จาก"พยาบาลวิชาชีพ"สู่"นักธุรกิจ"บริการผู้ป่วยโรคไต จนKTMSเข้าตลาดหุ้น

จาก"พยาบาลวิชาชีพ"สู่"นักธุรกิจ"บริการผู้ป่วยโรคไต จนKTMSเข้าตลาดหุ้น

จากอดีตที่เห็นผู้ป่วยโรคไตสูญเสียชีวิตจากการเข้าไม่ถึงบริการรักษา เป็นจุดเริ่มต้น “บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม” เพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วย จนปัจจุบัน “บริษัท เคที เมดิคอล เซอร์วิส(KTMS)” เข้าตลาดหลักทรัพย์ ต่อยอดธุรกิจ ขยายโอกาส นำบริการไปใกล้ผู้ป่วยโรคไต 

   กาญจนา พงศ์พัฒนะเดชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคที เมดิคอล เซอร์วิสจำกัด (มหาชน) หรือ KTMS การเป็นพยาบาลไตเทียมผู้เชี่ยวชาญ 15 ปีก่อน อดีตเห็นถึงปัญหาที่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระดับ 4-5 ที่ต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเผชิญ คือ ความยากลำบากในการเข้าถึงบริการ โดยผู้ป่วยต้องเข้ารับการฟอกเลือด 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และบางรายเสียชีวิตไปต่อหน้า ทำให้อยากที่จะช่วยเหลือคนไข้

           ในปี 2558 จึงตัดสินใจเข้ามาดำเนินธุรกิจ “บริการฟอกเลือกด้วยเครื่องไตเทียม”สำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จัดตั้ง “คลินิกไตเทียมที่พัฒนาการ” เป็นแห่งแรก โดยมุ่งหวังการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้รับบริการักษา สมดุลกับที่บริษัทก็อยู่ได้ กอรปกับก่อนหน้ามีบริษัทลูก บริษัท เออร์วิง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้บริการออกแบบติดตั้งระบบผลิตน้ำบริสุทธิ์สำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและการบำรุงรักษา, ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำยาไตเทียมอยู่แล้วด้วย ทำให้เกิดการให้บริการที่ครบวงจร 

เติบโตเฉลี่ย 30 %ทุกปี

         KTMS ปัจจุบันมีเครื่องฟอกเลือดด้วยไตเทียม 254 เครื่อง  มีบริการหน่วยไตเทียม 23 สาขา ใน 2 รูปแบบ คือ 1.คลินิกไตเทียมที่เป็นStand Alone 3 สาขา อยู่ที่ถนนพัฒนาการ กทม. จ.เชียงใหม่ และจ.ตาก โดยให้บริการผู้ป่วยตามสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐด้วยทั้งบัตรทอง 30 บาท ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ อย่างเช่น สิทธิบัตรทอง 30 บาทและประกันสังคม สนับสนุน 1,500 บาทต่อครั้ง โดยบริษัทไม่ได้เก็บส่วนต่างจากผู้ป่วยเพิ่ม

         และ2.หน่วยไตเทียมในรพ.ของรัฐ 20 สาขา  ผ่านการประมูลงานผู้ป่วยนอกจากรพ. เนื่องจากบุคลากรของรพ.รัฐมีจำนวนค่อนข้างจำกัด  บริษัทจึงเข้าไปช่วยดำเนินการ ทำให้รพ.บริการได้เพิ่มขึ้นและจำนวนผู้ป่วยที่เข้าถึงบริการมากขึ้นด้วย โดยบริษัทจะเข้าไปบริหารจัดการให้รพ.แห่งนั้นทั้งหมดตามมาตรฐาน ตั้งแต่อุปกรณ์เครื่องมือ บุคลากร และจัดบริการฟอกเลือด รวมถึง การดำเนินการเรื่องเบิกค่าใช้จ่ายจากกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐด้วย

       ส่วนการจัดหาบุคลากรของบริษัท โดยเฉพาะพยาบาลผู้เชี่ยวชาญการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งตามมาตรฐานของคลินิกไตเทียม ต้องมีพยาบาลอย่างน้อย 1 คนดูแลผู้ป่วย 4 คนนั้น ด้วยความที่ “กาญจนา” เป็นพยาบาลเฉพาะทางด้านนี้มาก่อน จึงมีเครือข่ายพยาบาลและประสานสถานศึกษาต่างๆ ในการเข้าจองตัวพยาบาลตั้งแต่ตอนไปเรียนเฉพาะทาง เพื่อให้เข้ามาร่วมทำงาน และจัดหาผู้ช่วยพยาบาลมาคอยช่วยเหลือ

