“บริการสุขภาพปฐมภูมิบัตรทอง ปี 66” สปสช.เร่งพัฒนาระบบนวัตกรรมบริการ
สปสช. ขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ปี 2566 รุก “นวัตกรรมระบบบริการวิถีใหม่” เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพโดยเฉพาะในเขตเมือง เร่งดูแลกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงบริการ พร้อมปรับการบริหารจัดการ เพิ่ม/ขยายสิทธิประโยชน์บริการปฐมภูมิ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การเข้าถึงบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ความเพียงพอของหน่วยบริการในการรองรับการให้บริการนับเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ด้วยจำนวนหน่วยบริการที่มีจำกัดโดยเฉพาะในเขตเมือง ทำให้กลายเป็นปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงบริการของประชาชน ในปี 2566 นี้ สปสช.ได้จัดทำแผนขับเคลื่อนการบริหารจัดการบริการปฐมภูมิ
โดยเร่งดำเนินการ 3 ด้าน เพื่อขยายบริการให้เพียงพอและเหมาะสมกับทุกกลุ่ม ได้แก่
- การสนับสนุนให้มีนวัตกรรมบริการรูปแบบใหม่ ๆ ที่สอดคล้องตามความจำเป็นวิถีชีวิตใหม่ เช่น บริการโทรเวชกรรม (Telehealth/Telemedicine) บริการส่งยาไปที่บ้าน บริการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน บริการตรวจแลปนอกหน่วยบริการ บริการสุขภาพเคลื่อนที่ (Mobile health service) ฯลฯ
- การจัดหาหน่วยบริการปฐมภูมิจากหลากหลายวิชาชีพที่ตั้งอยู่ในชุมชน รวมถึงหน่วยบริการสุขภาพเคลื่อนที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการสุขภาพแก่ประชาชนที่มีสิทธิ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มที่มีปัญหาการเข้าถึงบริการ รวมถึงการรุกเข้าไปบริการถึงบ้านพักอาศัย
- การปรับการจ่าย จากเดิมที่จ่ายแบบเหมาจ่ายตามหัวประชากรที่ลงทะเบียนกับหน่วยบริการประจำ เป็นการจ่ายตามรายการบริการในราคาที่กำหนดหรือที่เรียกว่า fee schedule มากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการของประชาชน
- เร่งพัฒนาระบบนวัตกรรมบริการวิถีใหม่ เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม
นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประกอบกับความก้าวหน้าทางดิจิทัลเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการบริการสาธารณสุข สปสช.จึงสนับสนุนให้มีบริการโทรเวชกรรมในการดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้าน ขยายไปสู่การให้บริการผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จิตเวชเรื้อรัง หน่วยบริการมีประสบการณ์บริการโทรเวชกรรม
ปี 2566 จึงเป็นไปได้ที่จะสนับสนุนให้หน่วยบริการปฐมภูมิให้บริการ virtual clinic ผ่านโทรเวชกรรม ให้ผู้รับบริการไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านหรือส่งยาถึงบ้านหากประชาชนไม่สะดวก หรือให้ผู้รับบริการไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ ที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ เป็นต้น โดยจะนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน หรือหน่วยที่ให้บริการโทรเวชกรรมมีความพร้อมขยายบริการก็อาจจะขยายบริการไปยังพื้นที่อื่น
อย่างไรก็ตาม การใช้บริการโทรเวชกรรมนั้น ประชาชนต้องมีคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่/มือถือและอินเตอร์เน็ต ซึ่งประชาชนอีกจำนวนหนึ่งไม่มีใช้โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือประชาชนที่อยู่ในชุมชนแออัด สปสช.จะประสานให้มีหน่วยบริการสุขภาพเคลื่อนที่เข้าไปในชุมชน รวมถึงการจัดให้มีหน่วยบริการปฐมภูมิในชุมชนที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวก
โดยเฉพาะเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ยังมีหน่วยบริการปฐมภูมิไม่เพียงพอรวมถึงเขตเมืองใหญ่ ๆ ทำให้ประชาชนไปแออัดใช้บริการที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น คลินิกแพทย์ (คลินิกเวชกรรม) คลินิกทันตแพทย์ คลินิกพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกเทคนิคการแพทย์ ร้านยา รวมถึงสถานบริการของเทศบาลที่จัดบริการด้านกายภาพบำบัดและแพทย์แผนไทย เป็นต้น
- ประชาชนร้อยละ 70-80 สามารถดูแลรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้
ทั้งนี้ การเจ็บป่วยของประชาชนทั่วไปประมาณร้อยละ 70-80 สามารถให้บริการดูแลรักษาได้ที่หน่วยบริการปฐมภูมิซึ่งครอบคลุมการรักษาพยาบาล สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) และบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ
นอกจากนั้นยังมีผู้ใช้แรงงานอีกจำนวนมากในสถานประกอบกิจการยังเข้าไม่ถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สปสช.จะประสานเชิญชวนผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่มีห้องพยาบาลในสถานประกอบกิจการ พร้อมพยาบาลและหรือแพทย์ให้บริการ เข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ผู้ใช้แรงงานโดยรับค่าใช้จ่ายจาก สปสช.
นพ.จเด็จ กล่าวว่า เพื่อให้ประชาชนมั่นใจการใช้บริการและหน่วยบริการปฐมภูมิเต็มใจให้บริการ สปสช.จึงปรับให้มีการจ่ายตามรายการบริการเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากรายการจ่าย บริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ (OP Anywhere) โดยบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้เพิ่มรายการเบิกจ่ายตามรายการที่กำหนด (Fee Schedule) 9 รายการ เป็น 22 รายการ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการมากขึ้น
ได้แก่ บริการทดสอบการตั้งครรภ์ การตรวจหลังคลอด บริการคัดกรองโลหิตจาง บริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก บริการวางแผนครอบครัวและการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ บริการคัดกรองและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต บริการวัคซีนคอตีบ-บาดทะยักในผู้ใหญ่ และบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล บริการเคลือบฟลูออไรด์ (กลุ่มเสี่ยง)
นอกจากนั้นยังมีการจ่ายสำหรับบริการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลฟื้นฟูระยะกลาง (Intermediate Care) ณ ที่บ้านหรือชุมชน ตลอดจนปรับการจ่ายบริการแพทย์แผนไทยสำหรับยาสมุนไพรกลุ่มที่มีประสิทธิภาพชัดเจนใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันเป็นการจ่ายแบบ Fee Schedule จำนวน 10 รายการ รวมถึงการใช้น้ำมันกัญชา สารสกัดกัญชาและสมุนไพรที่มีส่วนผสมกัญชา
“ระบบบริการปฐมภูมิเป็นกลไกสำคัญของระบบสาธารณสุข ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีความแออัด จำเป็นต้องมีบริการปฐมภูมิในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ชีวิตคนเมือง ปีนี้ สปสช. ได้รุกขับเคลื่อนบริการปฐมภูมิเชิงรุก ไม่เพียงแต่เพิ่มรายการบริการบริการปฐมภูมิที่จำเป็น แต่ยังขยายการบริการในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เพียงพอและอำนวยความสะดวกและเพิ่มการเข้าถึงบริการ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว