"ปัญหาสุขภาพจิต"เด็กและวัยรุ่นไทย เรื่องใหญ่!
ปัญหาสุขภาพจิตคนไทย โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เมื่อมีรายงานพบว่า 5-9 ปี 1 ใน 14 คน วัย 10-19 ปี 1 ใน 7 มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ อายุ 13-17ปี 17.6% มีความคิดฆ่าตัวตาย ขณะที่ คกก.สุขภาพจิตแห่งชาติ เห็นชอบร่างแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติระยะที่ 2
จากรายงาน การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดย ยูนิเซฟ กรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ สอดคล้องกับผลการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 (2021 Global School - based Student Health Survey) พบว่า 17.6 %ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งการฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย
นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าคือ สิ่งนี้อาจเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปัญหาที่ใหญ่ยิ่ง เด็กและวัยรุ่นหลายล้านคนในประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบจาก ปัญหาสุขภาพจิต ทั้งโรคเครียด โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากปัจจัยมากมาย เช่น ความรุนแรง การถูกกลั่นแกล้ง ความโดดเดี่ยว ความไม่แน่นอน รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่น่าเสียดายที่ปัญหาดังกล่าวมักถูกบดบังเอาไว้ เนื่องจากการตีตราทางสังคม และการเข้าไม่ถึงข้อมูล การคัดกรอง การสนับสนุน ตลอดจนบริการด้านสุขภาพจิตที่เหมาะสม
"ปัญหาสุขภาพจิตอาจก่อผลกระทบรุนแรงในระยะยาวต่อสุขภาพ การเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน รวมทั้งเป็นการจำกัดความสามารถของพวกเขาในการพัฒนาตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ ยูนิเซฟมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและทุกหน่วยงานในประเทศไทย เพื่อสร้างหลักประกันให้ระบบสนับสนุนทางจิตใจสอดคล้องกับความต้องการ และเข้าถึงเด็กและวัยรุ่นก่อนที่จะสายเกินไป"นางคยองซอนกล่าว
ขณะที่ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คลินิกเพศหลากหลายวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในเวทีเสวนา "ตั้งหลักใหม่ เติมความฝันเด็กและเยาวชนไทย" ในเวทีสาธารณะเด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022 ว่า จากการดูแลรักษาวัยรุ่น พบว่า ผลพวงจากการระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้เด็กและครอบครัวเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น
เฉพาะที่คลินิกวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบว่าปัญหาสุขภาพจิต 90% มาด้วยซึมเศร้า วิตกกังวล เครียด และไม่มีความสุข ที่เห็นชัดกว่าคือ พ่อแม่ที่พาเด็กมาก็ซึมเศร้าด้วย และยังมีเคสอีกมากที่ยังไม่ได้เข้าระบบบริการ อย่างคลินิกเรามีคิวขอรับบริการยาวเป็นปี ทำให้มีจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ ยิ่งหลังโควิดเคสเพิ่มขึ้นเยอะมาก สะท้อนว่าคนมีปัญหาสุขภาพจิตเยอะ แต่ระบบบริการก็ยังไม่เพียงพอ" พญ.จิราภรณ์กล่าว
“ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นมีความสำคัญมาก จะพบว่ามีเด็กฆ่าตัวตายเยอะมาก แล้วยังมีที่เด็กเสียชีวิตแต่ไม่เป็นข่าวอีกมาก ส่วนหนึ่งปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น เกิดจากเด็กเติบโตมาในสังคมที่ไม่โอบอุ้มความฝันที่จะได้เป็นตัวของตัวเอง เช่น จะเป็นเพศไหนก็มีอุปสรรค อยากทำอาชีพอะไรก็ไม่สามารถเลือกเองได้ เพราะอยู่ในสังคมที่ถูกกดทับด้วยคำว่าต้องอยู่รอด และระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งคุณภาพชีวิต คุณภาพการศึกษาไม่รองรับ รวมถึงมีปัญหาเรื่องเศรษฐานะ ทำให้ความฝันของเด็กไม่ถูกตอบรับ อย่างวันนี้ก็พบกรณีของน้องคนหนึ่งอยากจะเป็นครูบนดอย แต่สุดท้ายจากปัญหาโควิดทำให้หลุดจากระบบการศึกษา”พญ.จิราภรณ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2565 คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ประชุมมีการผลักดันให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิตระดับจังหวัดครบทั้ง 76 จังหวัด ดำเนินงาน 6 ประเด็น ได้แก่ 1.สร้างเสริมความเข้มแข็งทางใจ 2.ลดอัตราการฆ่าตัวตาย 3.ดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) 4.ดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด 19 5.ดูแลผู้ป่วย Long COVID-19 และ 6.ติดตามและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชเนื่องจากสารเสพติด ถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ภาคส่วนต่างๆ บูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของทุกกลุ่มวัยในชุมชน นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าเรื่องการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษาและมหาวิทยาลัย รวมถึงสร้างมาตรฐานการให้บริการด้านจิตวิทยาการปรึกษาด้วย
ที่ประชุมยังได้พิจารณาเห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2561-2580) ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) ที่กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “คนทุกช่วงวัยมีปัญญา อารมณ์ดี มีความสุข และอยู่ในสังคมอย่างทรงคุณค่า” มีเป้าหมาย 7 ประเด็น ได้แก่ 1.เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) 2.เด็กมีความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) 3.ครอบครัวมีความเข้มแข็งและอบอุ่น 4.คนไทยมีสุขภาพจิตดี 5.ลดอัตราการฆ่าตัวตาย 6.จังหวัดมีการบูรณาการงานสุขภาพจิตตามมาตรฐาน และ 7.ประเทศไทยมีคะแนนความสุข (World Happiness Index) เพิ่มขึ้น โดยให้ฝ่ายเลขานุการปรับปรุงตามข้อเสนอในที่ประชุม และเสนอแผนต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้ ได้พิจารณา
แนวทางการดูแลความรุนแรงทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่นและต่อสังคม โดยจัดระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวช (Severe Mental Illness with Violence : SMI-V) ตั้งแต่การคัดกรองผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง, การส่งต่อผู้ป่วย เพิ่มการเข้าถึงบริการด้วยความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกับสายด่วน 1669 และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น, การดูแลรักษาโดยทีมสหวิชาชีพในโรงพยาบาล และฟื้นฟูด้วยระบบ case management โดยชุมชน ซึ่งที่ประชุมได้มอบให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดจัดทำแผนให้ครอบคลุมและเหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ และนำเสนอความก้าวหน้าในการประชุมครั้งต่อไป