เปิดผลทดสอบ ภูมิคุ้มกันคนไทยต่อ "ฝีดาษลิง" ไม่เป็นอย่างที่คาด
กรมวิทย์เผยผลทดสอบ พบคนไทยเคยรับวัคซีนฝีดาษ “ไม่สามารถป้องกันฝีดาษลิง” หลังสุ่มตรวจ 3 กลุ่มอายุ ระดับภูมิคุ้มดันต่ำมาก ไม่ต่างจากคนไม่เคยรับวัคซีน ย้ำยังไม่จำเป็นต้องให้วัคซีนวงกว้างเหมือนโควิด ฝีดาษลิงการติดเชื้อไม่เร็ว -ป่วยอาการไม่รุนแรง-อัตราเสียชีวิตต่ำ
เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2565 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าว "ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง(Monkeypox)" ว่า กรมได้ทำการทดสอบภูมิคุ้มกันต่อฝีดาษลิงในคนที่เคยได้รับวัคซีนฝีดาษมานานกว่า 40 ปี โดยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานสากล ด้วยการนำน้ำเลือดมาเจือจางลงเป็นเท่าๆ จนกระทั่งถึงจุดที่ฆ่าเชื้อได้ครึ่งหนึ่ง เรียกว่า PRNT 50% ผลออกมากเป็นไตเตอร์ โดยค่าที่จะจัดว่าสามารถลบล้างหรือป้องกันการติดเชื้อได้ค่าไตเตอร์ต้องเท่ากับหรือมากกว่า 32 หากต่ำกว่านี้จะไม่สามารถจัดการเชื้อได้ ที่ผ่านมาได้หาอาสาสมัครมาดำเนินการแบ่งตามกลุ่มอายุ 3 กลุ่ม รวม 30 คน โดยแต่ละกลุ่มมี 10 คนในการศึกษาตรวจภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกทั้งสายพันธุ์ย่อย B.1 และ A.2 ผลพบว่า
- กลุ่มอายุ 45-54 ปี อาสาสมัครทั้งหมดมีค่าไตเตอร์ต่ำกว่า 32 ทั้งหมด ถือว่าไม่ภูมิคุ้มกัน ไม่สามารถป้องกันเชื้อได้ทั้ง สายพันธุ์ย่อยB.1 และ A.2
- กลุ่มอายุ 55-64 ปี อาสาสมัครทุกราย อาสาสมัครทั้งหมดมีค่าไตเตอร์ต่ำกว่า 32 ทั้งหมด ถือว่าไม่ภูมิคุ้มกัน ไม่สามารถป้องกันเชื้อได้ทั้งสายพันธุ์ย่อยB.1 ส่วนสายพันธุ์ A.2 มี 2 รายที่มีค่าเกิน 32 คือ มีค่าไตเตอร์ 35 และ 39
- อายุ 65-74 ปี อาสาสมัครทั้งหมดมีค่าไตเตอร์ต่ำกว่า 32 ทั้งหมด ถือว่าไม่ภูมิคุ้มกัน ไม่สามารถป้องกันเชื้อได้ทั้งสายพันธุ์ย่อยB.1 และ A.2
นอกจากนี้ ได้ทำการตรวจระดับภูมิคุ้มกันในคนที่ติดฝีดาษลิงด้วย โดยใช้ตัวอย่างน้ำเลือดจากผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบในประเทศที่เป็นสายพันธุ์ A.2 แต่ทำการตรวจภูมิฯทั้งต่อสายพันธุ์ B.1 และ A.2 พบว่า ค่าไตเตอร์ต่อB.1 มากกว่า 50 ขณะที่ภูมิต่อสายพันธุ์ A.2 พบมากกว่า 80 และ 192 และกลุ่มคนที่ไม่ได้รับวัคซีน พบว่า ไม่มีภูมิคุ้มกันในการป้องกันเชื้อทั้งต่อสายพันธุ์ย่อยB.1 และA.2
“ในหลักการการให้วัคซีน จะป้องกันได้ประมาณ 3-5 ปี ซึ่งวัคซีนทุกตัวไม่อยู่ยาวชั่วชีวิต กรณีวัคซีนฝีดาษก็เช่นกัน ภูมิฯจะค่อยๆลดลง แต่หากจะให้ภูมิสูงก็จะต้องกระตุ้น แต่คนที่เคยปลูกฝีดาษไม่ได้มีการถูกกระตุ้น” นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า การนำวัคซีนมาใช้นั้น มีผลทั้งการป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค เพราะฉะนั้น กรณีวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงที่ประเทศไทยสั่งซื้อมา 1,000 โดส จะใช้ใน 2 กลุ่มเสี่ยงมากๆ คือ
