"หมอธีระ" ชี้ "โควิด-19" Omicron มีโอกาสเกิดอาการป่วยมากกว่าสายพันธุ์อื่น
"หมอธีระ" เผยผลการศึกษาจากสหราชอาณาจักร เปรียบเทียบลักษณะอาการป่วย 26 อาการ ระหว่างสายพันธุ์ดั้งเดิม ”โควิด-19” อัลฟ่า เดลต้า และ Omicron BA.1 และ BA.2 ชี้ Omicron มีโอกาสเกิดอาการป่วยมากกว่าสายพันธุ์อื่น
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 204,102 คน ตายเพิ่ม 343 คน รวมแล้วติดไป 640,312,572 คน เสียชีวิตรวม 6,615,340 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ
- ญี่ปุ่น
- เกาหลีใต้
- ฝรั่งเศส
- ไต้หวัน
- ฮ่องกง
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรป และเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 94.98 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 90.96
เปรียบเทียบอาการระหว่างสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19
Whitaker M และคณะ จากสหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสาร Nature Communications เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา
ทำการศึกษาในกลุ่มประชากร 1,542,510 คน ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ตลอดช่วงการระบาดที่ผ่านมาตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิม อัลฟ่า เดลต้า และ Omicron BA.1 และ BA.2
เปรียบเทียบลักษณะอาการป่วย 26 อาการ ระหว่างสายพันธุ์ต่างๆ
ชี้ให้เห็นว่าการติดเชื้อ Omicron มีโอกาสที่จะเกิดอาการป่วยมากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทั้งนี้ อาการที่พบในสายพันธุ์ Omicron นั้น นอกจากที่เหมือนกับสายพันธุ์อื่นคือ ไข้ ไอ และปวดกล้ามเนื้อแล้ว อาการที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นคือ การเจ็บคอ เสียงแหบ ปวดหัว คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม
ในขณะที่ความผิดปกติของการรับรส และการดมกลิ่นนั้น ก็ยังเกิดขึ้นได้ แต่พบน้อยลงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า
ข้อมูลข้างต้นจึงสะท้อนให้เราทราบธรรมชาติของโรคที่ประสบกันอยู่ และควรตระหนักถึงอาการข้างต้น หากใครป่วย มีอาการดังกล่าว ต้องนึกถึงโควิด-19 ด้วยเสมอ แยกตัวจากผู้อื่น และตรวจ ATK ด้วย เพื่อจะได้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้ถูกต้อง ทันเวลา
ระลอกปลายปีนี้ ไทยเราคงต้องระวัง เพราะปัจจัยพื้นฐานไม่เหมือนยุโรปและสิงคโปร์
ระลอกที่กำลังเผชิญนั้นช้ากว่าเขา 6-8 สัปดาห์ และตกอยู่ในช่วงที่คนจำนวนมากได้รับเข็มสุดท้ายมานานกว่า 6 เดือน
ความรู้จากงานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านี้ ที่เคยชี้ให้เห็นว่า ประสิทธิภาพวัคซีนในการลดความรุนแรงอาจคงอยู่ถึงประมาณ 7 เดือนแล้วจะถดถอยลงมาก
ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลไตรมาสปลายปี ที่เกิดกิจกรรมเสี่ยง แออัด และท่องเที่ยวกันมาก
จึงต้องช่วยกันป้องกันตัวสม่ำเสมอ ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด
ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี
โรงพยาบาลควรตรวจคัดกรองผู้ป่วยในก่อนรับเข้ารักษา เพื่อปกป้องผู้ป่วยทุกคนและบุคลากรทางการแพทย์ เรื่องนี้ควรถือเป็นสิทธิของทุกคนที่จะได้รับการดูแลคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัย
คนติดเชื้อ ไม่สบาย ควรแยกตัวจากคนอื่น 7-10 วันจนดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจ ATK ได้ผลลบ
สำคัญที่สุดคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน
อ้างอิง
Whitaker M et al. Variant-specific symptoms of COVID-19 in a study of 1,542,510 adults in England. Nature Communications. 11 November 2022.