โควิด-19 จาก "โรคติดต่ออันตราย" สู่ "โรคติดต่อเฝ้าระวัง" ต่างกันยังไง?
เมื่อราชกิจจานุเบกษาประกาศให้ "โรคโควิด-19" ลดระดับจากการเป็น "โรคติดต่ออันตราย" ปรับสู่ "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" และมีผลบังคับใช้ 1 ต.ค. 65 ชวนรู้ โรคติดต่อทั้งสองระดับดังกล่าวแตกต่างกันอย่างไร?
มีผล 1 ต.ค. 2565 นี้ ราชกิจจานุเบกษาประกาศยกเลิก "โรคโควิด-19" จากการเป็น "โรคติดต่ออันตราย" ลดระดับสู่ "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" แล้วรู้หรือไม่? โรคติดต่อทั้งสองระดับดังกล่าวต่างกันอย่างไร? ทั้งในแง่ของกฎหมาย การรายงานสถานการณ์ การเตือนภัย และการป้องกัน
ก่อนหน้านี้เมื่อ 8 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ (คกก.) ได้มีการประชุมหารือ และพิจารณาเห็นชอบให้ปรับระดับ “โรคโควิด-19” จาก “โรคติดต่ออันตราย” ให้เป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคในปัจจุบัน โดยล่าสุดเมื่อวานนี้ 20 ก.ย. 65 หลักเกณฑ์ดังกล่าวก็ได้ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีผลในวันที่ 1 ต.ค. 65 ที่จะถึงนี้
เมื่อโรคระบาดโควิดลดระดับเป็นเพียงโรคติดต่อเฝ้าระวัง หลังจากนี้ไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายก็ต้องปรับการทำงานให้เหมาะสมตามประกาศนี้ด้วย แต่ก่อนอื่น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า ระหว่างโรคติดต่ออันตรายกับโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังนั้น มีความแตกต่างที่ประชาชนควรรู้ในหลายมิติ ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ปรับลด "โควิด-19" จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคเฝ้าระวัง ตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้
- วัคซีน-ยา-รักษา-ระบบเฝ้าระวัง เมื่อโควิด-19 ไม่เป็นโรคติดต่ออันตราย
1. “โรคติดต่ออันตราย” vs “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” มีความหมายแตกต่างกัน
- โรคติดต่ออันตราย หมายถึง
โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูง และสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ กาฬโรค, ไข้ทรพิษ, ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก, ไข้เวสต์ไนล์, ไข้เหลือง, โรคไข้ลาสซา, โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์, โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก, โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา, โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา, โรคซาร์ส, โรคเมอร์ส, วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (ส่วนโควิด-19 เพิ่งมีประกาศให้ถอดออกจากการเป็นโรคติดต่ออันตราย มีผล 1 ต.ค. 65)
- โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หมายถึง
โรคติดต่อที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ การวิเคราะห์ข้อมูล จัดเก็บข้อมูล ตลอดจนการรายงาน และการติดตามผลของการแพร่ของโรคอย่างต่อเนื่อง ด้วยกระบวนการที่เป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค ปัจจุบันมีทั้งหมดจำนวน 55 โรค อ่านรายชื่อโรคเพิ่มเติมได้ที่ >> พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
2. ระยะเวลาที่กำหนดให้รายงานสถานการณ์/ผู้ป่วยต้องสงสัย เปลี่ยนจากทุก 3 ชม. เป็นรายวัน หรือไม่เกิน 7 วัน
- โรคติดต่ออันตราย :
ต้องรายงานให้ กรมควบคุมโรคทราบทันที (ผู้ป่วยสงสัยหรือมีเหตุอันควรให้สงสัย) อย่างช้าไม่เกิน 3 ชม. ผู้สัมผัส (closed contact) ต้องโดนกักกัน หรือคุมไว้สังเกตอาการตามระยะการฟักตัวของเชื้อโรค และจะมีการประกาศ “เขตติดโรค” นอกราชอาณาจักร โดย รมต.กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยต้องสงสัยแล้วไม่รายงานโรค หรือ ผู้สัมผัสไม่ให้ความร่วมมือ หรือ มีผู้ขัดขวางการปฏิบัติงาน จะมีความผิดทั้งจำและปรับ (โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท)
- โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง :
ต้องรายงานให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบ โดยรายงานสัปดาห์ละ 1 ครั้ง บังคับให้ ทุกโรงพยาบาล และห้อง Lab ทั้งรัฐและเอกชนมีหน้าที่รายงานสถานการณ์/ผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ ไม่มีมาตรการกักกันหรือคุมไว้สังเกตของผู้สัมผัส หากไม่รายงานตามหน้าที่ก็จะมีความผิด โทษปรับ 20,000 บาท
3. ขั้นตอนการแจ้งเหตุกรณี “โรคติดต่ออันตราย” แตกต่างจากกรณี “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง”
