เข้าโหมดเฝ้าระวัง “โควิด” ความสำเร็จของทุกคน
แม้การจัดการปัญหาโควิดในประเทศไทยจะยังมีสะดุดไปบ้าง เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ทำให้ยังไม่มีความพร้อมในหลายด้าน แต่ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในเกือบ 3 ปี ทำให้วันนี้สถานการณ์เริ่มเบาบางลง
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศกินเวลาถึงปัจจุบันกว่า 2 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยรายแรกเมื่อเดือน ม.ค.2563 ซึ่งนำมาสู่การผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง โดยรัฐบาลได้ประกาศล็อกดาวน์ประเทศในเดือน เม.ย.2563 เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด
ซึ่งถึงเป็นมาตรการที่เข้มงวดบนสถานการณ์ที่ยังไม่มียารักษาโรคและไม่มีวัคซีนป้องกัน และเป็นแนวทางที่หลายประเทศดำเนินการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะประเทศจีนที่ใช้นโยบายซีโร่ โควิด
สำหรับประเทศไทยได้ระดมทรัพยากรในการควบคุมการแพร่ระบาด โดยรัฐบาลมีงบประมาณไม่เพียงพอที่ดูควบคุมการแพร่ระบาด การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงการฟื้นฟูผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทำให้รัฐบาลตัดสินใจออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวม 2 ฉบับ ในปี 2563-2564 รวมวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท
งบประมาณที่ใช้รับมือกับโรคโควิด-19 จะมีการปรับการใช้งบประมาณจากส่วนราชการอื่น รวมถึงงบประมาณกลาง รวมแล้วรัฐบาลใช้งบประมาณไปไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านล้านบาท รวมถึงการได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากบุคลากรด้านสาธารณสุขทุกกลุ่มที่ทุ่มเทกำลังในการรักษาผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการระบาดที่อุปกรณ์ไม่เพียงพอ รวมถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ยังมีไม่เท่ากับปัจจุบัน ในขณะที่อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เป็นอีกกลไกสำคัญที่ช่วยควบคุมการแพร่ระบาดในระดับหมู่บ้าน
ในขณะที่ภาคเอกชนได้ระดมความช่วยเหลือเพื่อให้ประเทศฝ่าวิกฤติโควิดทั้งในลักษณะการบริจาค การสนับสนุนเงินทุน และการจัดทำโครงการสำหรับการฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 ความร่วมมือดังกล่าวทำให้เห็นโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์กักตัว ถือที่เป็นความร่วมมือของภาคเอกชน องค์กรสาธารณะ และประชาชน ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบได้อย่างดี โดยเฉพาะในบางพื้นที่ที่เกิดการแพร่บาดจนเป็นคลัสเตอร์ ได้เห็นภาพความร่วมมือกันในการระดมทุน อาหารและยารักษาโรค
ความสำเร็จของประเทศไทยถึงแม้จะไม่ดีที่สุดในโลก แต่เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกฝ่าย แม้ว่าระหว่างทางจะเห็นหลายปัญหาทั้งการทุจริตการใช้งบประมาณ ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 นับจากวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของการเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้เกือบใกล้เคียงกับปกติ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นบทเรียนสำคัญของประเทศในการรับมือกับมหาวิกฤติที่จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้