สธ. Kick off “2566 ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย” ของขวัญปีใหม่ผู้สูงอายุ
กระทรวงสาธารณสุข Kick off “2566 ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย”เป็นของขวัญปีใหม่สำหรับผู้สูงอายุ คัดกรองสุขภาพกายและใจเชิงรุกในชุมชน เปิดบริการคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลทั่วประเทศ รองรับสังคมผู้สูงอายุและเป็นพลังของสังคม
วันนี้ (31 ธันวาคม 2565)นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศของขวัญปีใหม่กระทรวงสาธารณสุข “2566 ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย” เพื่อการสนับสนุนการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบและทั่วถึง อันได้แก่ การคัดกรองสุขภาพกายและใจเชิงรุกในชุมชน เปิดบริการคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลทั่วประเทศ และสนับสนุนกายอุปกรณ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เช่น แว่นตา ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ฟันเทียมและรากฟันเทียม เป็นต้น เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองขั้นพื้นฐานได้ทันรองรับสังคมผู้สูงอายุและเป็นพลังของสังคมต่อไป
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายการดูแลผู้สูงวัยให้ครอบคลุมทั่วถึงโดยมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุให้มีสุขภาพกาย ใจที่ดีด้วยชาวอสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ร่วมดำเนินการคัดกรองเบื้องต้นด้านสุขภาพด้านกายและใจแก่ผู้สูงอายุให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านคน และกระตุ้นการเข้าถึงการให้บริการที่คลินิกผู้สูงอายุทั่วประเทศ
ทั้งนี้ยังมอบหมายให้ทุกเขตสุขภาพร่วมกับหน่วยงานส่วนกลางมอบของขวัญพัฒนาคุณภาพชีวิตได้แก่
1.แว่นตาสำหรับผู้สูงอายุให้ได้จำนวน 5 แสนรายเพื่อเพิ่มศักยภาพการมองหรืออ่านได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
2.แผ่นผ้าอ้อมผู้ใหญ่จำนวน 5 ล้านชิ้น
3.การบริการฟันเทียมและรากฟันเทียมจำนวน 36,000 รายทั่วประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ยกระดับ "เนอร์สซิ่งโฮม" ดูแลตั้งแต่ ต้นน้ำ-ปลายน้ำ
เผยมุมมอง คนขับ ‘แกร็บ’ กับโอกาสที่เป็น ‘ผู้ให้’ และ ‘ผู้รับ’
มอบของขวัญปีใหม่ดูแลผู้สูงอายุ
โดย สปสช.จะสนับสนุนให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวให้ทะยอยบรรจุในระบบประกันฯและกองทุนสุขภาพต่างๆต่อไป จักเห็นได้ว่าความตั้งใจในการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุและปรับแผนงานให้มีการบูรณาการงานแล้วนำไปใช้ประโยชน์เป็นรูปธรรม ทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน ดูแลและรักษาเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่ขยายตัวอย่างมาก ซึ่งจะช่วยสร้างพลังกาย พลังใจ ให้ผู้สูงอายุจนเป็นพลังของสังคมที่เข้มแข็งได้
ยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าญาติและผู้ใกล้ชิดช่วยกันและกันใส่ใจสื่อสารสร้างเสริมให้ ผู้สูงอายุมีมุมมองที่เปลี่ยนความเหงาและความโดดเดี่ยวให้เป็นความสุขสงบ เปลี่ยนความรู้สึกที่ตนเองเป็นภาระต้องพึ่งพิงให้เกิดเป็นความตระหนักถึงคุณค่าของตนเองและเป็นที่เคารพ และรู้สึกถึงการเป็นที่รักของครอบครัว ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุรับฟังและตัดสินใจในการดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม เมื่อ“พลังกาย” “พลังใจ” “พลังครอบครัว”และ“พลังชุมชน”แข็งแกร่งจะทำให้ผ้สูงอายุเป็น“พลังสังคม” ที่ยั่งยืน
นายอนุทิน กล่าวว่า นอกจากของขวัญปีใหม่ผู้สูงอายุปีนี้ที่ได้รับจากนโยบายการดูแลผู้สูงอายุของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ของขวัญชิ้นสำคัญที่ควรเติมเต็ม ได้แก่ พลังของครอบครัว ญาติและผู้ใกล้ชิดคือสิ่งสำคัญในการประคับประคองเสริมสร้างพลังใจและพลังกายแก่ผู้สูงอายุ
แต่ด้วยสถานการณ์กโรคระบาดโควิด19 วิกฤติภัยธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์ สภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงทำให้แต่ละครอบครัวได้รับผลกระทบต้องปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆทำให้สมาชิกในครอบครัวรู้สึกเหนื่อยล้าในการดำเนินชีวิต
การทำงานและการทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลคนในครอบครัวได้ ขอร่วมเติมพลังใจให้ทุกครอบครัวมี“พลังครอบครัว”ด้วยการเป็นผู้รับฟังที่ดี ใส่ใจซึ่งกันและกัน ทำความเข้าใจและเรียนรู้หาแนวทางการช่วยเหลือดูแลทั้งสุขภาพกายและจิตใจทั้งของตนเองและผู้สูงอายุ
เมื่อผู้สูงอายุรู้สึกถึงความเป็นที่รัก เป็นที่เคารพ ในขณะเดียวกันก็ให้ร่วมมือแก่ญาติไม่ดื้อรั้นแล้วนั้น ผู้สูงอายุก็จะมีการพัฒนาศักยภาพสามารถในการดูแลตนเองเบื้องต้นและช่วยเหลือผู้อื่นได้ยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ “พลังชุมชน” ทั้งอสม.เจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่พร้อมเติมพลังใจให้แก่กัน
อาทิ ชมรมผุ้สูงอายุและโรงเรียนผู้สูงอายุเป็นส่วนสำคัญในการสร้างคุณค่าผู้สูงอายให้ได้รับความชื่นชมและภูมิใจในการช่วยเหลือกัน พลังครอบครัวและพลังชุมชนเหล่านี้จึงเปรียบเสมือน”พลังใจ”ในผู้สูงอายุและในขณะเดียวกันญาติและสมาชิกในครอบครัวก็จะได้รับพลังแห่งความสุขนี้เช่นกัน
สธ.มอบนโยบายแก่กรมสุขภาพจิต จัดเตรียมแนวทางหลักการปรับตัวของผู้สูงอายุรองรับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ช่วยจัดหาผู้ดูแลแทนลูกหลานหากมีความจำเป็นและเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขให้สะดวกและรวดเร็ว เพื่อให้ผู้สูงวัยมีอายุยืนยาวต่อไป จึงขอเน้นย้ำว่าผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระแต่เป็นพลังสังคมที่สำคัญ เป็นผู้ที่พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้การใช้ชีวิต การทำงาน การแสวงหาความสุขสงบ และการเผชิญกับปัญหาต่างๆทั้งสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้พลังผู้สูงอายุเป็นพลังของสังคมที่ยิ่งใหญ่