- โรคติดต่ออันตราย :
เจ้าบ้าน/ ผู้ดูแลบ้าน/ แพทย์ผู้ทำการรักษาพยาบาล/ เจ้าของหรือผู้ควบคุมสถานประกอบการ/ บุคลากรในสถานพยาบาล/ ผู้ทำการชันสูตร หากพบผู้ป่วยต้องสงสัย มีหน้าที่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ สังกัดกรมควบคุมโรคในส่วนกลาง หรือเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคในพื้นที่นั้นๆ โดยต้องแจ้งด้วยวิธีที่เร็วที่สุดภายใน 3 ชั่วโมง นับแต่พบผู้ที่เป็นโรคโควิด-19 หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็น
ส่วนในกรณีที่ประชาชนแจ้งกับเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคในพื้นที่ (ไม่ได้แจ้งกับส่วนกลางโดยตรง) เจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งเหตุ ต้องแจ้งข้อมูลทางโทรศัพท์ต่อให้แก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ สังกัดกรมควบคุมโรคในส่วนกลาง ภายใน 24 ชั่วโมง
- โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง :
บุคลากรในสถานพยาบาล/ ผู้ทำการชันสูตร หากพบผู้ป่วยต้องสงสัย มีหน้าที่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ในสังกัด สสจ. หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ สังกัดสำนักอนามัย กทม. ภายใน 7 วัน นับแต่พบผู้ที่เป็นโรคโควิด-19 หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็น โดยสามารถแจ้งได้หลากหลายช่องทาง ได้แก่
- แจ้งโดยตรงต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
- แจ้งทางโทรศัพท์
- แจ้งทางโทรสาร
- แจ้งเป็นหนังสือ
- แจ้งทางอีเมล
- แจ้งโดยวิธีการอื่นที่อธิบดีกรมควบคุมโรคกำหนดเพิ่มเติม
4. การเฝ้าระวัง เตือนภัย และการป้องกัน เมื่อโควิด-19 เป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง”
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า เมื่อโควิด-19 ลดระดับเป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” ในการเฝ้าระวังและเตือนภัยก็จะใช้วิธีการเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่หรือไข้เลือดออก โดยจะรายงานสถานการณ์เป็นรายสัปดาห์ก็น่าจะเพียงพอ
ทั้งนี้ จะมีการประมวลว่าตัวเลขผู้ป่วยที่ควรจะมีในพื้นที่นั้น ช่วงเวลานั้น ภายใน 1 สัปดาห์ควรมีจำนวนเท่าไร เมื่อไรที่เกินกว่าค่าที่คำนวณไว้ก็จะทราบได้ว่าสถานการณ์ผิดปกติไป ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบทันที และประกาศใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อจัดการกับสถานการณ์ผิดปกตดังกล่าว
ส่วนการป้องกันโรค ก็จะเน้นใช้วิธีฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยต่อไปวัคซีนนี้จะกลายเป็นวัคซีนประจำปี เหมือนไข้หวัดใหญ่ โดยอาจจะพิจารณาจัดสรรให้ฟรีกับกลุ่มเสี่ยง (กลุ่ม 608) ที่จะมีอาการรุนแรง หรือกลุ่มที่พิจารณาว่ามีความจำเป็นเฉพาะ
5. ข้อแนะนำสำหรับประชาชน เมื่อโควิด-19 เป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง”
อัปเดต! เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากคณะกรรมการควบคุมโรคเข้ามาเพิ่มเติม ระบุว่า หากประชาชนป่วยโควิดโดยไม่มีอาการ-น้อย ไม่ต้องกักตัว เข้าไทยไม่ต้องยื่นเอกสารวัคซีน-ผลATK เริ่ม 1 ต.ค.นี้ สิทธิรักษาเหมือนโรคทั่วไป “คนไข้สีแดง”ใช้ UCEP Plus รักษาทุกที่ได้จนหาย หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นประกาศพื้นที่โรคระบาด (อ่านต่อ: คนไทยป่วยไม่มีอาการ ไม่ต้องกักตัว)
นอกจากนี้ ในส่วนของข้อปฏิบัติของประชาชน นพ.โสภณ แนะนำว่า ขอให้ประชาชนปฏิบัติตัวเหมือนการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ หากรู้ว่าตรงไหนมีความเสี่ยงก็ต้องหลีกเลี่ยงสถานที่นั้น หรือหากกำลังป่วยโควิดอยู่ก็ต้องดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปยังคนอื่น
รวมทั้งควรประเมินความเสี่ยงของตนเองอยู่เสมอ เช่น หากป่วยโควิดแต่ได้รับวัคซีนแล้ว ก็จะทราบว่าตนเองไม่ควรมีอาการหนัก ก็ให้เข้ารับการรักษาพยาบาลตามเหมาะสม เช่น หยุดงาน แต่ถ้าป่วยโควิดแล้วยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ก็ต้องรู้ว่ามีโอกาสเสี่ยงอาการรุนแรง ก็ต้องไปพบแพทย์เร็ว เป็นต้น
ทั้งนี้ การเข้ารับบริการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการฟรีได้เช่นเดิม ตามสถานพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิอยู่ (สิทธิบัตรทอง สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม) เป็นการปรับระบบเหมือนกับการเข้ารับการรักษาโรคอื่นๆ