ตรวจปริมาณ "กัญชา" ในพลาสมา-ปัสสาวะ จำเป็นต่อผู้ป่วยอย่างไร ?
กรมวิทย์ฯ ให้บริการตรวจปริมาณ "กัญชา" ใน "พลาสมา" และปัสสาวะผู้ป่วยที่ได้รับกัญชา ทั้งจากการใช้กัญชาเพื่อการรักษาและในรูปแบบอื่น เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์สามารถสั่งจ่ายปริมาณยากัญชาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
หลังจากที่ กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยสารออกฤทธิ์สำคัญในกัญชา คือ THC และ CBD หากนำมาใช้ในวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ ยังไม่มีขนาดกำหนดในการนำไปใช้ที่ชัดเจน โดยแพทย์จะเริ่มสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยในปริมาณน้อย และปรับขนาดเพิ่มขึ้น ตามการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละราย
ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้พัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจปริมาณกัญชาในพลาสมา และปัสสาวะของผู้ป่วยที่ได้รับกัญชา ทั้งจากการใช้กัญชาเพื่อการรักษา และการได้รับกัญชาในรูปแบบอื่น เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์สามารถสั่งจ่ายปริมาณยากัญชาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยว่า สำหรับการตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พัฒนาขึ้นนี้ เป็นวิธีการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญ และเมตาบอไลต์ของกัญชาในพลาสมา ได้แก่ THC, 11-OH-THC และ CBD โดยใช้เครื่องมือชั้นสูงด้วยเทคนิค LC-MS, GC-MS และ GC-MS/MS ซึ่งเป็นวิธีที่มีความละเอียดในการหาปริมาณของกัญชาในพลาสมา
ค่าบริการตรวจในพลาสมา
ทั้งนี้ การตรวจปริมาณของกัญชาในพลาสมา ได้เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2565 เป็นต้นมา โดยมีอัตราค่าตรวจวิเคราะห์ 1,400 บาทต่อตัวอย่าง ระยะเวลาในการตรวจ 1-3 วันทำการ
โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลสามารถส่งตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์ได้ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศ
ค่าบริการตรวจในปัสสาวะ
นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังเปิดให้บริการการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณ 11-Nor-delta 9-tetrahydrocannabinol carboxylic acid (11-Nor-delta-9-THC COOH) ซึ่งเป็นเมตาบอไลต์หลักของกัญชา ที่ตรวจพบในปัสสาวะ มีอัตราค่าตรวจวิเคราะห์ 700 บาทต่อตัวอย่าง ระยะเวลาในการตรวจ 3-7 วันทำการ
โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล สามารถส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ได้ที่ สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศ
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการติดต่อ และส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำคู่มือการส่งตรวจกัญชาในพลาสมา และปัสสาวะ ซึ่งมีรายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบฟอร์มการนำส่งตัวอย่าง การเก็บ และส่งตัวอย่าง อัตราค่าตรวจวิเคราะห์ รวมถึงช่องทางการติดต่อสอบถาม เป็นต้น
ทั้งนี้ โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่จะส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์สามารถสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อศึกษารายละเอียดในคู่มือดังกล่าวได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์