รวมเบอร์! "เจ็บป่วย อุบัติเหตุฉุกเฉิน" ต้องsave ปีใหม่ใช้สิทธิได้ทันที
ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง หลายๆคนก็คงต้องออกเดินทางไกล ไปต่างจังหวัด ไม่ว่าจะกลับบ้านไปหาญาติพี่น้อง หรือไปเที่ยวพักผ่อน ซึ่งบางทีอาจเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดกับคุณและครอบครัว
วันหยุดสำคัญที่คนส่วนใหญ่จะใช้เวลาสังสรรค์ อยู่กับครอบครัว แต่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขนอกจากจะยังคงทำงานช่วยเหลือดูแลประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ยังต้องรับปริมาณงานเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงปกติ
โดยเทศกาลปีใหม่ 2563 เพียง 7 วัน มีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลมากกว่า 3 หมื่นราย เฉลี่ยวันละเกือบ 4,300 ราย คาดว่าปีใหม่ปี 2566 ซึ่งเป็นปีแรกที่หลายๆ คนได้กลับไปเฉลิมฉลองกับครอบครัว หลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุก็เพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้มีเวลารักษาผู้ป่วยจากโรคอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ ขอให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุด้วยการ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
Save เบอร์ฉุกเฉิน พกไว้ อุ่นใจช่วงปีใหม่
หากใครที่ เกิดเหตุฉุกเฉิน ขอให้Save เบอร์สายด่วนเหล่านี้เอาไว้ สามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ทันที เริ่มด้วย
1. แจ้งเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร 1669
เมื่อคุณหรือญาติเกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่ไม่รู้ว่าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดอยู่ไหน โทรเบอร์นี้เพื่อแจ้งอาการเจ็บป่วยและพิกัดที่อยู่ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปช่วยเหลืออาการเบื้องต้นและนำไปส่งที่โรงพยาบาล
2. ติดต่อตำรวจทางหลวง โทร 1193
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่คุณต้องออกเดินทางไปจังหวัดต่าง ๆ หากกำลังขับรถบนทางหลวง และเกิดอุบัติเหตุหรือต้องการขอความช่วยเหลือ โทรติดต่อตำรวจทางหลวงที่เบอร์นี้ได้เลยครับ
3. แจ้งเหตุฉุกเฉินกลาง โทร 911
เบอร์ฉุกเฉินนี้เป็นเบอร์โทรศัพท์ใหม่ที่สำคัญอีกหนึ่งเบอร์ที่ควรมีติดโทรศัพท์ไว้ เพราะสามารถใช้โทรแจ้งเหตุฉุกเฉินกลาง เพื่อประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่โทรแจ้งเหตุ
4. สอบถามข้อมูลการจราจร โทร 1197
ก่อนออกเดินในช่วงปีใหม่ สำหรับคนที่ไม่รู้จักเส้นทาง หรืออยากจะรู้เกี่ยวกับการจราจรว่าเป็นอย่างไร ถนนเส้นไหนรถติดบ้าง เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงเส้นทางที่รถติด สามารถโทรไปสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการจราจรที่เบอร์นี้ได้เลยครับ
5. ติดต่อกรมทางหลวงชนบท โทร 1146
เมื่อคุณต้องเดินทางไปต่างจังหวัด ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทางหลวงชนบท หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือต้องการความช่วยเหลือให้โทรเบอร์นี้เพื่อติดต่อกรมทางหลวงชนบท ซึ่งคุณจะได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วทันที
แจ้งสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน บัตรทองรักษาได้ที่สถานพยาบาล
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 นี้ที่มีวันหยุดยาวระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ถึง 2 มกราคม 2566 ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางต่างจังหวัดเพื่อกลับบ้านหรือเยี่ยมเยียนครอบครัว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ สปสช. ดูแลพร้อมแจ้งผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิบัตรทอง 30 บาท หากเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ในการเข้ารับบริการแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
1.กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติ หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุดโดยเร็ว เป็นไปตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ของรัฐบาล โดยให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายค่ารักษาจาก สปสช. ตามอัตราที่กำหนด กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร. สายด่วน 1669 ได้ทั่วประเทศ
2.กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่ฉุกเฉินระดับวิกฤติ หรือกรณีผู้มีสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปต่างถิ่นแล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เช่น มีความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก เกิดภาวะท้องเสียรุนแรง เป็นต้น กรณีนี้ให้เป็นไปตามข้อบังคับ สปสช. ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขกรณีที่มีเหตุสมควร
กรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ระบุว่าผู้ป่วยสิทธิบัตรทองหากมีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนหน่วยบริการประจำและสถานพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำประชาชนผู้มีสิทธิให้เข้ารับบริการสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ใกล้ที่สุดก่อน ไม่มุ่งเจาะจงเข้าสถานพยาบาลเอกชนเท่านั้น เนื่องจากการเบิกจ่ายค่ารักษาจะเป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้
นอกจากนั้นตามนโยบายยกระดับบัตรทองสู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่ ประชุม ผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ยังสามารถเข้ารักษาได้ที่หน่วยบริการปฐมภูมิทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็น รพ.สต., ศูนย์สุขภาพชุมชน, โรงพยาบาลประจำอำเภอ, หน่วยปฐมภูมิของโรงพยาบาลประจำจังหวัด รวมถึงคลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้เพื่อความสะดวก นอกจากเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนที่เป็นหลักฐานสำคัญแล้ว ควรศึกษาข้อมูลหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างเดินทางและจุดหมายปลายทาง
เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการเข้ารับการรักษาพยาบาลยังหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วและเพื่อความไม่ประมาท ส่วนประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหอบหืด เป็นต้น ควรเตรียมพร้อมยารักษาโรคเพื่อให้เพียงพอสำหรับการเดินทาง
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ส่วนประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค ดังนี้
- ผู้ป่วยกลุ่มไม่มีอาการ ขอให้พิจารณาดูแลรักษาตามความเหมาะสม โดยให้ปฏิบัติตาม DMH อย่างเคร่งครัด 5 วัน หากจำเป็นต้องออกจากบ้านหรือไปทำงานให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและระมัดระวังการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
- กลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ได้แก่ มีไข้ อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป โดยวัดอย่างน้อง 2 ครั้ง ห่างกัน 4 ชั่วโมงในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง มีค่าออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 94% มีภาวะแทรกซ้อน หรือการกำเริบของโรคประจำตัว มีภาวะอื่นๆ ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามดุลพินิจของแพทย์
“ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ในกรณีที่เจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 สามารถใช้สิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยผู้ป่วยกลุ่มไม่มีอาการหรือเจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถรับบริการรับยาที่ร้านยา, บริการโควิด-19 ด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และบริการปฐมภูมิทุกที่ได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงขอให้เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลตามสิทธิ โดย สปสช. ยังคงสิทธิประโยชน์บริการเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดอย่างต่อเนื่อง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
4 ช่องทางดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง
ทั้งนี้ บริการเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดสิทธิบัตรทอง มี 4 ช่องทาง ดังนี้
1.สถานพยาบาลตามสิทธิ หรือหน่วยบริการประจำ ตรวจสอบสิทธิและรายชื่อ ได้ที่
2.หน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข (พื้นที่ กทม.), คลินิกชุมชนอบอุ่น, สถานีอนามัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.), หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน เป็นต้น ดูรายชื่อได้ที่เว็บไซต์ สปสช. เลือกประเภทการขึ้นทะเบียนที่ระบุว่า บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป หรือ หน่วยบริการประจำ
3.รับยาที่ร้านยา เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว โดยให้ญาตินำบัตรประชาชนของผู้ป่วยมารับยาที่ร้านยา เภสัชกรจะวิดิโอคอลสอบถามอาการและแนะนำการใช้ยากับผู้ป่วย ดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมทั่วประเทศ ได้ที่
4.ดูแลด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ผ่าน 4 แอปพลิเคชันสุขภาพด้วยบริการ “COVID-19 Telemedicine” ให้บริการเฉพาะพื้นที่ กทม. โดยเลือกแอปใดแอปหนึ่ง ดังนี้
- แอป Totale Telemed โดย บริษัท โททอลเล่เทเลเมด (คลิก) รับผู้ป่วยโควิด-19 ทุกประเภท เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @totale หรือสายด่วน 0620462944, 0618019577
- แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) ให้บริการโดย บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด (คลิก) รับผู้ป่วยโควิด-19 เฉพาะกลุ่มสีเขียว (ไม่รับกลุ่ม 608) สอบถามเพิ่มเติม Line ID: @mordeeapp
- แอปพลิเคชัน Clicknic ให้บริการโดย บริษัท คลิกนิก เฮลท์ จำกัด (คลิก) รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว (ไม่รับกลุ่ม 608) สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @clicknic
- แอปพลิเคชัน Good Doctor Technology ให้บริการโดย บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) (คลิก) รับเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว (ไม่รับกลุ่ม 608) สอบถามเพิ่มเติม Line ID: @gdtt