6 จังหวัด รพ.สต.โอนจากสธ.ไปอยู่อบจ.ทั้งหมด
สธ. เผยสอน.-รพ.สต.ถ่ายโอนไปอบจ.แล้ว 40 จังหวัด รวม 2,932 แห่ง 6 จังหวัดที่ถ่ายโอนทั้งจังหวัด อีก 9 จังหวัด 331 แห่ง พร้อมลงนามหาก อบจ.พร้อม
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ว่า การถ่ายโอน สอน.และ รพ.สต.ในปีงบประมาณ 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,263 แห่ง ใน 49 จังหวัด มีบุคลากรถ่ายโอน ดังนี้
- ข้าราชการ 11,722 ราย
- ลูกจ้างประจำ 20 ราย
- พนักงานราชการ 5 ราย
- พนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4,919 ราย
- ลูกจ้างชั่วคราว 4,891 ราย
- ช่วยราชการ 374 ราย
ในการถ่ายโอนภารกิจจะลงนามบันทึกการส่งมอบและบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อทาง อบจ.มีความพร้อม ซึ่งขณะนี้พบว่าทาง อบจ.แต่ละแห่งมีความพร้อมจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สามารถทยอยถ่ายโอนภารกิจได้ตามเป้าหมายมากขึ้นและมีความคืบหน้าอย่างมาก
ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 มีการลงนามบันทึกการส่งมอบและ MOU ระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและ อบจ.แล้ว 40 จังหวัด รวม 2,932 แห่ง
จำนวนนี้มี 6 จังหวัดที่ อบจ.รับโอน สอน.และ รพ.สต.ทั้งจังหวัด ได้แก่
- สุพรรณบุรี
- ปราจีนบุรี
- ร้อยเอ็ด
- ขอนแก่น
- มุกดาหาร
- หนองบัวลำภู
ภายหลังการถ่ายโอนภารกิจได้รับรายงานถึงปัญหาและอุปสรรคด้านบริการ 1 เรื่อง คือ การจัดบริการทันตกรรมใน รพ.สต.โดยที่อบจ.ไม่ได้ประสานเรื่องการทำงานของทันตาภิบาลในสังกัดที่ต้องมีทันตแพทย์เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.วิชาชีพ
ทำให้ต้องหยุดให้บริการประชาชนในบางแห่ง ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ที่พบปัญหาการบริการได้รับทราบและหาแนวทางสนับสนุนช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถบริการประชาชนอย่างต่อเนื่องไร้รอยต่อแล้ว
จังหวัดที่ยังไม่ได้ลงนามบันทึกส่งมอบและ MOU มีอีก 9 จังหวัด รวม 331 แห่ง ได้แก่
- ประจวบคีรีขันธ์
- เพชรบูรณ์
- ยโสธร
- อำนาจเจริญ
- อุบลราชธานี
- ปทุมธานี
- สิงห์บุรี
- พิษณุโลก
- สุโขทัย
ปัญหาเกิดจากทาง อบจ.ยังไม่ได้ทำสัญญาจ้างลูกจ้างที่ปฏิบัติงานต่อเนื่องใน รพ.สต. หรือยังไม่ได้พิจารณาข้อสรุปการจัดสรรเงินในโครงการหลักประกันสุขภาพ (UC) ที่ต้องให้บริการประชาชน อย่างไรก็ตาม จะมีการลงนามทันทีเมื่อทาง อบจ.มีความพร้อมรับการถ่ายโอน
ส่วนการถ่ายโอนภารกิจในปีงบประมาณ 2567 มี อบจ.ขอรับการถ่ายโอน รพ.สต.เพิ่มจำนวน 14 แห่ง ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ชัยนาท สระบุรี ลพบุรี เพชรบุรี จันทบุรี ชลบุรี สุรินทร์ เลย ระนอง ตรัง นราธิวาส และยะลา ข้อมูลวันที่ 31 ตุลาคม 2565 มีบุคลากรแสดงความสมัครใจถ่ายโอนจำนวน 3,863 ราย
อนึ่ง การประชุมระดับคณะกรรมการถ่ายโอน ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และระดับคณะอนุกรรมการถ่ายโอน ซึ่งมีนายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ เป็นประธาน ซึ่งทั้ง 2 คณะ ตนในฐานะรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการและรองประธานอนุกรรมการได้เสนอความเห็นเรื่องบุคลากรที่ถ่ายโอนต้องมีความชัดเจนตามภารกิจในคู่มือ คือปฏิบัติภารกิจใน รพ.สต. แล้วจะไม่เกิดปัญหากระทบต่อระบบบริการ ซึ่งที่ผ่านมาในรอบแรกภายในวันที่ 2 ตุลาคม 2565 คณะอนุกรรมการถ่ายโอนได้ให้บุคลากรซึ่งไม่ได้อยู่ในภารกิจดังกล่าวได้รับการถ่ายโอนไปด้วย จึงเกิดผลกระทบตามมาพอสมควร