วีลแชร์ยืนได้ - เครื่องยกผู้ป่วย นวัตกรรมคนไทย ตอบโจทย์ BCG

วีลแชร์ยืนได้ - เครื่องยกผู้ป่วย นวัตกรรมคนไทย ตอบโจทย์ BCG

ช่วงโควิด-19 ที่ทั่วโลกขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ โมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ จึงนับเป็นทางออกให้กับประเทศไทย เพื่อรองรับวิกฤติที่คาดไม่ถึงในอนาคต อีกทั้ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ให้ได้ใช้สินค้าคุณภาพ ราคาเข้าถึงได้

โมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขา เครื่องมือแพทย์ เป็นหนึ่งในสาขาสำคัญของ BCG Economy Model ที่ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ โดยสนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน เทียบเท่าสากล ผลักดันเป็นสินค้าส่งออกได้

 

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนวัตกรรมการแพทย์จำนวนมากที่ได้รับการออกแบบด้วยฝีมือคนไทย ข้อมูลจาก TDRI เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของสินค้าเครื่องมือแพทย์ในบัญชีนวัตกรรมไทย พบว่า ยอดขายสินค้าเครื่องมือแพทย์ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรม 360 ล้านบาทในปี 2560 – 2563 มีมูลค่าสุทธิของผลกระทบทางเศรษฐกิจ 140 ล้านบาท

 

สถิติการอนุมัติให้การส่งเสริมกิจการผลิตเครื่องมือแทพย์หรือชิ้นส่วนในปี 2560 – 2564 จาก BOI พบว่า มีการลงทุนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า หรือกว่า 57,329 ล้านบาทในปี 2564 จาก 18,517 ล้านบาทในปี 2564 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ทั่วไป แต่กลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูงยังไม่มีใครลงทุน เพราะยังไม่ดึงดูดการลงทุน 

 

“วีลแชร์ ยืนได้” (Standing Wheelchair) นับเป็นหนึ่งนวัตกรรมฝีมือคนไทย จากการออกแบบโดย “ธีรพงศ์ สมุทรอัษฎงค์” ในฐานะ กรรมการ บริษัท ซีเมดเมดิคอล จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ของไทย ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากโปรเจกต์ระหว่างการเรียนปริญญาตรีและโท วิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่การหยิบงานวิจัยจากหิ้ง สู่เชิงพาณิชย์ โดยระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จและถูกนำไปใช้จริง รวมถึงส่งประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ที่เกาหลีใต้ และ เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ได้รางวัลเหรียญทอง รวมถึงมีการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว

 

วีลแชร์ยืนได้ - เครื่องยกผู้ป่วย นวัตกรรมคนไทย ตอบโจทย์ BCG

วีลแชร์ ยืนได้

 

ธีรพงศ์ เล่าว่า ในระหว่างเรียนซึ่งสามารถเลือกโปรเจกต์ที่ออกแบบได้เพียง 1 อย่าง ดังนั้น จึงมองว่าการเลือกโปรเจกต์ที่ดีที่สุด คือ ต้องมี Impact กับคนอื่น แทนที่จะออกแบบเครื่องจักร จึงเลือกออกแบบเครื่องมือแพทย์ เพราะอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมมากที่สุด

 

 “ตอนที่ออกแบบ เรามีความหวังว่าเครื่องมือแพทย์ชิ้นนี้จะช่วยให้คุณภาพชีวิตคนๆ หนึ่งดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หากเรียนจบแล้วไม่ทำอะไรกับเครื่องมือแพทย์ที่เราออกแบบมา ก็จะอยู่แค่ในมหาวิทยาลัย และจะกลายเป็นสิ่งที่คนไทยชอบเรียกกัน คือ “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” ไม่ถูกเอาออกมาใช้ หลังจากนั้น จึงเลือกที่จะก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพขึ้น โดยเอาเครื่องมือแพทย์ที่เราออกแบบตอนเรียนมาพัฒนาต่อ”

 

แต่การพัฒนาสู่เชิงพานิชย์ นับเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญ เพราะเมื่อนำมาใช้จริง บางอย่างไม่สามารถเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย และด้านต่างๆ ทำให้ต้องใช้ความพยายาม ความมุ่งมั่นค่อนข้างเยอะ

 

“ทำไมวีลแชร์ถึงยืนได้ นี่คือโจทย์ของเรา เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ และประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ของเอเชียที่มีวีลแชร์ยืนได้ รองจาก ญี่ปุ่น ปัจจุบัน วีลแชร์ที่พัฒนาขึ้นมา ได้รับความสนับสนุนจากภาครัฐไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และล่าสุดได้ทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ราว 2 ล้านบาท”

 

วีลแชร์ยืนได้ - เครื่องยกผู้ป่วย นวัตกรรมคนไทย ตอบโจทย์ BCG นวัตกรรมเครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

 

 

ต่อยอดสู้เครื่องยกผู้ป่วย

 

