ปัจจัยสำคัญที่คนไทยเสียชีวิตจาก "โควิด19" หลังปรับลดระดับโรคมา 2 เดือน
2 เดือนโควิด 19 เป็นโรคเฝ้าระวัง แต่ต้องอย่าลืมว่าติดเชื้อซ้ำได้ กลุ่มเสี่ยงขอให้เข้ารับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น จะช่วยลดความรุนแรงและเสียชีวิต
นับตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 ประเทศไทย ประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง จากเดิมที่เป็นโรคติดต่ออันตราย ผ่านมาแล้วเกือบ 2 เดือน สถานการณ์ล่าสุดเป็นอย่างไร
เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์พบว่าผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล ร้อยละของผู้ป่วยที่มีอาการหนัก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา
- มีผู้ป่วยอาการหนัก 329 ราย
- อัตราครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 4.6 % ถือว่าลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปรับเข้าสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งขณะนั้นมีผู้ป่วยอาการหนัก 466 ราย
- ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ในสัปดาห์ที่ 45 (วันที่ 6-12 พ.ย.2565) มี 42 ราย
- เป็นกลุ่ม 608 ทั้งหมด
- ปัจจัยสำคัญคือ ไม่ได้รับวัคซีน ได้รับวัคซีนไม่ครบเข็มกระตุ้น รวมถึงรับเข็มกระตุ้นเกิน 3 เดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โควิดสายพันธุ์ BQ.1/BQ.1.1 เพิ่มเร็วในสหรัฐ
จับตาโควิด “เดลทาครอน XBC” ลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ เดลตา - โอมิครอน BA.2
ถอดรหัสจีนผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-ลดวันกักตัว เพื่อใคร?
ขอให้เข้ารับวัคซีนโควิด19เข็มกระตุ้น
วัคซีนเข็มกระตุ้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ได้ ยิ่งช่วงนี้เข้าสู่ฤดูหนาว ประกอบกับประชาชนเริ่มผ่อนคลายการสวมหน้ากาก มีกิจกรรมรวมตัวจำนวนมากเนื่องจากเข้าใกล้เทศกาลช่วงปลายปี ทำให้ผู้คนมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบางคนอาจจะติดเชื้อซ้ำได้ ดังนั้น
ผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนเลยขอให้รีบมารับวัคซีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง หรือหากรับวัคซีนเข็มล่าสุดนานเกิน 3 เดือนขึ้นไป ก็ขอให้มารับเข็มกระตุ้นได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น และปลอดภัยจากโรคโควิด 19 มากขึ้น
โควิด19ติดเชื้อซ้ำได้
ส่วนกรณีถึงข้อมูลที่มีการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียเรื่องการติดเชื้อโควิด 19 ซ้ำ เสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 เท่า และป่วยหนักมากกว่าเดิม 3 เท่า ว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 แล้วสามารถติดเชื้อซ้ำได้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่เกิดจากการติดเชื้อ หรือภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากวัคซีนป้องกันโควิด 19 สามารถลดลงได้เมื่อระยะเวลาผ่านไป
คงมาตรการป้องกันโควิด19
การป้องกันการติดเชื้อที่ดี คือ การยังคงปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล โดยเฉพาะการสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ หรือมีผู้คนรวมตัวกันจำนวนมาก ล้างมือบ่อยๆ
“ แม้จะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำ แต่เมื่อร่างกายเคยมีภูมิคุ้มกันแล้วก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคลง เห็นได้จากการที่ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ไปแล้วกว่า 143 ล้านโดส และตั้งแต่การฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมมากขึ้นสถานการณ์ความรุนแรงของโรคโควิด 19 ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนสามารถปรับลดจากโรคติดต่ออันตรายมาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังได้”นพ.โอภาสกล่าว
สายพันธุ์โควิด19 ในไทย
ขณะที่เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2565 นพ.ศุภภิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า ในประเทศไทยสายพันธุ์หลักยังเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 แต่ดูเหมือนว่า BA.2.75 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นชัดเจน แต่จะเร็วแค่ไหนต้องรอข้อมูลรายสัปดาห์มาเทียบสัดส่วน
โควิด19 เดลทาครอนXBC
ส่วนกรณีสายพันธุ์ “เดลทาครอน XBC” หรือลูกผสมระหว่างโควิดสายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอน BA.2 ที่พบการระบาดในประเทศฟิลิปปินส์ และกลายพันธุ์ไปมากกว่า XBB และ BQ.1นั้น
นพ.ศุภกิจ บอกว่า ขณะนี้ยังมีข้อมูลน้อยเกินไปที่จะระบุว่ามีความรุนแรงหรือแพร่เชื้อเร็วขึ้นอย่างไร เป็นเพียงการคาดการณ์จากผลทางห้องแล็ปว่าอาจจะรุนแรงเท่าเดลต้า ความเร็วเท่าโอมิครอน แต่โดยจำนวนที่พบตอนนี้ยังไม่มาก
- XBC ยังไม่เห็นสัญญาณความรุนแรง
- วัคซีนโควิด19 ที่ฉีดกันมา 4-5 เข็ม ภูมิคุ้มกันที่ได้อาจมีค่าไตเตอร์สำหรับสู้กับโอมิครอนรุ่นหลังๆ ได้น้อย แต่กับรุ่นเก่า เช่น เดลต้า อัลฟ่า ยังได้ผลดีอยู่
- หากมีการตั้งสมมติฐานว่าความรุนแรงเท่าเดลต้าจริง ถ้ามาเจอวัคซีนก็สามารถป้องกันได้ เพราะภูมิฯ ยังสู้กับเชื้อเก่าๆ ได้
- ขณะนี้ในประเทศไทย จากการเฝ้าระวังยังไม่พบ XBC
- ส่วนโอมิครอน XBB กรมวิทย์รายงานไปตั้งแต่ช่วงเดือนที่แล้วว่า ไทยเจอ XBB แล้ว
แต่ละภูมิภาคมีความชุกของโรคไม่เท่ากัน อย่างเช่น
- อเมริกา หรือยุโรป ก็จะเจอ BQ.1 , BQ.1.1
- เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะเจอเป็น BA.2.75 , XBB
///////