  “6 ปีที่ดำเนินธุรกิจนี้   KTMS มีรายได้จากบริการฟอกเลือดด้วยไตเทียม คิดเป็น 70 %ของรายได้รวม ที่เหลือเป็นรายได้จากส่วนอื่น อาทิ  ผลิตและขายน้ำยาไตเทียม และการออกแบบ ติดตั้ง ระบบน้ำบริสุทธิ์สำหรับฟอกไต เป็นต้น  และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 30 %ทุกๆปี”กาญจนากล่าว 
เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ

        ถึงวันที่มองว่า “KTMS”ควรเข้าตลาดหลักทรัพย์  เนื่องจากธุรกิจมีโอกาสเติบโตพร้อมกับการช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายที่ต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมได้เข้าถึงบริการที่สะดวกมากขึ้น จากแผนขยายธุรกิจของบริษัทหลังจากมีการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์

จาก\"พยาบาลวิชาชีพ\"สู่\"นักธุรกิจ\"บริการผู้ป่วยโรคไต จนKTMSเข้าตลาดหุ้น

      ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคไตราว 8 ล้านคน ทิศทางเพิ่มขึ้น 10-15 % ต่อปี  และผู้ป่วยที่ต้องบำบัดทดแทนไต ใช้วิธีการฟอกเลือดมากที่สุดมากกว่า 70 %ของผู้ป่วยไตที่ต้องบำบัดทดแทนไต อีกทั้ง ขณะที่หน่วยไตเทียมของรพ.รัฐยังมีไม่เพียงพอ ทั่วประเทศมีประมาณ 1,000 หน่วยเท่านั้น  

      “การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มองเรื่องมาตรฐานของธุรกิจ ทำให้บริษัทมีมูลค่า และการที่บริษัทจะเติบโตต้องมีเงินทุนเข้ามาสนับสนุนเป็นเงินทุนหมุนเวียน”กาญจนากล่าว 
 แผนธุรกิจปี 2566
       ทิศทางแผนขยายธุรกิจในปี 2566 หลังจากมีการเข้าตลาดหลักทรัพย์ มีเงินทุนหมุนเวียนและขยายงาน  บริษัทตั้งเป้าเปิดหน่วยไตเทียมเพิ่มอีก 14 แห่งทั่วประเทศ  เป็นคลินิกไตเทียม 6 แห่ง และหน่วยไตเทียมในรพ. 8 แห่ง  จำนวนเครื่องฟอกเลือดเพิ่ม 123 เครื่อง

      สร้างโรงงานผลิตน้ำยาล้างไตเทียมเพิ่มอีก 1 แห่ง จากเดิมมีที่กรุงเทพฯ กำลังผลิต 9 แสน แกลลอนต่อปีให้บริการรองรับหน่วยไตเทียมในภาคกลางและภาคใต้ ที่ใหม่จะตั้งในภาคตะวันออกฉียงเหนือ กำลังผลิต 1.5 ล้าน แกลลอนต่อปี เพื่อสนับสนุนหน่วยไตเทียมทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ  
        นอกจากนี้ มีแผนก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมที่จะผลิตบุคลากรเองภายในปี 2566 เพื่อสนับสนุนหน่วยไตเทียมของบริษัท โดยใช้คลินิกไตเทียมของบริษัทแห่งแรกที่พัฒนาการเป็นสถานที่ในการฝึกอบรม

         ตามแผนธุรกิจในปี 2566 จะทำให้บริษัทมีการขยายโตขึ้นเรื่อยๆ และสามารถให้บริการครอบคลุมครบวงจรการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในประเทศไทย และพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานธุรกิจนี้ทัดเทียมต่างประเทศ
       และแม้ปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตจะเข้าถึงบริการและมีคุณภาพมากขึ้น แต่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องบำบัดทดแทนไตไม่ได้อยู่เฉพาะกทม. แต่อยู่ในต่างจังหวัดจำนวนมาก บางพื้นที่จึงยังมีอุปสรรคเรื่องการเดินทางเข้ามารับบริการที่ไม่สะดวก บางคน 2-3 ชั่วโมงมีค่าใช้จ่ายเดินทาง และต้องมาฟอกเลือด 2-3 วันต่อสัปดาห์ตลอดชีวิต

        “เป้าหมายธุรกิจที่สำคัญของKTMS จึงอยากนำบริการที่มีคุณภาพเข้าไปใกล้ผู้ป่วยให้มากที่สุด โดยจุดไหนที่มีจำนวนผู้ป่วยมาก ก็จะขยายหน่วยไตเทียมเข้าไปในพื้นที่นั้น โอกาสคนไข้เข้าถึงบริการก็จะมากขึ้น”กาญจนากล่าว 

   สถานการณ์ผู้ป่วยโรคไต

         กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระบุว่า รายงานขององค์การอนามัยโลกหรือWHO โรคไตเรื้อรังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 10 ของโลก มีผู้เสียชีวิตถึงปีละ 1.4 ล้านคน สำหรับประเทศไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ประมาณการว่ามีผู้ป่วยโรคไตระยะที่ 1-5 ราว 8 ล้านคนหรือ 17.5% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป และมีผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตปีละประมาณ 20,000 คน 

       สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคไตเรื้อรัง 80% เกิดจากโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น การบริโภคอาหารที่มีเกลือและโซเดียมสูง การรับประทานยาไม่เหมาะสม เช่น การใช้ยาแก้ปวดไม่ถูกต้องติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

      และในประเทศไทยมีผู้ป่วยรวมถึงกลุ่มเสี่ยงมากกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศ เนื่องจากคนไทยนิยมบริโภคเค็มเกินกว่ากำหนด 2 - 3 เท่า หรือประมาณ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน

      เมื่อโรคไตเรื้อรังเข้าสู่ระดับ4-5 ที่เป็นระยะท้าย การรักษาด้วยยาจะไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต ซึ่งวิธีการบำบัดทดแทนไตมีอยู่ 3 วิธี คือ
1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ผู้ป่วยต้องฟอกเลือด 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ที่หน่วยบริการตลอดชีวิต  
2. การล้างไตทางช่องท้อง ผู้ป่วยต้องทำเองที่บ้าน โดยใช้เยื่อบุช่องท้องของผู้ป่วยเป็นการแลกเปลี่ยนของเสีย
3. การปลูกถ่ายไต ต้องหาไตมาเปลี่ยน

       ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 63,694 ราย  แยกเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง จำนวน 32,892 ราย ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 24,256ราย และผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่รับเฉพาะยา EPO จำนวน 6,546 ราย

จาก\"พยาบาลวิชาชีพ\"สู่\"นักธุรกิจ\"บริการผู้ป่วยโรคไต จนKTMSเข้าตลาดหุ้น
มาตรฐานหน่วยไตเทียม(บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม)
       เกณฑ์การตรวจรับรองมาตรฐานการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม พ.ศ.2557 จัดทำโดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  ระบุ มาตรฐานหน่วยไตเทียมว่า

  • แพทย์หัวหน้าหน่วยไตเทียม ต้องเป็นอายุรแพทย์โรคไต-กุมารแพทย์โรคไต หรือเป็นอายุรแพทย์ทั่วไป-กุมารแพทย์ทั่วไป ที่จบการอบรมด้านไตเทียมและได้รับประกาศนียบัตรับรองจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โดยจะต้องมีอายุรแพทย์โรคไต-กุมารแพทย์โรคไตเป็นที่ปรึกษา
  •  พยาบาลหัวหน้าหน่วยไตเทียม ต้องได้รับประกาศนียบัตรพยาบาลผู้เชี่ยวชาญการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและสภาการพยาบาล
  •  กรณีที่สถานพยาบาลไม่มีบุคลากรข้างต้น จะต้องมีพยาบาลที่จบการอบรมหลักสูตรฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จากสถาบันที่ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯและสภาการพยาบาลรับรอง
  • ต้องมีที่ตั้งหน่วยที่แยกออกจากหอผู้ป่วยอื่นอย่างชัดเจน
  • องค์ประกอบเรื่องบุคลากร  แพทย์ต้องปฏิบัติงานในช่วงเวลาที่ให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในสถานพยาบาลที่ห้องไตเทียมตั้งอยู่ 
  • ต้องมีพยาบาลอย่างน้อย 1 คน ดูแลผู้ป่วยแบบเต็มเวลา ไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ 70 % ของรอบที่เปิดบริการ  
  • การฟอกเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีอาการคงที่ ต้องมีอัตราส่วนของพยาบาลผ็เชี่ยวชาญต่อผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 1 ต่อ 4 และมีพยาบาลหรือผู้ช่วยปฏิบัติงานร่วมด้วยในสัดส่วนเดียวกัน