ธีรพงศ์ เล่าต่อไปว่า หลังจากที่ทำวีลแชร์ ช่วยให้คนพิการสามารถยืนได้ แต่สุดท้าย ก็พบว่าผู้ป่วยบางคนไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองจากเตียงมาใช้วีลแชร์ได้ ดังนั้น จึงต่อยอดสู่ “นวัตกรรมเครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย” สามารถรับน้ำหนักตัวได้ถึง 150 กิโลกรัม มาตรฐานเดียวกับเครื่องที่จำหน่ายในยุโรป ปัจจุบันมีใช้ในโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมถึง ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุรวมกว่า 600 เครื่อง

 

ความน่าสนใจของ นวัตกรรมเครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย คือ ผู้ใช้ไม่ต้องดัดแปลงรถยนต์ หมายความว่าหากมีผู้ป่วยที่ติดเตียง ซึ่งปกติจะมีผู้ดูแลเพียง 1-2 คนในบ้าน สามารถพาผู้ป่วยไปพบแพทย์และไปข้างนอกได้ ด้วยแท็กซี่ หรือรถที่มีอยู่ โดยไม่ต้องดัดแปลงรถ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาให้สามารถชั่งน้ำหนักผู้ป่วยได้อีกด้วย ซึ่งราคาถูกกว่านำเข้าต่างต่างประเทศราว 2-3 เท่า

 

BCG โอกาสนวัตกรรมไทย

 

สำหรับตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย ธีรพงศ์ มองว่า มีทั้งความยากและความง่าย ในปัจจุบันการแข่งขันค่อนข้างสูง ผู้บริโภคกล้าที่จะซื้อของผ่านออนไลน์โดยที่ไม่รู้ว่าคนขายเป็นใคร ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ทำให้มีเครื่องมือแพทย์เถื่อนจากต่างประเทศเข้ามาเยอะและไม่มีคุณภาพ สิ่งที่จะตามมา คือ ทำให้เกิดอันตรายจากการใช้งาน ดังนั้น ในช่วง 2-3 ปีนี้ การทำตลาด จึงต้องสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภครู้ว่า เครื่องมือแพทย์ที่มีคุณภาพ ควรจะต้องมองดูอย่างไร

 

ขณะเดียวกัน การที่ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย ซึ่งภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญ การมีโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ จึงนับเป็นโอกาสที่จะส่งเสริม สนับสนุนนวัตกรรมของคนไทย ที่มีคุณภาพ และมีนวัตกรรมเฉพาะ

 

วีลแชร์ยืนได้ - เครื่องยกผู้ป่วย นวัตกรรมคนไทย ตอบโจทย์ BCG

 

“ธีรพงศ์” กล่าวต่อไปว่า การสนับสนุนเครื่องมือแพทย์ฝีมือคนไทย สำคัญมาก เพราะในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปัจจุบัน มีเป้าหมายหนึ่ง คือ การเป็น Medical Hub ของเอเชียหรือของโลก เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทย รักษาสุขภาพร่างกาย แต่หากมาแล้วมีแค่สถานที่เที่ยว โรงพยาบาล แต่ขาดอุปกรณ์ที่ซัพพอร์ต จะกลายเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่อุปกรณ์ที่ใช้ซัพพอร์ตนักท่องเที่ยว ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น BCG เครื่องมือแพทย์ จึงสำคัญให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้

 

“ยกตัวอย่าง หน้ากากอนามัยในช่วงโควิด-19 ซึ่งอยู่ๆ บริษัทผู้ผลิตก็หยุดส่งออกให้กับเราในช่วงวิกฤติ ดังนั้น หากเราไม่พัฒนานวัตกรรมภายในประเทศ สิ่งที่จะตามมา คือ เมื่อเกิดวิกฤติ ก็จะไม่มีบริษัทที่เป็นนวัตกรรม มาช่วยเหลือในวิกฤติตรงนั้นได้ มันคือการพึ่งพาตัวเอง”

 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ประกอบการ อยากให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เช่น กฎหมายการควบคุมเครื่องมือแพทย์เถื่อน การโฆษณาเกินจริง จะช่วยผู้ประกอบการไทยได้ เพราะปัจจุบัน หากค้นหาข้อมูลสินค้าบางอย่าง สินค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์ก็จะขึ้นมาให้เห็น สินค้าบางอย่างมาจากต่างประเทศซึ่งไม่ได้มาตรฐาน ในขณะที่คนไทย ที่นำเข้าเครื่องมือแพทย์มาขายต่อหรือผลิตเองต้องผ่านหลายสเต็ป

 

“ดังนั้นอยากให้ภาครัฐควบคุมการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องมือแพทย์อย่างเข้มงวด ไม่ใช่เพื่อผู้ประกอบการอย่างเดียว แต่เพื่อคนไทยในประเทศด้วย ที่จะได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพ เกิดประโยชน์กับทุกคนในประเทศ” ธีรพงศ์ กล่าว