- เจ้าหน้าที่ห้องแล็ป
- บางอาชีพที่เสี่ยง หรือคนทั่วไปที่มีประวัติเสี่ยง ไปสัมผัสโรคก็อาจฉีดให้เพื่อลดความรุนแรง
แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องนำมาฉีดทั่วไป เนื่องจากการติดเชื้อไม่ได้เร็ว ติดจากการสัมผัสใกล้ชิดแบบนัวเนียทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น โอกาสแพร่วงกว้างจึงยังไม่มี และสายพันธุ์ย่อยA.2ที่ระบาดตอนนี้ ผู้ป่วยอาการไม่ค่อยรุนแรง และอัตราการเสียชีวิตไม่รุนแรง จากที่มี ผู้ป่วยฝีดาษลิง กว่า 50,000 ราย มีเสียชีวิต 15 ราย ต่ำกว่าโควิด-19มาก ซึ่งทั่วโลกก็ระบุว่ายังไม่คุ้มค่าที่จะนำมาฉีดให้กับทุกคน ส่วนการป้องกันการติดเชื้อยังสามารถใช้มาตรการแบบที่ป้องกันการติดโควิด-19 ได้ รวมถึง ไม่ไปสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยหรือสัมผัสตุ่มแผลของผู้ป่วย
"สรุปคือ คนไทยส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนฝีดาษมานานกว่า 40 ปี จำนวน 28 ราย ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสฝีดาษลิง ทั้ง 2 สายพันธุ์ย่อย แต่มี 2 รายพบมีระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันได้" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันวัคซีนฝีดาษลิงโดยตรงยังไม่มีใครทำ แต่วัคซีนที่นำมาใช้คือ วัคซีนฝีดาษคน แต่ฉีดแล้วข้ามกันฝีดาษวานรได้ เพราะเป็นตระกูลใกล้เคียงกัน ได้ผลประมาณ 85% ซึ่งถือว่าเพียงพอ และวัคซีนปลูกฝีก็ไม่มีแล้ว เพราะมีความเสี่ยงพอสมควร ขณะนี้จึงมีวัคซีนรุ่น 3 โดยขณะนี้สหรัฐและยุโรป อนุมัติให้ใช้ได้ วิธีฉีดมี 2 แบบ คือ ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง แทงให้เป็นตุ่มเหมือนเป็นถั่วเขียว ใช้วัคซีน 0.1 มิลลิลิตร ส่วนอีกวิธีฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ทะลุหนังลงไปอยู่ในชั้นไขมันใช้วัคซีนครึ่งซีซี และกรมควบคุมโรคได้ดำเนินการสั่งซื้อมาจำนวนหนึ่ง ส่วนจะมีแนวทางการให้วัคซีนอย่างไร ขึ้นกับการพิจารณาของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า กรมได้หารือกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยบางแห่ง ได้ประสานขอตัวอย่างเชื้อไวรัสฝีดาษลิง เพื่อทำการวิจัยพัฒนาวัคซีนฝีดาษลิงรโดยตรงในประเทสไทย ซึ่งกรมสนับสนุน เพราะหากทำได้ก็เป็นผลงานของไทยเอง ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา แต่ง่ายที่สุดน่าจะพัฒนาเป็นวัคซีนฝีดาษลิงชนิดเชื้อตาย น่าจะทำได้เร็ว ง่ายและเป็นแพลตฟอร์มวัคซีนที่คุ้นชิน
ด้านดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กล่าวว่า สำหรับคนที่เคยได้รับวัคซีนฝีดาษแล้ว แต่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อฝีดาษลิงจะทำอย่างไร สื่งที่จะป้องกันได้ใช้มาตรการ Universal prevention แบบเดียวกับที่ป้องกันโรคโควิด-19 และโรคนี้ไม่ได้ติดต่อง่าย หากไม่ได้ไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย