เช็ก! วิธีป้องกันติดเชื้ออะมีบาขึ้นสมอง ปรสิตในแหล่งน้ำ

เช็ก! วิธีป้องกันติดเชื้ออะมีบาขึ้นสมอง  ปรสิตในแหล่งน้ำ

ในช่วงวันหยุดยาว เทศกาลปีใหม่ หลายๆ คนกำลังออกเดินทางท่องเที่ยว หรือกลับบ้านที่ต่างจังหวัด แล้วมีโอกาสพาครอบครัวไปเล่นน้ำจากแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติ คงต้องเฝ้าระวังการติดเชื้ออะมีบา หรือปรสิตที่พบได้ตามแหล่งน้ำเหล่านั้น

ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลีใต้ (KDCA) ได้ออกมายืนยันว่าชายสัญชาติเกาหลีวัยประมาณ 50 ปี เสียชีวิตด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบาชนิดนีเกลอเรีย (Naegleria fowleri) หลังเดินทางกลับจากประเทศไทย

โดยชายดังกล่าวเดินทางกลับถึงเกาหลีใต้ในวันเสาร์ที่ 10 ธ.ค. หลังพำนักอยู่ในไทยเป็นเวลา 4 เดือน ก่อนถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในวันถัดมา และเสียชีวิตเมื่อวันพุธที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า ชายรายนี้ถือเป็นผู้ติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบารายแรกในเกาหลีใต้ โดยผู้ติดเชื้อรายแรกของโลกตรวจพบที่รัฐเวอร์จิเนียในปี 2480

โดยโรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา Naegleria fowleri พบได้ทั่วโลก ในช่วง 40 ปี (2526-2564) ประเทศไทยพบเพียง 17 ราย ในจำนวนนั้น 14 คน (ร้อยละ 82) เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 12 ปี (ต่ำที่สุด 8 เดือน มากที่สุด 71 ปี) เป็นสัญชาติไทย 16 ราย เเละสัญชาตินอร์เวย์ที่เดินทางกลับจากไทย 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบช่วงฤดูร้อน ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มีประวัติสำลักน้ำที่ไม่สะอาดจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น สระน้ำ บ่อน้ำ แต่ไม่ติดต่อจากการดื่มน้ำ และไม่ติดต่อจากคนสู่คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"อะมีบา" ไม่ติดต่อจากคนสู่คน หลังชาว "เกาหลีใต้" กลับจากไทยเสียชีวิต

ฟรี! ตรวจเช็กสภาพรถยนต์-รถจักรยานยนต์ เดินทางปลอดภัยช่วงปีใหม่

“โรคโควิด-19” ปี 2566 อ่อนแรง สู่ยุคตามฤดูกาลแบบไข้หวัดใหญ่

"คุณภาพอากาศ" ค่าฝุ่น PM 2.5 กรุงเทพวันนี้ (28 ธ.ค.65) พบเกินมาตรฐาน 13 จุด

 

น้ำไม่สะอาด มีเชื้อโรคหลากชนิด ก่อให้ติดเชื้อได้ง่าย

รศ.พญ.ดาราวรรณ วนะชิวนาวิน ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า น้ำที่ไม่สะอาดจะพบเชื้อโรคได้หลายชนิดทั้งแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส รวมทั้งปรสิตต่าง ๆ อย่างเช่น ไข่พยาธิ อะมีบา เป็นต้น

โดยเชื้อโรคและการก่อโรคที่ปนติดมากับน้ำ ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคและการเข้าสู่ร่างกาย เช่น เชื้อโรคที่อาศัยอยู่ที่ลำไส้ติดต่อสู่คนโดยการกิน จะก่อโรคอุจจาระร่วง เชื้อโรคบางชนิดทำให้ท้องเสียถ่ายเป็นมูกปนเลือดได้ เช่น เชื้อไข้ไทฟอยด์ เชื้อบิด

นอกจากการดื่มกินแล้ว น้ำอาจเข้าตา ทำให้เกิดกระจกตาอักเสบ ซึ่งอาจจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส เชื้ออะมีบา ที่มากับน้ำ เชื้อโรคอาจเข้าทางแผลได้ ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ เป็นหนอง เป็นแผลเรื้อรัง

นอกจากนี้ เชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายโดยการสำลักน้ำทางจมูก เช่น เชื้ออะมีบาที่อาศัยเป็นอิสระในน้ำ ได้แก่ Naegleria (นีเกลอเรีย) ที่ทำให้เกิดโรคเยื่อบุสมองอักเสบ แต่ผู้ป่วยจากเชื้ออะมีบานี้พบได้ไม่บ่อย

โรคที่ติดต่อผ่านทางน้ำดื่มน้ำใช้ในแต่ละปีทําให้เกิดการเจ็บป่วยจํานวนมาก นั่นเพราะเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อปรสิต โดยเฉพาะโปรโตซัวซึ่งเป็นปรสิตเซลล์เดียว โปรโตซัวหลายชนิดสามารถติดต่อผ่านทางน้ำได้ 

ทั้งนี้ ปรสิตระยะติดต่อจะมีความทนทานได้ดีต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม กระบวนการทําน้ำประปานั้นสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสด้วยคลอรีน สําหรับเชื้อปรสิต   ต้องใช้คลอรีนที่มีความเข้มข้นสูงกว่ามาก เชื้อปรสิตเหล่านี้ตายได้ง่ายที่อุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส ดังนั้นวิธีการต้มน้ำให้เดือดสําหรับดื่มภายในบ้าน จึงเป็นวิธีที่ง่ายและราคาถูก

 

ทำความรู้จัก ปรสิตที่ติดต่อผ่านทางน้ำ

โปรโตซัวที่ติดต่อผ่านทางน้ำที่พบบ่อย ได้แก่

1. Entamoeba histolytica หรือเชื้อบิดชนิดมีตัว

เชื้อบิดชนิดมีตัวนี้อาศัยในลำไส้ใหญ่ (เชื้อบิดชนิดไม่มีตัวเป็นเชื้อแบคทีเรีย) ทำให้เกิด “โรคบิดอะมีบาในลำไส้” หรือ “โรคบิดมีตัว” ในระยะเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ปวดเบ่ง ถ่ายอุจจาระเหลวมีมูกปนเลือดและกลิ่นเหม็นเน่า บางครั้งเชื้อบิดอาจทำให้เกิดโรคบิดอะมีบานอกลำไส้ที่อวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ปอด สมอง เป็นต้น เชื้อบิดอาจทำลายผนังลำไส้ทำให้เกิดการอักเสบในช่องท้องได้ด้วย

การติดต่อ โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีซีสต์ระยะติดต่อปนเปื้อน ซึ่งเชื้อระยะซีสต์ นี้ไม่ถูกทำลายด้วยกระบวนการทำน้ำประปา

การป้องกัน  การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด  ดื่มน้ำที่กรองแล้วหรือต้มให้เดือดจะช่วย ป้องกันการติดเชื้อได ถ่ายอุจจาระให้ถูกสุขลักษณะ กําจัดอุจจาระตามหลักสุขาภิบาล  และการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี

2. Giardia lamblia

 ปรสิตชนิดนี้อาศัยที่ลําไส้เล็ก ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้  อาเจียน และในระยะเรื้อรังผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสียเรื้อรัง  ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีไขมันปนมูก

การติดต่อ โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีซีสต์ระยะติดต่อปนเปื้อน เชื้อระยะซีสต์ไม่ถูกทำลายด้วยกระบวนการการทำน้ำประปา

การป้องกัน การรับประทาน อาหารที่ปรุงสุกและสะอาด ดื่มน้ำที่กรองแล้วหรือต้มให้เดือดจะช่วยป้องกันการติดเชื้อไดรวมทั้งถ่ายอุจจาระให้ถูกสุขลักษณะ กําจัดอุจจาระตามหลักสุขาภิบาล

3. Cryptosporidium parvum

ปรสิตชนิดนี้เป็นโปรโตซัวอาศัยที่ลำไส้ เชื้อระยะ oocyst มีรูปร่างกลม ผนังหนา ภายในประกอบด้วยเซลล์รูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยว จำนวน 4 เซลล์

การติดต่อ เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่มีเชื้อระยะ oocyst ปนเปื้อน ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ถ่ายเป็นน้ำ การติดเชื้อในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติอาการท้องเสียอาจหายได้เอง ส่วนการติดเชื้อในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงเรื้อรังร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดอย่างมาก

การป้องกัน ควรดื่มน้ำที่ต้มเดือดหรือผ่านการกรองแล้ว และรับประทานอาหารที่สุกและสะอาด

4. Naegleria fowleri

ปรสิตชนิดนี้เป็นโปรโตซัวที่ดำรงชีวิตเป็นอิสระอาศัยตามดิน โคลนเลน และแหล่งน้ำ ยกเว้นน้ำกร่อยและน้ำทะเล ปรสิตเข้าสู่ร่างกายโดยการสำลักน้ำเข้าทางจมูก ก่อให้เกิดโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีสุขภาพแข็งแรง และมักมีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น การว่ายน้ำ เล่นกีฬาทางน้ำ เป็นต้น ผู้ป่วยมีประวัติการสำลักน้ำทางจมูกก่อนเกิดอาการ 3-7 วัน คัดจมูก เจ็บคอ การได้กลิ่นเสียไป ปวดศีรษะอย่างรุนแรง มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง หลังแข็ง สับสน ชัก ไม่รู้สึกตัว และมักเสียชีวิตภายใน 1 สัปดาห์

การติดต่อ ปรสิตเข้าสู่ร่างกายโดยการสำลักน้ำทางจมูก

การป้องกัน โดยหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำหรือเล่นน้ำในแหล่งน้ำขัง หรือน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมและระวังการสำลักน้ำ

5. Acanthamoeba spp

ปรสิตชนิดนี้เป็นโปรโตซัวที่ดำรงชีวิตเป็นอิสระในธรรมชาติตามแหล่งน้ำ ดิน โคลนเลน เชื้อเคลื่อนที่ช้าๆ ด้วยเท้าเทียมที่มีลักษณะคล้ายหนาม ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมจะเปลี่ยนรูปร่างเป็นระยะซีสต์ที่มีรูปร่างค่อนข้างกลมและผนังหนา

การติดเชื้อที่ตามักจะพบในผู้ที่ใช้คอนแทกเลนส์ทําให้เกิดแผลที่กระจกตา ตาแดง เคืองตา ตามัว กลัวแสง และปวดตาอย่างมาก การติดเชื้อที่สมอง ทําให้เกิดโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายอาการของโรคฝีหรือเนื้องอกในสมอง เช่น อาการแขนหรือขาอ่อนแรง เป็นต้น

การติดต่อ ปรสิตเข้าสู่ร่างกายทางแผลที่กระจกตาหรือที่ผิวหนัง และการหายใจ เชื้อที่เข้าสู่กระแสเลือดจะทำให้เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะอื่นๆ เช่น สมอง กระดูก เป็นต้น

การป้องกัน ผู้ใช้คอนแทกเลนส์ควรทำความสะอาดเลนส์ด้วยน้ำยาที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้ว และไม่ควรใส่คอนแทกเลนส์ในขณะว่ายน้ำหรือใส่ขณะนอนหลับ

อย่างไรก็ตาม ปรสิตที่พบในแหล่งน้ำ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ โปรโตซัวที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร และโปรโตซัวที่อาศัยเป็นอิสระในธรรมชาติแต่สามารถก่อโรคในคนได้

สังเกตอาการป้องกันการติดเชื้อ

สำหรับโรคสมองอักเสบมักมีอาการ 1-12 วันหลังได้รับเชื้อ (เฉลี่ยประมาณ 5 วัน)  ที่เข้าทางจมูกและเชื้อเข้าสมองผ่านเส้นประสาทรับกลิ่น (olfactory nerve)

โดยอาการที่พบ ได้แก่ ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน คอแข็ง ความรู้สึกตัวลดลง ชักเกร็ง อาการจะค่อยๆ แย่ลงและเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ในส่วนผู้ที่ได้รับเชื้ออะมีบาโดยการสำลักน้ำเข้าสู่ทางจมูกจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะคล้ายเป็นหวัดและการได้รับกลิ่นจะเสียไป อาการปวดศีรษะนี้จะรุนแรงขึ้น และมีอาการคอแข็ง หลังแข็ง ซึ่งเป็นอาการของสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ 

แนะการป้องกันติดเชื้ออะมีบา และปรสิต

วิธีการป้องกันติดเชื้ออะมีบาจากการสำลักน้ำ ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำหรือดำน้ำในเเหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่สะอาด 
  • ระมัดระวังไม่ให้สำลักน้ำเข้าโพรงจมูก ถ้าสำลักให้รีบสั่งน้ำออกแรงๆทางจมูก 
  • รีบล้างจมูกด้วยน้ำต้มสุกที่สะอาดหรือน้ำเกลือ 
  • ผู้ที่มีประวัติเสี่ยงร่วมกับมีอาการป่วยน่าสงสัย ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการสัมผัสน้ำไม่สะอาด การสำลักน้ำ หรือการใช้น้ำในการล้างจมูกให้เเพทย์ทราบ เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัย
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะล้างจมูก สระว่ายน้ำควรรักษาความสะอาดตามมาตรฐานตามคำแนะนำของ กรมอนามัย โดยมีการตรวจวัด และเติมสารคลอรีน ให้มีปริมาณคลอรีนตกค้างอิสระ 1-2 มิลลิกรัมต่อลิตร

การป้องกันการติดต่อจากปรสิตที่อาศัยในลำไส้

  • ทำได้โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด
  • ดื่มน้ำที่ต้มเดือดหรือผ่านการการกรอง

การป้องกันการติดต่อจากปรสิตที่ดำรงชีวิตเป็นอิสระในธรรมชาติ

  • สามารถทำได้โดยการระวังการสำลักน้ำทางจมูก
  • ผู้ที่มีแผลที่ผิวหนังไม่ควรเดินลุยในแหล่งน้ำขัง
  • ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ควรใช้น้ำยาที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว  ในการทําความสะอาดคอนแทคเลนส์

ที่มา:คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล