรงขั้นต่ำ เป็น 22 เม.ย. ยกเหตุข้อมูลไม่ครบ-ไม่ชัด ปลัดแรงงานไม่ฟันธง 1 พ.ค.ประกาศปรับขึ้น ฝ่าย"นายจ้าง" ลั่น รอกำแพงภาษีสหรัฐนิ่งก่อน

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2568 ที่กระทรวงแรงงาน  มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ ชุดที่ 22 (รักษาการ) หรือบอร์ดไตรภาคี ซึ่งมีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมเพียง 8 คนจากทั้งหมด 15 คน  เป็นฝ่ายลูกจ้าง 1 คน ภาครัฐ 2คน และฝ่ายนายจ้างเข้าครบ 5 คน โดยมีวาระเพื่อพิจารณา 2 เรื่อง คือ 1.พิจารณาทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2568 และ2.การพิจารณามาตรการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงที่ผ่านมา

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน  ในฐานะประธานการประชุม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า การประชุมไม่ได้ล่ม เพียงแต่มีข้อมูลยังไม่ครบและไม่ชัดเจนจึงได้เลื่อน ไปประชุมในวันที่ 22 เม.ย. 2568 เวลา 09.00 น. โดยในส่วนของนายจ้างที่ไม่สะดวกมาร่วมประชุมก็แจ้งแล้วว่าจะประชุมผ่านระบบซูม (zoom) ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเร่งรีบในการปรับค่าจ้าง เพียงแต่จะมีการพิจารณาเพิ่มเติมส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องรอที่ประชุมในวันที่ 22 เม.ย.

สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับกรณีสหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษี สินค้าจากประเทศไทยก็ต้องนำมาพิจารณาประกอบด้วยเช่นกัน ต้องดูว่ามีกิจการใดที่ได้รับผลกระทบรวมถึงมาตรการ เยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

ส่วนตัวก็เห็นว่าจำเป็นจะต้องมีการทบทวน เพราะที่เพิ่มเมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมากรุงเทพฯ หาดใหญ่และเชียงใหม่ไม่เท่ากัน ทั้งๆ ที่ค่าครองชีพในกรุงเทพฯ ค่อนข้างสูง กว่าปกติอยู่แล้ว จึงต้องนำมาทบทวนรวมทั้งที่ขึ้นไปแล้วนั้นอาจจะยังไม่เหมาะสม”

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการปรับเพิ่มค่าแรงจะเป็นกิจการที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐใช่หรือไม่  นายบุญสงค์ กล่าวว่า  ส่วนตัวมองว่าก็ควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ก็ต้องดูความเห็นคณะกรรมการส่วนใหญ่ ส่วนวันที่ 1 พ.ค.จะปรับหรือไม่นั้น ต้องรอที่ประชุมคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง  ตนไม่กล้ายืนยัน

ขณะที่ นายณัฐฏฐกิตติ์ เขตตระการ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมไม่สามารถพิจารณาวาระเรื่องของการทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำ ในรอบถัดไปคือ เดือนพ.ค.2568ได้เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบและมีการนัดหมายอีกครั้งวันที่ 22 เม.ย.ถือว่ามีพิรุธ เพื่อที่จะผลักดันให้มีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งถัดไป เนื่องจากนัดเร็วเกินไป

“ในวันที่ 22 เม.ย. ฝ่ายนายจ้าง แจ้งต่อที่ประชุมไปแล้วว่าติดภารกิจไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ และ นายจ้างเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องทบทวนเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอีก เพราะที่ผ่านมาก็เพิ่งจะขึ้นไปได้ไม่นาน "

นายณัฐฏฐกิตติ์ กล่าวด้วยว่า  การที่สหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย กระทบแน่นอน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ ไม่สามารถควบคุมได้ จึงอยากให้รอเรื่องนี้นิ่งก่อนแล้วค่อยมาทบทวน ก็ยังพอมีเหตุผล

ที่ประชุมได้มีการรายงานผลกระทบ จากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในรอบที่ผ่านๆ มา เช่นในกลุ่มพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรืออีอีซี ซึ่งผู้ประกอบการในพื้นที่มีจำนวนมากพอสมควรต่างก็ได้รับผลกระทบ จึงมองว่าหากมีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอีก จะกลายเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ ให้หนักขึ้นไปกว่านี้อีก ไม่เป็นธรรมกับนายจ้าง”