"หูดับ" ป่วยพุ่งนับร้อย! 4 จังหวัดอีสานล่าง สคร.9 เตือนกินหมูดิบ

"หูดับ" ป่วยพุ่งนับร้อย! 4 จังหวัดอีสานล่าง สคร.9 เตือนกินหมูดิบ

ระวังด้วย "หูดับ" ป่วยพุ่งนับร้อย! 4 จังหวัดอีสานล่าง สคร.9 เตือนกินหมูดิบ ป่วยสูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวกถาวร

นางเบญจมาศ อุนรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคหูดับ เกิดจากการกินหมูดิบ หรือเลือดหมูสุกๆ ดิบๆ ที่มีเชื้อสเตปโตค็อกคัส ซูอิส ปนเปื้อนอยู่ นอกจากกินหมูดิบแล้ว เชื้อนี้ยังสามารถเข้าทางบาดแผล หรือรอยถลอก รอยขีดข่วนตามร่างกาย หรือเข้าทางเยื่อบุตาได้ สคร.9 นครราชสีมา เตือนผู้ที่ชอบกินหมูดิบ เช่น ลาบเลือดดิบ เนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ หลู้ อาจทำให้ติดเชื้อโรคหูดับ โดยเฉพาะในช่วงนี้มีงานเลี้ยง งานบุญต่างๆ มีการนำเนื้อหมูมาประกอบอาหารเลี้ยงคนในงาน อาจทำให้ผู้ที่กินเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ ติดเชื้อนี้ได้ ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการได้ยิน จนถึงขั้นหูหนวกถาวร ข้ออักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังติดเชื้อ และอาจรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิต

โรคหูดับว่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหูดับเกิดจากกินหมูดิบ เช่น ลาบหมูดิบ ลาบเลือดดิบ เนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ ปรุงไม่สุก อีกทั้งโรคนี้ยังสามารถติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตา

เมื่อได้รับเชื้อโรคไข้หูดับเข้าไปแล้ว ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการดังนี้

  • มีไข้สูง
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้
  • อาเจียน
  • ถ่ายเหลว
  • คอแข็ง
  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยิน ถึงขั้นหูหนวกถาวร
  • ข้ออักเสบ
  • เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังติดเชื้อ รุนแรงถึงติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้ 

จากการเฝ้าระวังในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 29 ตุลาคม 2565 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับจำนวน 101 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 88 ราย จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 3 ราย จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 10 ราย ส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ ไม่มีผู้ป่วย พบผู้ป่วยมากที่สุดในกลุ่มอายุ 55-64 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป และกลุ่มอายุ 45-54 ปี ตามลำดับ

นางเบญจมาศ อุนรัตน์ กล่าวต่อไป นอกจากผู้ที่กินหมูดิบแล้ว ยังมีกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไข้หูดับ ได้แก่ ผู้ที่เลี้ยงสุกร ควรสวมรองเท้าและถุงมือทุกครั้งเมื่อเข้าไปทำงานในคอกสุกร ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสุกร และผู้ทำงานในโรงงานฆ่าสัตว์ ควรสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด สวมรองเท้าบู๊ทและถุงมือ หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสุกรโดยตรง ผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ ควรจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน ทำความสะอาดแผงด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อทุกวันหลังเลิกขาย และเก็บเนื้อหมูที่จะขายในอุณหภูมิที่ตํ่ากว่า 10°C หากมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422.